คณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) รุ่นที่ 10 สถาบันพระปกเกล้า ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตศึกษาดูงาน ณโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตและโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

             คณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) รุ่นที่ 10 สถาบันพระปกเกล้า ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตศึกษาดูงาน ณโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตและโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เพื่อเพิ่มพูนความรู้และวิสัยทัศน์ให้แก่นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า ในการนำปัญหาสาธารณสุขของประเทศมาร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไขแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ด้วยการบริหารงานสมัยใหม่บนหลักธรรมาภิบาล

             วันที่ 27 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ให้การต้อนรับ พล.อ.ท. นพ.อิทธพร คณะเจริญ ผู้อำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง(ปธพ.) / เลขาธิการแพทยสภา,นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า,รศ. นพ. วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ประธานนักศึกษา ปธพ.10/ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช,คณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) รุ่นที่ 10 สถาบันพระปกเกล้า และคณะเจ้าหน้าที่ จำนวน 145 คน ศึกษาดูงาน ณ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยรับฟังการบรรยายสรุป การบริหารจัดการโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลหลักของจังหวัดภูเก็ต และจัดอยู่ในประเภทโรงพยาบาลระดับภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุขและเยี่ยมชมโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมีจุดเด่นของการบริหารจัดการ การแพทย์และสาธารณสุข ในการรองรับสถานการณ์ในภาวะวิกฤต อาทิ ภัยพิบัติสึนามิ สถานการณ์โควิด 19 ควบคู่การดูแลนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยวางเป้าหมายการยกระดับจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อวางรากฐานระบบสุขภาพของคนในจังหวัดให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย

               โอกาสนี้ นางสาวเกตุวดี ปิยะเมธินรุจน์ ผู้แทนการตลาด สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคใต้ (สสปน.) ได้นำเสนอข้อมูลที่ประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตกำลังเดินหน้าเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด Specialised Expo 2028 เพื่อเป้าหมายในการโปรโมทเป็น Medical&Wellness Hub การพัฒนาเมืองสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยได้ขอความร่วมมือจากคณะนักศึกษา ปธพ.10 ร่วมเสนอข้อมูลทางด้านการแพทย์และสุขภาพเพื่อนำไปประกอบในการจัดทำข้อมูลที่จะนำไปเสนอ ต่อประเทศสมาชิก BIE ที่จะประเทศฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ต่อไป

               จากนั้นในช่วงบ่ายคณะนักศึกษา ปธพ.10 เดินทางไป โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โดยมีพญ.ลลิตา กองสีหา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ให้การต้อนรับพรัอมบรรยายสรุป การบริหารจัดการโรงพยาบาลภาคเอกชนภายใต้ภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และนายแพทย์พิริยะ อธิสุข บรรยาย การบูรณาการด้านสาธารณสุขร่วมกับโครงการภูเก็ตแซนบ๊อกซ์

                ทั้งนี้ที่ผ่านมาโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ได้ขับเคลื่อน งานการแพทย์และการสาธารณสุข ไปพร้อมๆ กับนโยบายของจังหวัด เพื่อผลักดันประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical hub) โดยมีการพัฒนาการบริการด้าน Wellness Tourism ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ และพยายามขยายศักยภาพร่วมกับโรงแรมดูแลนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภายใต้การดูแลของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้ฟื้นฟูและดูแลร่างกายให้มีประสิทธิภาพขึ้นตลอดการมาพัก นอกจากนี้ยังเตรียมขยายขีดความสามารถด้านศักยภาพทางการแพทย์โดยเน้นไปที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellences) ประกอบด้วย ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน สถาบันโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สหสาขามะเร็งภูเก็ต ศูนย์หัวใจ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ทางกระดูกและข้อ เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยโรคที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น และขยายการให้บริการด้านการตรวจสุขภาพ ด้านเวชศาตร์ชะลอวัย กายภาพบำบัด เป็นต้น

