ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 68

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 68

              วันที่ 6 พ.ค. 68 นายทัดลาภ เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 68 ณ ห้องประชุมท่าวัง 2 โรงแรมวังใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

              นายทัดลาภ กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 68 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ตามการบริโภคที่ทรงตัว โดยมีแรงส่งจากรายได้ภาคเกษตรและท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวช่วงต้นไตรมาส อย่างไรก็ตาม การบริโภคชะลอลงช่วงปลายไตรมาสตามรายได้ท่องเที่ยวที่ลดลงเนื่องจากเป็นช่วงถือศีลอดและนักท่องเที่ยวจีนกังวลด้านความปลอดภัย ขณะที่หมวดยานยนต์ยังคงหดตัว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตามภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการผลิตหดตัวจากปัญหาวัตถุดิบ และความต้องการของคู่ค้าที่ลดลง สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี 68 คาดว่าหดตัวจากไตรมาสก่อน โดยการบริโภคชะลอลงตามแรงส่งจากรายได้ภาคเกษตรและท่องเที่ยวที่แผ่วลง อีกทั้ง คาดว่าความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศจะทำให้การผลิตและส่งออกชะลอลงเช่นกัน

               นอกจากนี้ นายทัดลาภได้ประชาสัมพันธ์โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่ประสบปัญหาหนี้สิน โดยได้มีการขยายระยะเวลารับลงทะเบียนต่อไปอีก 2 เดือน จนถึง 30 มิถุนายน 68 จากเดิมสิ้นสุด 30 เมษายน 68 ลูกหนี้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์แบงก์ชาติ www.bot.or.th/khunsoo หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ call center แบงก์ชาติ โทร 1213 ต่อ 99

                ในช่วงท้าย นายทัดลาภยังได้กล่าวถึงพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 (พ.ร.ก.) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 68 ที่ผ่านมา ว่า ธปท. ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงิน (e-money) ดังนี้
1. ต้องป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ
2. ต้องจำกัดความเสียหายและจัดการบัญชีม้า
3. ต้องดูแลประชาชน หากผู้ให้บริการละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่ผู้กำกับดูแลกำหนด ผู้ให้บริการต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายของลูกค้า

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย จึงขอให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินด้วยความระมัดระวัง และตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมอย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี