“สิทธิมนุษยชนกับธุรกิจอย่างยั่งยืน” จุดประกายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอันดามัน

“สิทธิมนุษยชนกับธุรกิจอย่างยั่งยืน” จุดประกายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอันดามัน

                เสริมพลังธุรกิจ เสริมสิทธิฯ กสม. จัดเวิร์กช็อปยกระดับธุรกิจยั่งยืนในพื้นที่อันดามันสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดโครงการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนแก่ภาคธุรกิจ ภายใต้กิจกรรม “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและเคารพสิทธิมนุษยชน”

               วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมซีเบด แกรนด์ จังหวัดภูเก็ต กำหนดการประชุมเชิงปฎิบัติการ เพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 ของ กสม. (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดอันดามันกว่า 40 คน

               นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของ กสม. ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคธุรกิจในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยเน้นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่และบทบาทของภาคเอกชนในการผลักดันวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในองค์กร

             นายสมาวิษฎ์ สุพรรณไพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของจังหวัดภูเก็ตในบริบทของการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างเคารพสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า “ภูเก็ตในวันนี้ต้องเติบโตอย่างสมดุล ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ แต่รวมถึงคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนของทุกกลุ่มคนในสังคม”

              ในช่วงเสวนา มีผู้แทนจากภาคส่วนสำคัญร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ได้แบ่งปันมุมมองด้าน “สิทธิมนุษยชนในมิติสถาบันการเงิน” และแนวทางการบริหารจัดการที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

              รศ.ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง การประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนในยุคปัจจุบัน โดยย้ำถึง “ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่ธุรกิจ”

ทั้งนี้ กสม. ได้สนับสนุนการจัดทำ “นโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน” ให้กับกลุ่มธุรกิจในพื้นที่ภูเก็ต ซึ่งมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 4 รายที่เข้าร่วม ได้แก่
1. บริษัท ทวีภัณฑ์ ภูเก็ต จำกัด
2. บริษัท อันดามัน แทร็คกิ้ง จำกัด
3. บริษัท เจ.ดี พูลล์ จำกัด
4. บริษัท คณแม่จู้ จำกัด

           เป้าหมายสำคัญของกิจกรรมครั้งนี้ คือการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ภายใต้เครือข่าย Young Entrepreneur Chamber of Commerce (VEC) ในกลุ่มจังหวัดอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง และตรัง เพื่อเสริมสร้างแนวคิดการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ลดความเสี่ยงจากการละเมิด และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืนในระยะยาว

           โครงการดังกล่าวสะท้อนแนวโน้มที่ภาคธุรกิจไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่แค่ในมิติทางสังคม แต่รวมถึงความยั่งยืนทางธุรกิจในระยะยาว กสม. ได้ใช้กลไกเชิงรุก โดยจับมือกับภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาครัฐ สร้างเวทีที่เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยน ความเข้าใจ และการพัฒนาร่วมกัน

            สิ่งที่น่าสนใจ คือ การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ถือเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไทยไปสู่ระบบที่เคารพสิทธิ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ หากโครงการนี้สามารถขยายผลได้อย่างต่อเนื่องและครอบคลุม จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถยกระดับภาพลักษณ์ธุรกิจในเวทีโลกได้อย่างมีศักยภาพ

#สิทธิมนุษยชน #ธุรกิจยั่งยืน #กสม #PhuketHumanRights #SMEsAndHumanRights #AndamanBusiness #VECรุ่นใหม่สร้างชาติ #ยั่งยืนเพื่ออนาคต #CSRNextStep
#phuketprice #phuket #phuketmeedee