เจแอลแอล เผยมูลค่าการลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยปี 62 ลดลงจากปี 61

นักลงทุนสนใจซื้อสูง แต่โรงแรมที่เสนอขายมีน้อย

         ตลาดการลงทุนซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยในปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นเพียง 3.7 พันล้านบาท ลดลงมากจากปี 2561 ที่มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 2.05 หมื่นล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจาก โรงแรมที่เจ้าของเสนอขายมีจำนวนลดลงในปี 2562 ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

         การซื้อขายโรงแรมที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา มี 4 รายการ ได้แก่ โรงแรมโฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน กรุงเทพ โรงแรมอนันตรา บ้านราชประสงค์ (สิทธิการเช่า ปัจจุบันคือดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพ) โรงภาษีร้อยชักสาม (สิทธิการเช่า อาคารประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่ง บมจ. ยู ซิตี้ จะบูรณะให้เป็นโรงแรม) และโรงแรมสวนบวกหาด ชะอำ

         ใน 4 รายการดังกล่าว โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน กรุงเทพ เป็นรายการซื้อขายที่มีมูลค่าสูงสุด คือ 2.25 พันล้านบาท โดยมีเจแอลแอลเป็นตัวแทนการขาย และผู้ซื้อคือ TA Global Berhad จากมาเลเซีย

         นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยา รองประธานบริหารภาคพื้นเอเชีย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา มีทั้งนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจสูงในการซื้อโรงแรมในประเทศไทย โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย และเชียงใหม่ แต่โรงแรมที่มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการลงทุนที่มีเสนอขายมีจำนวนลดลงมาก หลังจากที่มีการซื้อขายมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงสองปีก่อนหน้า คือ ปี 2560 และ 2561”

         นอกจากจำนวนโรงแรมที่มีเสนอขายน้อยลงแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการลงทุนซื้อขายโรงแรมลดลงในปี 2562คือ การซื้อขายโรงแรมบางรายการ ไม่สามารถดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ได้ทันก่อนสิ้นปี

         “มีการซื้อขายโรงแรมรายการสำคัญๆ ส่วนหนึ่งที่ผู้ซื้อผู้ขายมีการลงนามในสัญญาซื้อขายกันไปแล้วในปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันและต้องเลื่อนการโอนมาเป็นปีนี้ ดังนั้น จะถูกนับเป็นรายการซื้อขายของปีนี้ ซึ่งบางรายการเป็นการซื้อขายที่มีมูลค่าสูง และจะมีส่วนทำให้มูลค่าการลงทุนซื้อโรงแรมโดยรวมของทั้งปีนี้เพิ่มสูงขึ้น” นายจักรกริชกล่าว

นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น แม้ความสนใจซื้อสูง

         ข้อมูลจาก STR Global ระบุว่า โรงแรมในประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยโดยรวมต่อห้องพักลดลง 5.6% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562

         “ผลการดำเนินธุรกิจที่ลดลงของโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ของไทยในปีที่ผ่านมา ทำให้มีนักลงทุนบางส่วนระมัดระวังมากขึ้นในการเลือกลงทุน ในขณะที่นักลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่เล็งผลระยะยาวและเข้าใจวงจรการขึ้นลงของภาคการท่องเที่ยว ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดการท่องเที่ยวของเอเชียที่มีความสามารถในรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนได้ดีที่สุด” นายจักรกริชกล่าว

         นายไมค์ แบทเชเลอร์ ซีอีโอภาคพื้นเอเชีย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า “ในส่วนของนักลงทุนจากต่างชาติ การแข็งค่าของเงินบาทมีผลทำให้ทุนต่างชาติบางกลุ่มระมัดระวังในการเข้ามาลงทุนในไทย แต่โดยภาพรวมแล้วนักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจอย่างมากในการหาโอกาสการซื้อโรงแรมในไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ในเอเชีย นอกจากนี้ ราคาขายยังถูกกว่ามากด้วย”

         เจแอลแอลคาดว่า การลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยจะกลับมาสูงขึ้นในปีนี้ โดยประเมินว่ามูลค่าการลงทุนซื้อรวมของทั้งปีจะเพิ่มขึ้นแตะระดับประมาณ 1.0-1.2 หมื่นล้านบาท

เอเชียโดยสังเขป

         ในปี 2562 การลงทุนซื้อขายโรงแรมที่เกิดขึ้นในเอเชียมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 7.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากซื้อขายโรงแรมมูลค่าสูงที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นตลาดหลักๆ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังครองตำแหน่งตลาดการซื้อขายที่มีสภาพคล่องสูงสุดในปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 109% จากปี 2561 ส่วนตลาดที่มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการซื้อขายมากที่สุดคือสิงคโปร์ โดยปรับเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าจาก 129 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 เป็น 1.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 ส่วนประเทศไทย มูลค่าการลงทุนซื้อขายโรงแรมในปี 2562 มีสัดส่วนคิดเป็น 1% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นในเอเชีย ลดลงจากปี 2561 ที่มีสัดส่วน 9%


#Phuket #Thailand #กินไหนดีภูเก็ต #มีเดียภูเก็ต #ข่าวภูเก็ต #ท่องเที่ยวภูเก็ต #อาหารภูเก็ต #ช้อปปิ้งภูเก็ต #โรงแรมภูเก็ต #อสังหาฯภูเก็ต #เศรษฐกิจภูเก็ต www.phuketprice.com #ภูเก็ตไพรซ์