สภาอบจ.ภูเก็ตวุ่น ปม“แพ็มเพิส”ป่วน สจ.แห่วอล์คเอาท์

           เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 เวลา 10.00 น. องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้มีการประชุมสภา สมัยวิสามัญ ประจำปี 2560 สมัยที่ 1 โดยมี นายธีระ เจี่ยสกุล ประธานสภา อบจ.ภูเก็ต เป็นประธานที่ประชุม มีสมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน และในส่วนของฝ่ายบริหาร มีนายวัชรินทร์ ปฐมวัฒนพงศ์ ปลัด อบจ.ภูเก็ต ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ภูเก็ต พร้อมด้วย นายเสถียร แก้วพระปราบ รองปลัด อบจ.ภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการ อบจ.ภูเก็ต เข้าร่วมการประชุมสภา ณ ห้องประชุมสภา อบจ.ภูเก็ต

          สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวอาวุโสได้รายงานว่า มีวาระการประชุมฯ 5 วาระ ประกอบด้วย ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องประธานฯ แจ้งต่อที่ประชุม  2.เรื่อง รับรองรายงานการประชุมสภา อบจ.ภูเก็ต สมัยสามัญ ประจำปี 2560 สมัยแรก  3.เรื่องกะทู้ถาม  4.เรื่องที่เสนอ และ 5.เรื่องอื่นๆ

          โดยวาระที่ 1 เรื่องประธานแจ้งต่อที่ประชุม ประธานสภาแจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 (ครั้งที่ 1) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของการประกาศใช้แผนพัฒนา 4 ปี (พ.ศ.2561-2564) และเรื่องงการประกาศใช้แผนพัฒนา 3 ปี (พ.ศ.2560-2562) ก็ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพัฒนา อบจ.ภูเก็ต และได้อนุมัติพร้อมประกาศใช้แล้วเช่นกัน ซึ่งพบว่ามี 30 โครงการไม่ขยับ

          ในวาระนี้ นายโอภาศ ชอบดี สมาชิกสภาฯ อำเภอเมือง เขต 14 อภิปรายว่า จากที่มีการสรุปผลงงานที่ได้ดำเนินการในปี 2560 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 โครงการ สามารถลงนามเพื่อดำเนินการได้เพียง 1 โครงการเท่านั้น อย่างนี้จะไม่ให้สมาชิกสภาฯ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีความพอใจได้อย่างไร  “งานต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบ ไม่คืบหน้าไปตามแผน อบจ.ภูเก็ตในฐานะพี่ใหญ่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ไม่อายท้องถิ่นอื่นๆ บ้างหรือ หากยังเป็นอยู่อย่างนี้ พวกท่านฝ่ายบริหารซึ่งเป็นข้าราชการอาจมีความสุขอยู่ได้ แต่พวกผมซึ่งมาจากการเลือกตั้งอยู่ไม่ได้ อายประชาชน เพราะแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ วันนี้งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไม่ขยับ แต่งานอื่นๆ อย่างเช่น การไปโรดโชว์ท่องเที่ยวในต่างประเทศ ไม่เห็นจะติดขัดตรงไหนขยับผ่านได้พรึบๆ ตามสเตป มันเกิดอะไรขึ้น” นายโอภาศ ได้กล่าว

         นายวัชรินทร์ ปฐมวัฒนพงศ์ ปลัด อบจ.ภูเก็ต ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวชี้แจงต่อสภาฯ ว่า อาจเป็นการเข้าใจผิดของสมาชิกที่เห็นว่า ในยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน 30 โครงการ งบประมาณ 304 ล้านบาท มีความคืบหน้าในขั้นลงนามจัดซื้อจัดจ้างเพียงโครงการเดียว ขอเรียนว่าโครงการต่างๆ ที่เป็นความต้องการของประชาชนที่ส่งผ่านมาทางสมาชิกสภาฯ ฝ่ายบริหาร หรืออื่น จะถูกรวบรวมมาใส่ไว้ในแผนพัฒนา 3 ปี หรือ 4 ปีเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากสภา โดยทั้ง 30 โครงการที่ว่า มีเพียง 3 โครงการเท่านั้น ที่ผ่านการอนุมัติของสภาฯ แล้ว และมีความคืบหน้าสามารถจัดซื้อจัดจ้าง 1 โครงการ อย่างไรก็ตามการบรรจุโครงการไว้ในแผนพัฒนาจำนวนมาก แต่หากไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วง ในด้านการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลถือว่าเป็นข้อบกพร่องเช่นกัน

