พระราชทานชื่อลูกพะยูน หลงแม่เกยตื้น“ยามีล”

          “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่พะยูนที่เกยตื้นที่กระบี่ตัวล่าสุด “ยามีล”  และ ทรงรับ ไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังฯ “ ทั้ง 2 ตัว ทั้งนี้ตามที่ได้มี ลูกพะยูนหลงแม่ โผล่เกยตื้นอีกตัว ที่หาดบ่อม่วง .กระบี่ หลังจากที่ตัวแรก “มาเรียม” เพศเมีย กำลังโตวันโตคืนที่จังหวัดตรัง สัตวแพทย์จาก ศวทม. ภูเก็ต นำทีมรุดช่วยเหลือ พบเป็นเพศผู้ อายุแค่ 3 เดือน อาการอิดโรย บาดแผลเต็มตัว พยุงตัวไม่ได้ นำตัวเข้าพยาบาลพักฟื้นที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากฯภูเก็ต ล่าสุดพบอาการดีขึ้น สามารถว่ายน้ำเองได้ อธิบดีทช.พร้อมคณะลงพื้นที่ดูการอนุบาลช่วยเหลือพะยูนน้อยทันที 

ลูกพะยูนหลงแม่อีก

เล็กกว่า“มาเรียม”

          จากกรณี เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา นายสิทธิชัย บ่อม่วง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า พบลูกพะยูนเกยตื้น บริเวณชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว ในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงรีบแจ้งต่อ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ เพื่อนำไปดูแลที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ภูเก็ต ในวันเดียวกัน

          ในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือนั้น ชาวบ้านได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงกระบี่(PIPO กระบี่) ร่วมกันให้การดูแลเบื้องต้น จนกระทั่งเวลาต่อมาสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ศวทม.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (สบทช.9 ) ได้เดินทางไปถึงและให้การช่วยเหลือทันที

          จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ลูกพะยูนดังกล่าว เป็นเพศผู้ อายุประมาณ 3 เดือน ความยาว 111 ซม. รอบตัว 66 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก. อัตราการเต้นหัวใจ 67 ครั้งต่อนาที อัตราการหายใจ 4 ครั้งต่อ 5 นาที สภาพอ่อนแรงและอิดโรยมาก คาดว่าอาจจะมาจากการพลัดหลงมานาน และพบภาวการณ์ขาดน้ำ ซึ่งจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเรื่องการติดเชื้อ และยังมีบาดแผลฉกรรจ์ภายนอกร่างกายคิดเป็นร้อยละ50 ของสภาพภายนอก จากสภาพดังกล่าวทำให้ไม่สามารถจะอยู่ในธรรมชาติได้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในสภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ไปก่อน  เจ้าหน้าที่ได้ทำการป้อนนมก่อนทำการเคลื่อนย้ายนำกลับมาพักฟื้นที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ต แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง ภูเก็ต ซึ่งเดินทางมาถึงในเวลาประมาณ 03.00 น.ที่ผ่านมา( 2 ก.ค.62)

          ขณะเดียวกันก็ได้มี เฟชบุ๊คชื่อ Kongkiat Kittiwatanawong มีการโพสต์ภาพพะยูนตัวดังกล่าว ที่มีเจ้าหน้าที่ฯกำลังป้อนนมอยู่ พร้อมระบุข้อความว่า ลูกพะยูนถึงมือหมอแล้วนะครับ สภาพอ่อนแรง และอิดโรยมาก ตามตัวมีบาดแผลประมาณ 50% กินนมไปแล้ว 100 ซีซี เป็นเพศผู้ ยาว 111 ซม. อายุเพียง 3 เดือน จากสภาพเจ้าตัวน้อยต้องไปนอนที่โรงพยาบาลก่อนระยะหนึ่ง (ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ภูเก็ต) หลังจากที่มีการโพสต์ได้มีการแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

          เจ้าของเฟซบุ๊ครายเดียวกัน ได้โพสต์ข้อความอีกว่า “มาเรียมกำลังจะมีเพื่อนรุ่นน้อง แต่รอให้โตอีกสักนิดนึง พบลูกพะยูนกำพร้าอีกตัวกำลังรอการช่วยเหลือจากกระบี่ เกิดอะไรขึ้นกับแม่ๆ พะยูน”

          สำหรับลูกพะยูนดังกล่าวในเบื้องต้น คาดว่าน่าจะหลงฝูงแล้วว่ายมาเกยตื้น และว่ายน้ำกลับเข้าฝูงไม่ได้ พบว่า ลูกพะยูนตัวใหม่นี้ มีขนาดเล็กกว่า พะยูน “มาเรียม” ที่พบจังหวัดตรัง ก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมาการพลัดหลงกับแม่พะยูน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น เนื่องจากแม่พะยูนจะเลี้ยงลูกจนโต และจะไม่ปล่อยให้ลูกว่ายน้ำออกห่างจากตัว ถ้าพลัดหลงก็จะมาทั้งแม่ทั้งลูก

         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อช่วงสายของวันเดียวกัน( 2 ก.ค.62) ที่ผ่านมา สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ศวทม.) ร่วมกันทำการป้อนนมให้กับลูกพะยูน และเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดโดยในวันดังกล่าว พบว่าลูกพะยูนอาการแข็งแรงมากขึ้น สามารถว่ายน้ำได้เองไม่ต้องพยุงตัวตลอดเวลา แต่จะต้องอยู่ในการดูแลภายในบ่ออนุบาลอย่างใกล้ชิด

          อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ จะเดินทางมาติดตามดูการช่วยเหลือลูกพะยูน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามัน(ศวทม.)ในวันพุธที่ 3 ก.ค.62 นี้

 

อธิบดีทช.ดูอาการ

ว่าแข็งแรงขึ้นมาก

          ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) และคณะ หลังได้รับรายงานก็เดินทางลงพื้นที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ตแหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือดูแลลูกพะยูนเพศผู้ อายุ 3 เดือน ซึ่งพลัดหลงกับแม่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบสุขภาพประจำวัน พบว่าพะยูนน้อยเริ่มร่าเริงดีกินดี มีการขับถ่าย ลักษณะปกติ

          นายจตุพร กล่าวว่า สำหรับลูกพะยูนเพศผู้ที่เพิ่งพบล่าสุด และได้นำมาอนุบาลที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ตแหลมพันวา ขณะนี้อยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิดและวันนี้เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว จึงได้มาติดตามดูความคืบหน้าพบว่า สุขภาพของพะยูนค่อนข้างแข็งแรงดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าการดูแลพะยูนถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ก็กำชับให้เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสัตวแพทย์ให้ดูแลอย่างใกล้ชิด และจะมีการระดมสัตวแพทย์จากที่อื่นมาช่วยดูแลด้วย ส่วนลูกพะยูนตัวนี้จะสามารถพาไปเลี้ยงในพื้นที่เปิดเหมือนกับ “มาเรียม”ได้หรือไม่นั้น ต้องดูกันอีกที หากพะยูนมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง 100% และรวมถึงเรื่องของแผลต่างๆ หายเป็นปกติเราก็จะมาคุยกัน และพิจารณาว่าจะพาไปอยู่ในพื้นที่เปิดได้หรือไม่

          “ตอนนี้ยังไม่ได้มีการตั้งชื่อลูกพะยูนที่เพิ่งพบ อาจจะให้มีการประกวดตั้งชื่อลูกพะยูนเพศผู้ตัวนี้ เหมือนกับการตั้งชื่อให้กับพะยูนเพศเมีย“มาเรียม” ซึ่งตั้งโดยพี่น้องบนเกาะลิบงมีความหมายว่าหญิงสาวผู้มีความสวยงามแห่งท้องทะเล ก็จะให้มีการประกวดตั้งชื่อผ่านทางเฟซบุ๊ก” 

          นายจตุพร กล่าวอีกว่า บริเวณที่พบลูกพะยูนเพศผู้ล่าสุด อยู่ห่างจากจุดที่พบมาเรียมประมาณ 60 กม. ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารพะยูน เราจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังบริเวณแหล่งหญ้าทะเลนี้ จะพบพะยูนค่อนข้างมาก ต้องสงวนพื้นที่นี้ไว้ และต้องขอบคุณเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ หลังพบพะยูนแล้วได้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จนนำมาสู่การดูแลอย่างปลอดภัยที่ศูนย์ฯทช. ทำให้สามารถช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากมีชีวิตอยู่ยืนยาวได้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประชากรพะยูนปัจจุบันดีขึ้นอย่างมากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพะยูนเพิ่มมากขึ้นเกือบ 300 ตัว จาก100 กว่าตัวของจังหวัดตรัง ที่มีพะยูนมากที่สุดในโลกเนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญถ้ามีพื้นที่หญ้าทะเลประชากรพะยูนก็จะมีเพิ่มมากขึ้น สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงในพื้นที่เปิดคือ เครื่องมือประมง  สังเกตจากการเกยตื้น มักจะพบว่าโดนเครื่องมือประมงทำร้ายซึ่งอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจะพะยูนจะมีขนาดตัวใหญ่ และเคลื่อนตัวช้า

