“รถไฟฟ้าภูเก็ต”ร่อแร่ ส่อปรับแบบนับหนึ่งใหม่

          รฟม.เผยรายละเอียดของโครงการ “รถไฟฟ้าภูเก็ต” พร้อมตัวเลขการลงทุนแต่ละขั้นตอนล้วนมหาศาล ทั้งแนวโน้มมีเค้าบานปลายอีก หลังปรับแบบร่วมกับกรมทางหลวง ขุดอุโมงค์เพิ่มอีก 2 จุดช่วงทางแยก จากเดิม 3 จุด รวมเป็น 5 จุด  และยังมีเสียงต่อรองจากท้องถิ่น ให้เลี่ยงตัวเมืองเข้าบ่ายพาสไปห้าแยกแทน บอกถ้าเป็นแบบนี้ ต้องนับหนึ่งกันใหม่

           ตามที่รัฐบาลยุค คสช.ได้วางนโยบายแก้ปัญหาการจราจรในหัวเมืองหลัก โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว และให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบ หลังจากรับมอบอำนาจจากคณะรัฐมนตรีและผลการศึกษาจาก “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” โดยจะเริ่มต้นในปี 2562นี้ จะเริ่มโครงการ “รถไฟฟ้าภูเก็ต” ก่อนเป็นโครงการแรก และในปีถัดไป 2563 ปักหมุด “เชียงใหม่-โคราช” ตามด้วย “พิษณุโลก” ส่วน “ขอนแก่น” ทางจังหวัดอาสาเป็นผู้ดำเนินการเอง

           สำหรับโครงการ “รถไฟฟ้าภูเก็ต” ที่ผ่านการศึกษาออกแบบของ สนข. และได้จัดทดสอบความสนใจของภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไปประกอบผลการศึกษารูปแบบการลงทุนที่ผ่านมานั้น นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม.ด้านกลยุทธ์และแผน เปิดเผยรายละเอียดว่า รูปแบบที่เหมาะสมเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาระบบ tram แบ่งก่อสร้าง 2 ระยะ ในระยะที่ 1 ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ 16.8 กม.โดย รฟม.จะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 มี 21 สถานี เป็นระดับพื้นดิน 19 สถานี ยกระดับ 1 สถานี และใต้ดิน 1 สถานี ลงทุน 34,827.28 ล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืน 1,521 ล้านบาท สร้างเดโป้ 46 ไร่ ตรงโลตัสถลาง สถานีจ่ายระบบไฟฟ้า และจุดเป็นทางโค้งงานโยธา 17,797 ล้านบาท ระบบรถไฟฟ้า 9,508 ล้านบาท จัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2,492 ล้านบาท ค่าสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง 13.65 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด 303 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ 1,452 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,737 ล้านบาท

          “วงเงินลงทุนเป็นแค่กรอบเบื้องต้น แต่อาจจะมีเพิ่มขึ้นจากผลศึกษาเดิม 1.6 พันล้านบาท เพราะปรับแบบบางช่วงร่วมกับกรมทางหลวง บริเวณทางแยกที่ให้สร้างเป็นอุโมงค์เพิ่ม 2 แห่ง ค่าก่อสร้างแห่งละ 500-800 ล้านบาท จากเดิมมี 3 แห่ง รวมเป็น 5 แห่ง ส่วนข้อเสนอของเอกชนในท้องถิ่นที่ให้ปรับแนวบางช่วงเพื่อหนีรถติดนั้น รฟม.จะรับมาพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ถ้าขยับแนวใหม่จะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด”

          นายธีรพันธ์ กล่าวอีกว่า จากการทดสอบความสนใจทางด้านการลงทุนของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีเอกชนที่เป็นซัพพลายเออร์รถไฟฟ้า ผู้ประกอบการเดินรถและรับเหมาก่อสร้างทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี รวมถึง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และบริษัท พัฒนาเมืองภูเก็ต จำกัด (PKCP)

