ม.อ. ภูเก็ต เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหากขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน ชี้จุด “โคกโตนด-บ้านลิพอน” มีศักยภาพสูงเหมาะเจาะน้ำบาดาล เพื่อเร่งแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง พร้อมเสนอแผนระยะยาว

             เมื่อวันที่ 17 ก.พ.63 เวลา 14.00 น. ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จัดงานแถลงข่าวภายใต้หัวข้อ “การขาดแคลนน้ำและแนวทางการแก้ไขของจังหวัดภูเก็ต” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระพงค์ เกิดสิน คณบดีคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม , ดร.อวิรุทธิ์ พุฒิวงศ์รักษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และ เจ้าหน้าที่ และ สื่อมวลชนเข้าร่วม

          ปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาสำคัญสำหรับเมืองที่มีการเจริญเติมโตสูงจังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองหนึ่งที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของเมืองซึ่งมาจากธุรกิจท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในทุกปีของจังหวัดภูเก็ตเป็นเหตุในปริมาณความต้องการน้ำเพิ่มสูงซึ่งแปรผันตรงกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากกรมชลประทานรายงานว่าจังหวัดภูเก็ตมีความต้องการน้ำต่อปีเฉลี่ย 80 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่การผลิตน้ำสามารถผลิตได้เฉลี่ยเพียงแค่ 48 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่านั้น ปริมาณกว่า 32 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีที่เป็นความต้องการน้ำที่ยังขาดแคลน ด้วยเหตุนี้จังหวัดภูเก็ตมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งของทุกปี โดยสำนักข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำในปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนถึง 6,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยได้ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจสำหรับปัญหาภัยแล้งในประเทศไทยพบกว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยคิดเป็นตัวเงินกว่า 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ0.1 ของจีดีพีของประเทศ

         อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาขาดแคลนน้ำของภูเก็ต คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือนเมื่อปี 2562 พบว่า ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือนลดลงจากปริมาณน้ำฝนรายเดือนเฉลี่ย 10 ปี ในเกือบทุกเดือนตลอดทั้งปีปริมาณน้ำฝนที่ลดลงส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่จะน้ำมาผลิตเป็นน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค

            ด้วยเหตุนี้ ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต นำโดยคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืนของจังหวัดภูเก็ต โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาสำหรับระยะสั้น (ระยะเร่งด่วน) ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้เสนอให้ใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจากแผนที่แสดงศักยภาพน้ำบาดาลที่วิจัยโดยคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมจะสามารถช่วงระบุพื้นที่ที่สามารถขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้สอยได้ในภาวะวิกฤตสำหรับหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง นั่นคือ พื้นที่บริเวณโคกโตนด และ พื้นที่บริเวณบ้านลิพอน ในเขตอำเภอถลาง นอกจากนี้ ข้อมูลระดับน้ำจากขุมเหมืองทั้ง 111 ขุมเหมือง ที่มีการเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยเครื่องมือที่ติดตั้งโดยคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำสนับสนุนของน้ำต้นทุน ในกรณีที่การขุดเจาะน้ำบาดาลไม่ทันกับปริมาณความต้องการน้ำในหน้าแล้งนี้

          สำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาระยะกลาง การสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลน้ำและการเฝ้าติดตามข้อมูลน้ำจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและทันท่วงที อีกทั้งการจัดทำธนาคารน้ำในชุมชน กล่าวคือ การเก็บข้อมูลการใช้น้ำและการเติมน้ำเข้าสู่แอ่งน้ำบาดาล เสมือนการฝาก-ถอนของทางธนาคาร จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบและเท่าทันปัญหา ส่วนแนวทางแก้ปัญหาระยะสุดท้ายหรือระยะยาว คือการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับการผลิตน้ำต้นทุน ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิลน้ำ และเทคโนโลยีการเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด เป็นต้น จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับเติมเต็มช่วงว่างระหว่างความต้องการน้ำและการผลิตน้ำของภูเก็ตให้มีความสมดุลเพื่อให้จังหวัดมีทรัพยากรน้ำสำหรับใช้สอยอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืนของจังหวัดภูเก็ตนี้ ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้นำเสนอต่อทางจังหวัดเพื่อพิจารณาแล้ว