เผยธุรกิจการท่องเที่ยว วิถีชีวิต“ชาวเล”ถูกบีบคั้น

         รวมญาติชาติพันธ์ชาวเล ครั้งที่ 10 “10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เผยยังมีแต่ความว่างเปล่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการประกาศเขตอนุรักษ์ ทำให้วิถีชีวิตถูกบีบคั้นอย่างรุนแรง

         เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563  บริเวณหน้าชายหาดราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน รวมญาติชาติพันธ์ชาวเล ครั้งที่ 10 “10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” โดยมีนายสุทา ประทีป ณ ถลาง ส.ส.ภูเก็ต, ผู้แทนกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ฯ, ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, มูลนิธิชุมชนไท, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  เทศบาลตำบลราไวย์, พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการแก้ปัญหาฯ  ชาวเล, นางเตือนใจ ดีเทศน์  อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,   ผู้แทนหน่วยราชการ  ตลอดจนพี่น้องชาวเลในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล และระนอง จำนวนกว่า 500 คนเข้าร่วม

        ภายในงาน มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การแสดงทางวัฒนธรรมของชาวเลกลุ่มต่าง ๆ, เวทีเสวนา เรื่อง กฎหมายส่งแสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ : เพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม, นิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนชาวเลในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น

         นางแสงโสม หาญทะเล ตัวแทน ชาวเลเกาะหลีแป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า การจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 10  ในหัวข้อ “10 ปี มติคณะรัฐมนตรี ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่ กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”  ถือว่ามีความสำคัญต่ออนาคตของพวกเราเป็นอย่างยิ่ง โดยเราเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่ทะเลอันดามันมากว่า 300 ปี มี 3  เผ่า คือมอแกน  มอแกลน และอูรักราโว้ย  มีการประกอบอาชีพหากินแบบพอเพียง และพึ่งพิงธรรมชาติ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ  การพัฒนาการท่องเที่ยว การประกาศเขตอนุรักษ์ทั้งทางทะเลและในเขตป่า  ทำให้วิถีชีวิตของชาวเลถูกบีบคั้นอย่างรุนแรง

           “และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ  ทั้งการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย  การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงโดยผ่อนปรนพิเศษในการใช้อุปกรณ์ดั้งเดิม การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาสัญชาติ  การส่งเสริมด้านการศึกษาหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวเล   การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์  การส่งเสริมด้านภาษาวัฒนธรรม  การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง  รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริมวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล แต่ผ่านมา 10 ปี ปัญหาของชาวเลยังไม่ได้รับการแก้ไข แถมยังมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เสียงเรียกร้องหายไปกับสายลม  พวกเรายังถูกทิ้งไว้ข้างหลังและถูกละเมิดสิทธิมาอย่างต่อเนื่อง”

          นางแสงโสม  กล่าวต่อไปว่า ชาวเลมีจำนวนประมาณ 12,000  คน  รวม 44  ชุมชน  กระจายใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล  มีปัญหาของชาวเล โดยภาพรวม ได้แก่ ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย  มี  25 ชุมชน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง ทั้งๆ ที่อาศัยมายาวนาน กลายเป็นที่ดินรัฐหลายประเภททั้งป่าชายเลน  กรมเจ้าท่า ป่าไม้ เขตอุทยานฯ  กรมธนารักษ์ และอื่นๆ  เช่น ชุมชนชาวเลสะปำ ภูเก็ต, ชุมชนชาวเลเกาะสุรินทร์ พังงา, ชุมชนชาวเลเกาะเกาะพีพี กระบี่ เป็นต้น สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน  จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง มีทั้งการออกเอกสารมิชอบทับที่ ถูกรุกล้ำแนวเขต  ถูกห้ามฝังศพ  เช่น พื้นที่บาราย ของชาวเลราไวย์ ภูเก็ต, สุสานเกาะหลีเป๊ะ สตูล  เป็นต้น

          ปัญหาการถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชนออกเอกสารมิชอบทับชุมชน โดยเฉพาะ ชุมชนชาวเลราไวย์  ชุมชนชาวเลบ้านเกาะสิเหร่ ภูเก็ต และชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  สตูล  ถูกดำเนินคดี  29 คดี  มีชาวเลเดือดร้อนมากกว่า 3,500 คน, ปัญหาที่ทำกินในทะเล จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า เดิมชาวเลหากินตามเกาะแก่งต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า  27 แหล่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง  2 แหล่ง มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ จับกุมพร้อมยึดเรือเพิ่มขึ้น, พื้นที่หน้าชายหาดซึ่งทุกคนควรใช้ร่วมกัน ผู้หญิงชาวเลใช้ หาหอย หาปู  วางเครื่องมือประมง และที่จอดเรือก็กลายเป็นสิทธิของโรงแรม และนักท่องเที่ยว เช่น หน้าหาดราไวย์ ทางธุรกิจเอกชนพยายามปิดทางเข้าออกหาด, ที่จอดเรือของเกาะหลีเป๊ะ และเกาะพีพี ถูกบีบบังคับ กดดันไม่ให้จอดเรือ, ปัญหาเรื่องการศึกษาภาษาและวัฒนธรรม กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่  ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ขาดความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม ทำให้กำลังจะสูญหาย, ปัญหาเรื่องสุขภาวะ  ด้วยปัญหารอบด้านทำให้เกิดความเครียด บางส่วนติดเหล้า และชาวเลมีปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆตามมา  และปัญหาการไร้สัญชาติ ยังมีชาวเลกว่า 400 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะ ชาวเลมอแกน เกาะสุรินทร์ พังงา เกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม  จ.ระนอง

          นางแสงโสม กล่าวด้วยว่า ปัญหาชาวเล เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงทำให้ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาไม่อาจจะแก้ปัญหาได้โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี 2 มิ.ย. 53 เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ สามารถคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และเอื้อต่อการแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามนโยบายรัฐบาล

         ขณะที่ นายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเลมาโดยตลอด จะเห็นว่าในปี 53 มีมติครม. เห็นชอบในแนวทางการฟื้นฟูอนุรักษ์กลุ่มชิติพันธุ์ชาวเล และในปี 61 ยุทธศาสตร์ 20 ปี ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาวเลในด้านสังคมซึ่งได้มีการพูดถึงการสร้างโอกาสความเสมอภาคด้านสังคม และในแผนปฏิรูปปี 61 ได้มีการพูดถึงร่าง พรบ.จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 64 ,65

           ขณะที่ในส่วนของท่านนายกรัฐมนตรี เองก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และล่าสุดเมื่อต้นเดือน มกราคม ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการเข้ามาดูแลปัญหาพี่น้องชาวเลโดยเฉพาะ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นประธาน ซึ่งในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบดีว่า พี่น้องชาวเล ที่มีกว่า 12,000 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัดอันดามันมีปัญหาสำคัญมากมายโดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่มีที่ดิน รวมทั้งปัญหาขัดแย้งกับภาคเอกชน มีการถูกฟ้องร้องขับไล่ รวมทั้งพื้นที่สุสาน และ อื่นๆ รวมทั้งข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ทำกินทางทะเลจากการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ของทางภาครัฐ

            นายพงศ์บุญย์ กล่าวต่อว่า ทราบดีว่าชาวเลมีวิถีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อยู่อย่างพอเพียงพึงพิงธรรมชาติ แต่ปัจจุบันประเทศมีการพัฒนาไปมากในทุกๆด้าน โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน ดังนั้นพี่น้องชาวเลเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับการพัฒนาดังกล่าว ในขณะเดียวกันทางภาครัฐก็จะต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเลให้เดินหน้าควบคู่กันไปด้วย โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความสุขการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน การช่วยเหลือสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องชาวเลมีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง สามารถอยู่ได้ภายใต้คุณภาพที่ดีและภาคใต้ความสมบูรณ์ของคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ทางกระทรวงทรัพย์จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น

————————————————-
#Phuket #Thailand #กินไหนดีภูเก็ต #มีเดียภูเก็ต #ข่าวภูเก็ต #ท่องเที่ยวภูเก็ต #อาหารภูเก็ต #ช้อปปิ้งภูเก็ต #โรงแรมภูเก็ต #อสังหาฯภูเก็ต #เศรษฐกิจภูเก็ต www.phuketprice.com #ภูเก็ตไพรซ์