 

เผยพระราชดำริฯ

อนุรักษ์แนวปะการังฯ

           วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมกับกองทัพเรือ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับสนองพระดำริฯ จัดแถลงข่าวขึ้น เมื่อเวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

           สำหรับ โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ นับว่าเป็นพระเมตตา และเป็นที่ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คนที่ทำงาน และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลแนวปะการังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ท่านทรงให้ความสำคัญมีพระดำริให้มีโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปะการังและสัตว์ทะเลหายาก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งภายใต้แผนงานโครงการในพระดำริและมีพระกรุณาให้จัดตั้งกลุ่มงานด้านต่างๆ อาทิ กลุ่มงานอนุรักษ์ท้องทะเลไทยและแนวปะการัง กลุ่มงานอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ และกลุ่มงานรณรงค์ปลูกจิตสำนึก

            นอกจากนี้ จังหวัดตรัง และหน่วยงานภาคเอกชน จัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือพะยูนและอนุรักษ์พะยูนไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากทะเลตรัง เพราะจังหวัดตรังเป็นถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยตั้งชื่อ เป็น “กองทุนมาเรียม เพื่อการอนุรักษ์พะยูนตรัง” 

          พร้อมกันนี้ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 จะมีการจัดกิจกรรม “ปั่นปันน้ำใจ ให้พะยูนน้อย” ซึ่งเส้นทางการปั่นจักรยานจะเริ่มต้นจากสถานีรถไฟกันตัง สิ้นสุดที่เกาะลิบง ทั้งนี้ ผู้สมัครเข้าร่วมปั่นจักรยานจะได้รับเสื้อ “พะยูนน้อย” ราคาตัวละ 300 บาท โดยค่าสมัครทั้งหมดจะนำเข้ากองทุนมาเรียมเพื่อการอนุรักษ์พะยูนตรัง ในการดูแล รักษาพะยูนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือนำไปซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อมาทำการรักษาพะยูนได้ทันท่วงทีต่อไป

 

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

พระราชทานชื่อ“ยามีล”

          เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุด ที่จังหวัดกระบี่ว่า “ยามีล” เป็นภาษายาวี มีความหมายว่าชายรูปงามแห่งท้องทะเลและทรงรับลูกพะยูนมาเรียมและลูกพะยูนยามีล ไว้ในโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์” 

            วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมกับกองทัพเรือ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับสนองพระดำริฯ จัดแถลงข่าวขึ้น โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยพลเรือตรี ธีรกุล กาญจนะ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ กองทัพเรือ และนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

         นายจตุพร กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าว ได้กำหนดกลุ่มงานอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยมีแผนงานสนับสนุนการอนุรักษ์พะยูน มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยพะยูนไปขยายผลในระดับประเทศ รวมถึงใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีพะยูนและเป็นแหล่งหญ้าทะเล เพื่อกำหนดเป็นโมเดลหลักในการนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีแหล่งพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลได้ในอนาคต ดังนั้นถือเป็น พระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุด ที่จังหวัดกระบี่ว่า “ยามีล” ซึ่งมีความหมายในภาษายาวี ว่าชายรูปงามแห่งท้องทะเลและทรงรับลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวไว้ในโครงการฯ จึงนับเป็นพระเมตตาและเป็นที่ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานดูแลลูกพะยูนทั้ง 2 ตัว อีกทั้งยังเปรียบเสมือนการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก

#Phuket #Thailand #กินไหนดีภูเก็ต #มีเดียภูเก็ต #ข่าวภูเก็ต #ท่องเที่ยวภูเก็ต #อาหารภูเก็ต #ช้อปปิ้งภูเก็ต #โรงแรมภูเก็ต #อสังหาฯภูเก็ต#เศรษฐกิจภูเก็ต #www.phuketprice.com #ภูเก็ตไพรซ์