          “การบริหารอบจ.ภูเก็ตโดยตามปกติต้องมีฝ่ายบริหาร ซึ่งประกอบด้วย 1 นายกฯ, 2 รองนายกฯ, 1 เลขานุการนายกฯ และ 5 ที่ปรึกษานายกฯ เมื่อรวมกับ ปลัดอบจ. และรองปลัดอบจ.แล้ว ฝ่ายบริหารมีจำนวน 11 คน แต่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 2 คน กับต้องทำหน้าที่เหมือนเดิม เราก็พยายามทำงานให้ได้ตามแผนงาน ความล่าช้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่แจ้งย้ายสถานที่ก่อสร้าง ก็ต้องมีการปรับแบบ ปรับแผน ทำให้ต้องเสียเวลาไปบ้าง แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้องด้วย” นายวัชรินทร์ กล่าว

          ส่วนทางด้าน นายไกรวุฒิ คุ้มบ้าน สมาชิกสภาฯ อ.เมือง เขต 15 อภิปรายว่า การที่งานในส่วนของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของอบจ.ภูเก็ต ไม่มีความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ก็เพราะว่า ผู้บริหารขาดความจริงใจในการดูแลประชาชน และขาดความไว้วางใจทั้งต่อสมาชิกสภาฯ และเพื่อนข้าราชการฝ่ายต่างๆ ซึ่งตนไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร “ท้องถิ่นอื่นๆ ที่เกิดปัญหาเช่นเดียวกับอบจ.ภูเก็ต ทำไมเขายังทำงานกันได้ งานของเขาลื่นไหลไปด้วยดี” นายไกรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

          จากนั้นในระเบียบวาระที่ 2 ที่ประชุมได้มีมติรับรองรายงานการประชุมสภา อบจ.ภูเก็ต สมัยสามัญ ประจำปี 2560 สมัยแรก จึงเข้าสู่ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องกะทู้ถาม ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักในการเปิดประชุมสภาอบจ.ภูเก็ต สมัยวิสามัญ ในครั้งนี้ โดยมีสมาชิกสภาฯ 3 คน ที่แจ้งความประสงค์จะตั้งกะทู้ถามฝ่ายบริหารอบจ.ภูเก็ต ประกอบด้วย นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส สมาชิกสภาฯ อ.เมือง เขต 2, นายมนู เขียวคราม สมาชิกสภาฯ อ.เมือง เขต 13 และนายกันตพัฒน์ พิสิฐคุณานนท์ สมาชิกสภาฯ อ.เมือง เขต 6

          นอกจากนั้น นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส สมาชิกสภาฯ อ.เมือง เขต 2 อภิปรายว่า การตั้งกะทู้ถามฝ่ายบริหารอบจ.ภูเก็ตในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการร้องเรียนของชาวบ้านว่าเหตุใด โครงการภูเก็ตแคร์ โดยการดำเนินการของอบจ.ภูเก็ต จึงไม่สามารถจัดซื้อ “ผ้าอ้อม และแพมเพิส” ให้กับ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในโครงการฯได้ ทั้งที่สภาฯ ได้อนุมัติงบประมาณไปแล้วกว่า 7 เดือน “โครงการภูเก็ตแคร์ ถือว่าเป็นโครงการที่ดูแลประชาชนที่ทุกข์ยากอย่างแท้จริง ได้รับรางวัลในระดับประเทศ แต่วันนี้ ทุกครั้งที่สมาชิกสภาฯ ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน ก็จะถูกทวงถามจากชาวบ้านทุกครั้ง อายครับ ก็ได้แต่บอก ว่ากำลังดำเนินการกันอยู่ นี่ 7 เดือนเข้าไปแล้วที่ฝ่ายบริหารยังคงอยู่กับปัญหานี้ ทั้งที่เป็นปัญหาเดิมๆ จะไม่ทำอะไรกันเลยหรือครับ” นายสาโรจน์ กล่าว