           “โครงการนี้อยู่ใน PPP fast track เป็นการลงทุนรูปแบบ PPP net cost ให้เอกชนลงทุนงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า การเดินรถ งานบำรุงรักษา และงานให้บริการ ระยะเวลา 30 ปี โมเดลเดียวกับสายสีชมพูและสีเหลือง โดยเอกชนจะหาเงินมาลงทุนให้ก่อนและรัฐสนับสนุนไม่เกินค่างานโยธา 1.7-2 หมื่นล้านบาท และเวนคืนที่ดินให้”

           นายธีรพันธ์ กล่าวต่อว่า สถานะของโครงการอยู่ระหว่างรอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่จะเปิดประมูลคู่ขนานกันไป คาดว่าจะขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรีได้กลางปี 2562 จากนั้นเปิดเชิญชวนเอกชนร่วมประมูลในไตรมาส 3 ใช้เวลาพิจารณา 9 เดือนถึง 1 ปี คาดว่าเซ็นสัญญากลางปี 2563 เริ่มก่อสร้างปลายปี ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-3.5 ปี พร้อมเปิดบริการ ในปี 2566 คาดจะมีผู้โดยสาร 33,190 คนต่อวัน คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง เริ่มต้น 18 บาท จากนั้นกิโลเมตรละ 2.5 บาท สูงสุด 100-137 บาทต่อเที่ยว ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 7 นาที มีรายได้ปีแรก 165.77 ล้านบาท

           สำหรับผู้สนใจการลงทุนนั้น นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า บริษัทสนใจโครงการนี้ เนื่องจากปัจจุบันได้ร่วมกับท้องถิ่นพัฒนาระบบบัตรแรบบิทสำหรับบริการรถโดยสารอยู่แล้ว แต่ต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ เช่น ผลตอบแทน การสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง

            ท้องถิ่นต่อรอง ไม่ต้องเข้าเมือง แต่จากการเปิดเวทีฟังความคิดเห็นที่จังหวัดภูเก็ตล่าสุดนั้น เสียงคนภูเก็ตให้การตอบรับโครงการดี แต่มีข้อต่อรองจากภาคเอกชนในจังหวัดว่า แนวเส้นทางของโครงการนั้น อาจจะทำให้เกิดปัญหารถติดมากขึ้น โดยนายธนูศักดิ์ พึ่งเดช รองประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โครงการอาจจะมีความยุ่งยากในช่วงก่อสร้าง และควรจะสนับสนุนเอกชนพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) มารองรับ เพื่อเป็นรายได้จุนเจือโครงการ

           ทางด้านนายสมบัติ อติเศรษฐ์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว กล่าวว่า โครงการใช้เงินลงทุนสูง และแนวเส้นทางไม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยว ไม่ตอบโจทย์คนท้องถิ่น และแก้ปัญหารถติดได้จริง เพราะคนภูเก็ตอยู่ในเมือง ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหลัก และนักท่องเที่ยวจะพักที่ป่าตองเป็นส่วนใหญ่

           “ช่วงก่อสร้าง 3 ปี ถ้ามีปัญหาจราจรจะซ้ำเติมการท่องเที่ยวของภูเก็ต มองว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์เรื่องของการพัฒนาที่ดินสองข้างทางในเมือง เพราะจะมีการพัฒนาโฮสเทลและโรงแรมเล็กๆ มากขึ้น รัฐควรปรับเส้นทางจากสนามบินไปทางบายพาส และตรงไปห้าแยกฉลอง โดยไม่ต้องเข้าเมือง ซึ่งสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่โคกกลอย จ.พังงา ก็กำลังจะเกิดขึ้น”

           ส่วนนางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ผู้ประกอบการโรงแรม กล่าวว่า อยากให้ทำโครงการนี้แล้วสำเร็จไม่ใช่เอาเงินมาลงทุนแล้วไม่คุ้มค่าการลงทุน เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องการท่องเที่ยว รัฐควรเปลี่ยนเส้นทางจากเกาะแก้วไปบายพาสแทนเข้าเมือง เพราะถนนในเมืองคับแคบ ถ้าไปทางบายพาสจะสามารถบริการได้ทั้งคนในเมืองด้วย จะประหยัดค่าลงทุนและค่าเวนคืน