ศาลฎีกาตัดสินยึดคืนหาดลายัน-เลพัง เป็นที่สาธารณะประชาชนใช้ร่วมกัน

         คดีบุกรุกหาดลายันยาวตลอดถึงหาดเลพัง พื้นที่ 178 ไร่ยาวกว่า 3 กิโลเมตร ถ้าออกโฉนดได้จะมีมูลค่า กว่าหมื่นล้านบาท ศาลฎีกาพิพากษาแล้ว ให้ภาครัฐชนะคดี หลังจากถูกเอกชนทั้งบุคคล และนิติบุคล 6 ราย เป็นโจทก์ฟ้องยืดเยื้อมาแรมปี อัยการใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แปลภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.2510 ที่ดังกล่าว น้ำทะเลยังท่วมถึง อัยการสูงสุดเผย ชื่อ 2 อัยการแก้ต่างให้ภาครัฐชนะคดี ได้ที่ดินมูลค่ากว่าหมื่นล้านคืน สรุปที่ดินแปลงนี้ประชาชนได้คืนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน  และก่อนหน้านี้ ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ จึงเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ ดำเนินการ ขับไล่ผู้บุกรุกทุกราย ทวงคืนที่ดินแปลงนี้ให้ประชาชนใช้ร่วมกันต่อไป

         เมื่อเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.30 น.ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต บังบัลก์ 7 นายวริทธิ์ จิตรเพียรค้า ผู้พิพากษา  ได้อ่านคำพิพากษาฎีกา คดีระหว่าง นางอรพรรณ พลอยเพชร กับพวกโจทก์ ฟ้องกรมที่ดิน จังหวัดภูเก็ต นายอำเภอถลาง หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตส่วนแยกถลาง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 เมื่อ ปี พ.ศ.2549 โดยศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 1-5 ประกอบด้วย นางสดใส องค์ศรีตระกูล นายพิทักษ์ บุญพจนสุนทร นายสวัสดิ์ ทองไพยุทธ นางอรพรรณ พลอยเพชร ออกจากพื้นที่ชายหาดลายัน-เลพัง พร้อมบริวาร และให้ยกโจทก์ที่ 6 โดยให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเป็นมาของที่ดินบริเวณนี้เคยมีการออกเอกสารสิทธิ์ เป็น นส.3 ก. จำนวน 3 ฉบับ และในเวลาต่อมากรมที่ดินตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาเพิกถอน เมื่อ ปี พ.ศ.2527

         ต่อมาจังหวัดภูเก็ต โดยเจ้าพนักงานที่ดินสาขาถลาง ได้ขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชายหาดลายัน-เลพัง หมู่ที่ 4 และ 6 ต่อเนื่องกัน ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 178 ไร่ เป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามไว้ให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกัน ตามมติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ และ เป็นไปตาม พระราชบัญญัติที่ดิน มาตรา 20 เมื่อ ปี 2544 หลังจากนั้นมีนายทหารชั้นยศพลตรี และชั้นยศพลโทนอกราชการพยายามดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์บริเวณดังกล่าวอีกครั้ง ต่อมาผู้บริหารระดับสูงแห่งหนึ่งได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้ตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาใหม่ และ นำมาสู่การฟ้องร้องผู้ว่าฯและกรมที่ดินเป็นจำเลยที่มีการประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะอันเป็นการละเมิดเนื่องจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนแล้ว

         ศาลจังหวัดภูเก็ตได้พิพากษา ให้โจทก์ที่ 1-5 ออกจากพื้นที่ แต่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาให้ โจทก์ฟ้องที่ 6 ออกจากพื้นที่ด้วย

         พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผู้อำนวยการสำนักคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีความผิดต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ได้สั่งการให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ติดตามคำพิพากษาในวันนี้ และ เมื่อคำพิพากษาฎีกาออกมาว่า ที่ดินชายหาดและที่ดินรัฐเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความจำเป็นต้องประสานทุกฝ่ายทั้งปกครอง ทหาร ท้องถิ่น และบังคับคดี เพื่อยึดเอาที่ดินสาธารณะประโยชน์คืนให้กับแผ่นดิน ซึ่งที่ดินบริเวณนี้หากสามารถออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินได้ จะมีการซื้อขายกัน ราคาไร่ละ 70 ล้านบาท เนื้อที่รวมกันประมาณ 178 ไร่ ตกราคา กว่า 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันครอบครองโดยเอกชนบุคคล และนิติบุคคลรายใหญ่รวม 9 ราย

         “ผมและทีมงานจะนัดประชุมร่วมกันที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ในวันที่ 2 พ.ย. 2560 หามาตรการบังคับใช้กฎหมายให้สมบูรณ์ เพื่อประชาชนจะได้สามารถใช้พื้นที่บริเวณนี้ร่วมกัน”

         ต่อมา วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผู้อำนวยการสำนักคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่จากอำเภอถลาง เจ้าหน้าที่ที่ดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชิงทะเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการกับที่ดินจำนวน 178 ไร่ บริเวณชายหาดลายัน – หาดเลพัง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ดังกล่าว

         พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผู้อำนวยการสำนักคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมในครั้งนี้ตนได้รับมอบหมายจากอธิบดีให้ลงพื้นที่เพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกับที่ดินแปลงดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งศาลได้ติดสินออกมาชัดเจนแล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางดีเอสไอได้รับคดีเกี่ยวกับที่ดินในบริเวณดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ หลังจากนี้การดำเนินการก็จะต้องดำเนินการในลักษณะคดีพิเศษ