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเสถียร แก้วพระปราบ รองปลัดอบจ.ภูเก็ต ชี้แจงต่อที่ประชุมฯว่า โดยปกติของโครงการภูเก็ตแคร์ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมาก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่เริ่มมีปัญหาในปี 2559 เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกของปีนั้น งบประมาณที่คาดว่าจะเป็นรายรับของอบจ.ไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย ทำให้แผนงานจัดซื้อจัดจ้างในส่วนของ วัสดุภัณฑ์ที่จำเป็นอย่าง ผ้าอ้อม ผ้าอนามัย และแพมเพิส ต้องล่าช้ามาถึงไตรมาสที่สอง คือเดือนกุมภาพันธ์ กองสาธารณสุขได้จัดประกวดราคาเพื่อจัดซื้อก็ล้มเหลวเนื่องจากมีผู้มาซื้อซองประกวดราคาเพียงรายเดียว ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน ตามระเบียบการประกวดราคา จึงไม่มีใครกล้าเสี่ยงดำเนินการต่อ และต้องยกเลิกในที่สุด “ผมได้สั่งการให้มีการประกวดราคาครั้งที่ 2 ในเดือนมีนาคม ซึ่งในครั้งนี้ก็มีผู้มาซื้อซองประกวดรายคาเพียงรายเดียวเช่นเดิม แต่ผมได้ให้หลักการต่อคณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคาไปว่า แม้จะมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว แต่หากเสนออย่างถูกต้องตามระเบียบ และหลักการการจัดซื้อพัสดุ มีเอกสารครบถ้วน ไม่มีข้อบกพร่องใดๆ ขอให้คณะกรรมการช่วยพิจารณาด้วย” นายเสถียรกล่าวและว่า “ตอนนี้เราได้ผู้จัดซื้อแล้ว จะลงนามกันในสัปดาห์หน้า และได้ขออนุเคราะห์ให้คู่สัญญาส่งของภายใน 25 วันหลังการลงนาม ผมเองเข้าใจความรู้สึกของท่านสมาชิกทุกท่าน แต่ก็ต้องทำงานให้ถูกต้อง และรัดกุมที่สุดด้วยเช่นกัน”

