ท่าอากาศยานภูเก็ตพร้อมเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเต็มรูปแบบช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้

        เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมด้วย เรืออากาศตรีธานี ช่วงชู รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (สายสนับสนุนธุรกิจ) เรืออากาศโทสัมพันธ์ ขุทรานนท์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (สายปฏิบัติการและบำรุงรักษา) และทีมผู้บริหารท่าอากาศยานภูเก็ต นำคณะสื่อมวลชนจังหวัดภูเก็ต เยี่ยมชมอาคารผู้โดยสารภายในประเทศท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับผู้เดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกที่จะเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต

         ทั้งนี้ บริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)ได้ดำเนินการโครงการพัฒนา ทภก. (ปีงบประมาณ 2553-2557) โดยเมื่อเดือนกันยายน 2559 ได้เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ จากนั้นได้ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ขณะนี้การดำเนินการใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว สำหรับอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทภก. (ท่าอากาศยานภูเก็ต) มีพื้นที่ 30,339 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 มีพื้นที่ประมาณ 12,100 ตารางเมตร เป็นส่วนผู้โดยสารขาเข้า ประกอบด้วย โถงผู้โดยสารขาเข้าพื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางเมตร มีพื้นที่นั่งผู้โดยสาร 200 ที่นั่ง โถงรับกระเป๋าผู้โดยสารขาเข้า พื้นที่ประมาณ 4,200 ตารางเมตร พร้อมสายพานลำเลียงกระเป๋า 4 เส้น ประตูทางเข้าสำหรับ Bus Gate ผู้โดยสารขาเข้า จำนวน 2 จุด บันไดเลื่อน 1 ชุด สำนักงานเจ้าหน้าที่ ร้านค้า เคาน์เตอร์โรงแรม รถเช่า รถบัส และรถแท็กซี่ ซึ่งภายนอกเชื่อมต่อกับชานชาลาเทียบรถโดยสารพื้นที่จอดรถ นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มประตูทางออกสำหรับผู้โดยสารขาออก (Bus Gate) ทางด้านทิศเหนือของอาคารอีก 1 จุด หมายเลข 83-84 จากเดิมมีเพียงหนึ่งจุด (หมายเลข 81-82) พร้อมห้องน้ำ​ จำนวน 6 จุด สำหรับชั้น 2 มีพื้นที่ประมาณ 10,500 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นห้องโถง เช็คอินผู้โดยสารขาออก 4,000 ตารางเมตร ซึ่งประกอบด้วย เคาน์เตอร์เช็คอิน จำนวน 66 เคาน์เตอร์ จะเดิมมีแค่ 37 เคาน์เตอร์ และจุดตรวจค้นสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องพร้อมเครื่องเอกซเรย์ จำนวน 8 เครื่อง จากเดิมมีแค่ 4 เครื่อง และพื้นที่พักคอยผู้โดยสารขาออก​ มีพื้นที่ 6,500 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย ประตูทางออกขึ้นเครื่องหมายเลข 4 – 10 (Boarding Gate) สะพานเทียบอากาศยาน จำนวน 7 ชุด ร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร พร้อมทั้งห้องน้ำจำนวน 5 จุด และชั้น 3 เป็นพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารประมาณ 3,500 ตารางเมตร ประกอบด้วยร้านค้า พื้นที่พักคอย สำนักงานสายการบินส่วนบริเวณท่าอากาศยาน และห้องน้ำ 2 จุด

         นอกจากนี้​ นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ยังได้เปิดเผยถึง การปรับปรุงท่าอากาศยานภูเก็ตนั้น ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยตอนนี้ยังเหลือในส่วนของความเรียบร้อยของร้านค้าต่างๆที่ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยบางร้านเป็นสาขาของร้านค้าต่างประเทศ​ ซึ่งจะมีการออกแบบต่างๆให้เข้ากับรูปแบบของสินค้า โดยทางท่าอากาศยานภูเก็ตเองก็ได้กำหนดทุกร้านจะต้องปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในคืนวันที่ 22 มิ.ย. 61 เพื่อจะให้แล้วเสร็จทันการเปิดใช้อาคารผู้โดยสารภายในประเทศอย่างเป็นทางการ​ ที่กำหนดไว้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 นี้

         นายเพ็ชร ยังได้กล่าวต่ออีกว่า หลังจากการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และอาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารจากเดิม 6.5 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 12.5 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นอาคารระหว่างประเทศ 5 ล้านคนต่อปี และอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ 7.5 ล้านคนต่อปี มีหลุมจอดเพิ่มเป็น 34 หลุมจอด และที่จอดรถยนต์สามารถรองรับเพิ่มเป็น 1,500 คัน

         นอกจากนี้ ในช่วงเวลา 17.00 น. ในวันเดียวกันทาง ท่าอากาศยานภูเก็ตยังได้มีการจัดซ้อมแผนอพยพเมื่อเกิดภัยสึนามิ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยสึนามิท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมด้วยนายเพชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต พนักงานและลูกจ้าง ทภก. ผู้ประกอบการ สายการบิน ส่วนราชการที่ปฏิบัติงาน ณ ทภก.(ท่าอากาศยาน​ภูเก็ต)​ และชุมชนโดยรอบ ทภก. ส่วนการเข้าร่วมการฝึกซ้อมอย่างพร้อมเพรียง เสมือนเหตุการณ์จริง ตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 82 ว่าด้วยระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน ที่กำหนดให้ต้องมีแผนฉุกเฉิน พร้อมทั้งดำเนินการฝึกซ้อมบางส่วน อย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกๆ 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี โดยการฝึกซ้อมดังกล่าว​ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความรวดเร็ว ถูกต้อง และความชำนาญเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน การวางแผน การควบคุม และสั่งการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนทดสอบขีดความสามารถของเครื่องมือ และอุปกรณ์เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การดับเพลิงและกู้ภัย การแพทย์ ข่ายการติดต่อสื่อสารและการประสานงาน เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้มาใช้บริการ ผู้โดยสารและสายการบิน โดยกำหนดสถานการณ์สมมุติ เกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์วัดแรงสั่นสะเทือนที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวได้ 9.0 ริกเตอร์แรงสั่นสะเทือนสามารถรับความรู้สึกได้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และอาจเกิดคลื่นสึนามิซัดชายฝั่งบริเวณทะเลอันดามัน ขอให้ผู้โดยสาร พนักงานสายการบิน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในท่าอากาศยาน อพยพเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งการฝึกซ้อมเป็นไปตามแผนที่วางไว้ทุกประการ​