         แต่อย่างไรก็ตามหลังจากศาลตัดสินแล้วก็จะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการปิดประกาศให้ชัดเจนเพื่อบังคับคดีกับผู้ที่อยู่และใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว เพื่อให้ออกจากพื้นที่ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย หลังศาลตัดสินชัดเจนแล้วว่า ที่ดินเป็นของรัฐ เพราะฉะนั้นคนที่ยึดถือครองอยู่ก็ต้องออกจากพื้นที่ และไม่มีสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว

         อย่างไรก็ตามสำหรับที่ดินแปลงนี้ ทราบว่าก่อนหน้านี้ทางจังหวัด และอำเภอได้ออกประกาศให้ที่ดินจำนวน 178 ไร่นี้ เป็นพื้นที่สงวนไว้ ให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกัน ตามมติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ และ เป็นไปตาม พระราชบัญญัติที่ดิน มาตรา 20 เมื่อ ปี 2544 หลังการประกาศก็มีเอกชนจำนวน 9 ราย ยื่นคัดค้าน จากนั้นมีการฟ้องศาลจำนวน 6 ราย ส่วนอีก 3 รายไม่มีการดำเนินการ ซึ่งในส่วนของจุดนี้ทางดีเอสไอเข้ามารับเป็นคดีพิเศษด้วย

         ส่วนการดำเนินการต่อจากนี้ เมื่อดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ทางดีเอสไอก็จะต้องเป็นผู้ดำเนินการโดยเฉพาะในส่วนของรายที่มีการบุกรุกอยู่เดิม รวมทั้งรายที่เข้ามาใหม่แต่มีคนเดิมอยู่เบื้องหลัง ทางดีเอสไอก็จะต้องเข้ามาตรวจสอบทำประวัติ หากถึงเวลายังไม่ยอมออกจากพื้นที่ ก็จะขอศาลอนุมัติหมายจับและดำเนินคดี ซึ่งจะนำตัวไปดำเนินคดีที่กรุงเทพ ถ้าหากมีการจับกุมทางตนก็จะคัดค้านการประกันตัวทุกราย ส่วนกรณีที่มีรายใหม่เข้ามาบุกรุก ทางพื้นที่ ทั้งปกครอง  ตำรวจ สามารถดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณะได้เลย เพราะที่ดินดังกล่าวชัดเจนแล้วว่า เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

         ด้าน นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลกล่าวว่า ที่ดินจำนวน 178 ไร่ เป็นที่ดินติดชายหาดลายัน ไปจนถึงเลพัง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบันยังมีคนบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ทั้งธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และอื่นๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.บุกรุกประกอบการทางด้านการท่องเที่ยว 2.ใช้นอมินีเข้ามาแสดงการครอบครอง 3. กลุ่มบุกรุกเดิมที่มีจำนวน 9 ราย และ 6 ราย แสดงตัวคัดค้านและมีการฟ้องร้อง อบต. จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ศาลตัดสินออกมาแล้ว ว่าที่ดินทั้งหมดเป็นที่ดินสาธารณะ

         ส่วนกรณีมีการอ้างเอกสารสิทธิ นส.3 ก. ครอบครองนั้น ทางกรมที่ดินตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาและมีการ เพิกถอน เมื่อ ปี พ.ศ.2527 และต่อมาจังหวัดภูเก็ต โดยเจ้าพนักงานที่ดินสาขาถลาง ได้ขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชายหาดลายัน-เลพัง หมู่ที่ 4 และ 6 ต่อเนื่องกัน ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 178 ไร่ เป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกัน ตามมติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ และ เป็นไปตาม พระราชบัญญัติที่ดิน มาตรา 20 เมื่อ ปี 2544 หลังจากนั้นก็มีการฟ้องร้องทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยก่อนหน้านี้ ซึ่งมีการฟ้องร้องกันจนถึงศาลฎีกาที่มีการตัดสินไปแล้วเมื่อวานนี้ โดยพิพากษาให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐ หลังจากนี้ก็จะต้องมีการปักป้ายเพื่อแจ้งให้ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่

         ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ความสำเร็จของคดีหาดเลพัง 178ไร่ จ.ภูเก็ต ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ภาครัฐชนะนั้น อยู่ที่พนักงานอัยการผู้ทำคดีที่มุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างดีที่สุด

         นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า คดีนี้หน่วยงานภาครัฐ และข้าราชการที่ถูกฟ้องปล่อยให้ล่วงเลยระยะเวลายื่นคำให้การแก้คดี จนศาลมีคำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว แต่ทีมอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นคำให้การแก้คดีจนเป็นผลสำเร็จ กับทั้งยังได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ออกไปจากที่ดินที่ครอบครองอยู่ด้วย

         นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อว่า คดีนี้มีการใช้นิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยโดยมีการอ่านแปลผลภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์ได้ว่า เมื่อปี 2510 บริเวณที่พิพาทเป็นชายทะเลที่น้ำทะเลท่วมถึง การที่โจทก์อ้างว่า มีการทำประโยชน์ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับจึงเป็นไปไม่ได้

         “การทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เอาใจใส่ ใช้ความรอบคอบ และตั้งมั่นในการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินของ นายบัณฑูร ทองตัน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแรงงานภาค 8 ผู้ว่าคดี กับ นายสุรศักดิ์ รักญาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อดีตรองอัยการสูงสุด ให้ทำหน้าที่กำกับดูแล จนประสบความสำเร็จ จึงอยากให้เห็นว่าพนักงานอัยการมีความรู้ความสามารถและรักษาทรัพยากรธรรมชาติมูลค่ามหาศาล  ในปีนี้เพียงแค่คดีนี้คดีเดียวก็รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินได้หมื่นล้านแล้ว” นายโกศลวัฒน์ กล่าว