          อย่างไรก็ตาม นายสาโรจน์ เจ้าของกะทู้ถาม ไม่พอใจกับคำตอบที่ได้รับเพราะเห็นว่าฝ่ายบริหารยังไม่จริงจัง และจริงใจกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยตั้งข้อสังเกตถึงระยะเวลาในการกำหนดวันในการตอบกะทู้ซึ่งใช้เวลาเกือบ 1 เดือน ทั้งที่การตั้งกะทู้ถามถือเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยยังถามเพิ่มเติมว่า ปัญหาในลักษณะนี้คงยังต้องเกิดขึ้นอีกกับโครงการต่างๆ ผู้บริหารจะมีปัญญา หรือแนวทางการแก้ปัญหา โดยไม่ต้องรอให้เกิดความล่าช้า และเสียหายต่อประชาชนไปในทิศทางไหน อย่างไร ในส่วน นายวัชรินทร์ ปฐมวัฒนพงศ์ ปลัด อบจ.ภูเก็ต ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวต่อสภาฯ ว่า มีปัญญาและกระบวนการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ และมีความพร้อมในการบริการพี่น้องประชาชนไม่เฉพาะเรื่องนี้ แต่เป็นทุกๆ เรื่อง อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูในเรื่องข้อจำกัดบางเรื่องเช่นกัน ต้องดูว่าเรามีงบประมาณผ่านสภาหรือไม่ และมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ แต่จะพยายามบริการประชาชนให้ทันท่วงที  ระหว่างนั้น นายสาโรจน์ เจ้าของกะทู้ถาม กับ นายวัชรินทร์ ปลัดอบจ.ภูเก็ตฯ ส่งผลให้บรรยากาศการประชุมสภาฯ คุกรุ่นจนกลายเป็นเหตุให้การประชุมสภาฯ ต้องยุติลง ในที่สุดเมื่อ นายสาโรจน์ ลุกขึ้นอภิปรายปิดกะทู้ถาม โดยกล่าวว่า รับไม่ได้กับการแก้ปัญหาของฝ่ายบริหาร การตอบคำถามแบบเดิมๆ เหมือนครั้งที่ผ่านมา ซึ่งก็ตอบมาแบบนี้เหมือนกัน วันนี้มาบอกว่า 16 มิถุนายน 2560 จะสามารถจัดซื้อวัสดุสิ่งของตามโครงการภูเก็ตแคร์ได้แน่ๆ แต่ผมขอถามว่า แล้วเหลืออีกกี่วันที่จะสิ้นปีงบประมาณ พี่น้องประชาชนที่รอความช่วยเหลือจากอบจ.ภูเก็ต เขารู้สึกอย่างไร เคยถามพวกผมซึ่งเป็นสมาชิกสภาฯ หรือไม่ ว่ารู้สึกอย่างไร ขณะไปเยี่ยมชาวบ้าน “ความชัดเจนว่า 16 มิถุนายน จะได้ของหรือไม่ ก็ยังไม่มี ผมไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจาก พูด พูด พูด เพื่อสะท้อนปัญหา วันนี้ผมขออนุญาตใช้เวทีแห่งนี้ประท้วงฝ่ายบริหาร โดยการขอออกจากห้องประชุมจนกว่าปัญหาความเดือดร้อนที่ผมนำมาตั้งกะทู้ในวันนี้ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ผมจึงจะเข้ามาประชุมต่อ” นายสาโรจน์ กล่าว

          หลังจากนั้นนายสาโรจน์ ได้เดินออกจากห้องประชุมไป โดยมี สมาชิกสภาฯ อีกหลายคนทยอยออกตามไป นายธีระ เจี่ยสกุล ประธานสภาฯ ได้แจ้งให้ยุติการประชุมเพื่อพักเที่ยง อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายก็ไม่สามารถเปิดประชุมฯ ต่อได้ เนื่องจากสมาชิกสภาฯ ไม่ครบองค์ประชุมแต่ทางด้านข่าวแจกของฝ่ายบริหารอบจ.ภูเก็ตได้รายงานผลการประชุมว่า การประชุมสภา อบจ.ภูเก็ต สมัยวิสามัญ ประจำปี 2560 สมัยที่ 1 ได้รายงานผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2560 (ครั้งที่ 1) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 และแก้ไขเพิ่มเติมม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 หมวด 6 ข้อ (3) รายงานผลและเสนอความเห็นซึ่งได้จากการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นเสนอต่อสภาท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 (ครั้งที่ 1) เสร็จเรียบร้อยแล้ว

          การประกาศใช้แผนพัฒนา 4 ปี (พ.ศ.2561-2564) เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งร่างแผนพัฒนาฯ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพัฒนาพัฒนา อบจ.ภูเก็ต และได้อนุมัติพร้อมประกาศใช้แล้ว เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 รวมถึงการประกาศใช้แผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2560-2562) เพิ่มเติม ฉบับที่ 1 เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มเติมด้านคุณภาพชีวิตและได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพัฒนา อบจ.ภูเก็ต และได้อนุมัติพร้อมประกาศใช้แล้ว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 นอกจากนี้ ได้มีการแจ้งให้ที่ประชุมทราบ เรื่องรับรองรายงานการประชุมสภา อบจ.ภูเก็ต สมัยสามัญ ประจำปี 2560 สมัยแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์  2560 ซึ่งสภามีมติรับรองรายงานการประชุม

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น