                 และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ยังเป็นจุดหมายปลายทางของการรักษาสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นอกจากเรื่องของการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ก็มีคนไข้ต่างชาติไม่น้อยที่เดินทางเข้ามาเพื่อดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ทันตกรรม หรือแม้กระทั่งการเสริมความงาม ซึ่งโรงพยาบาลมีความพร้อมในการให้บริการด้านเหล่านี้ และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตได้พัฒนาศักยภาพด้านการเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยในระดับสากลในเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางบก โดยได้รับการรับรองมาตรฐานจากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (Commission on Accreditation of Medical Transport Systems :CAMTS and CAMTS EU: Dual Accreditation) และมีแผนขยายศักยภาพด้านการเป็นศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา ด้วยเฮลิคอปเตอร์ฉุกเฉินทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที พร้อมมองหาการสร้างช่องทางการตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่องทางการตลาดกับประเทศใหม่อย่างเช่น อาหรับ อินเดีย อินโดนีเซีย ด้วย

                พล.อ.ท. นพ.อิทธพร คณะเจริญ ผู้อำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง(ปธพ.) / เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า “หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง เป็นหลักสูตรที่รวมบุคลากรทางการแพทย์ระดับผู้บริหารทั้ง 5 กระทรวง ทั้งเอกชนและบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรอื่นๆมาเรียนรู้ระบบสุขภาพของประเทศด้วยกัน เพื่อที่จะบูรณาการในการทำงานต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาวางแผนพัฒนาระบบของสุขภาพประเทศไทย วันนี้มาที่ภูเก็ตเพราะว่าภูเก็ตเป็นต้นแบบหลายเรื่อง เป็นเมืองที่มีโรงพยาบาลที่ดูแลประชาชนบนเกาะและโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 และยังเป็นเมืองที่รับวิกฤตการณ์ของภัยพิบัติสึนามิ ในขณะเดียวกันก็เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย เพราะเป็นเมืองที่ทำรายได้สูงระดับต้น ๆ ของประเทศ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีประชากรที่เข้ามาทำงานจากหลายภาค มีประชากรแฝงและขณะเดียวกันก็มีการให้บริการสุขภาพกับชาวต่างชาติด้วย ด้วยความหลากหลายนี้ทำให้ การศึกษาดูงาน ได้เห็นการบูรณาการว่าการแพทย์นั้น ไม่ได้ทำงานเพียงกระทรวงเดียวหรือเฉพาะหมอเท่านั้น แต่ต้องทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงในหลายกระทรวงหลายภาคส่วน และยังเป็นตัวหลักที่นำไปสู่รายได้เข้าประเทศสำหรับต่างชาติด้วย ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ได้ลงพื้นที่ จังหวัดพังงาเพื่อศึกษาดูงาน โดยจังหวัดพังงาเป็นต้นแบบของจังหวัดที่มีประชากรน้อยแต่อยู่ห่างไกลเป็นชาวเกาะอยู่ในทะเล มีการบริการทางด้านสุขภาพที่แตกต่างกันเป็นการบริการที่ต้องผ่านการจราจรทางน้ำ ทางอากาศ ดังนั้นทั้งสองจังหวัดเป็นโมเดลของระบบสุขภาพที่แตกต่างกันของประเทศไทย เป็นโมเดลที่จะก้าวไปสู่ประเทศและระดับโลก ระดับประเทศของพังงาคือเมืองที่มีความสุขระดับ 2 ของประเทศ ขณะเดียวกันภูเก็ตก็เป็นเมืองความหลากหลายระดับต้น ๆ ของประเทศไทย และเป็นเมืองที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศด้วยระบบสุขภาพระดับต้น ๆ ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว และจากการที่จังหวัดภูเก็ตเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Expo 2028 ภูเก็ตไทยแลนด์ ในฐานะทีมประเทศไทยด้วยกัน เราทุกคนช่วยกันร่วมมือสนับสนุนโดยเฉพาะวงการแพทย์ โครงการประชุมวิชาการเกี่ยวกับด้านสุขภาพ แพทยสภาจะเข้ามาร่วมมือในการเป็นเจ้าภาพด้วยกับราชวิทยาลัยต่าง ๆ ในด้านองค์ความรู้ของการแพทย์ประเทศไทยได้”

              นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า “ในนามสถาบันพระปกเกล้า ต้องขอบคุณพื้นที่จังหวัดภูเก็ตโดยเฉพาะโรงพยาบาล วชิระภูเก็ต ที่ให้โอกาสนักศึกษา ปธพ.10 มาศึกษาดูงาน โดยการศึกษาดูงานในทุกพื้นที่จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะหลักสูตรนี้ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ก็จะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นภาคเอกชนสมทบ เพราะฉะนั้นการที่เราได้เรียนรู้เรื่องของการจัดการโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในหลายเรื่องโดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญและเรื่องของโรคระบาดโควิด19ที่พึ่งผ่านพ้นไป จังหวัดภูเก็ตเองก็เป็นหนึ่งจังหวัดที่บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักงาน วันนี้ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็จะเป็นประสบการณ์ในการทำงานให้กับพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่รัฐบาล ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยว โดยหลักสูตรนี้มีองค์ประกอบของผู้เรียนหลากหลาย สถาบันฯจึงอยากให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทุก ๆ พื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกสาขาอาชีพ นอกจากนี้สถาบันพระปกเกล้าให้ความสำคัญของการผลิตนักศึกษา ผู้บริหารระดับสูงที่เข้ามาร่วมอบรม ในเรื่องของ ความอ่อนน้อม ถ่อมตน ทุกคนมีดีอย่าดูถูกใคร โดยดำเนินตามรอยมาจากพระบิดาของ ร.9 พระบิดาพระองค์ทรงเป็นแพทย์ ที่ห่วงใยความเป็นอยู่และสาธารณสุขของคนไทยทั้งหมด พระองค์พยายามสอนและปลูกฝังให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องมีความเอื้ออาทร ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ในการที่จะดูแลคนที่เป็นคนไข้หรือคนที่เกิดปัญหาในเรื่องของสุขภาพ ซึ่ง พระองค์ทรงเป็นพระบิดาวงการแพทย์ของไทย”

                    ด้านรศ. นพ. วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ประธานนักศึกษา ปธพ.10/ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า “สำหรับหลักสูตรของ ปธพ. รุ่น 10 มีความหลากหลายของผู้เข้าร่วมการอบรมทุกภาคส่วนที่เข้ามา ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์สาธารณสุขและในส่วนที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องเพราะฉนั้นเหมือนเป็นการเปิดโลกให้ทั้งผู้ที่ดูแล ผู้บริหารทางด้านการแพทย์ และผู้บริหารทางด้านอื่น ๆ โดยหลักของการธรรมาภิบาลทางการแพทย์ คือการมีส่วนร่วม โดยมองประโยชน์ของส่วนร่วมในเรื่องของการคุ้มค่าเหมาะสม การดำเนินการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ สิ่งนี้คือการสร้างความยั่งยืนระบบ จากการที่เราได้เรียนในภาคทฤษฎีและในภาคของการมาศึกษาดูงานระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2566 จะเห็นได้ว่ารูปแบบเมื่อ วันที่ 26 มกราคม 2566 ไปโรงพยาบาลพังงา ก็เห็นว่าสามารถดำเนินงานได้ในการดำเนินการที่ตอบโจทย์ของคนในพื้นที่ การดำเนินงานนั้นก็สำเร็จ เมื่อสำเร็จก็จะได้รับการสนับสนุนก็สามารถผลักดันให้ไปสู่การยั่งยืนได้ ในขณะเดียวกัน วันที่ 27 มกราคม 2566 มาดูที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้เห็นถึงความพยายามของทีมงานวชิระภูเก็ต ว่าการดำเนินงานในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาทั้งสึนามิทั้งโควิดก็ต้องมีแกนหลัก ที่สำคัญก็คือว่าเราจะต้องอยู่ให้ได้ให้อยู่รอด เพราะฉะนั้นองค์กรของทางการแพทย์สาธารณสุขโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และวงการอื่น ๆ ก็ได้ผลักดันจนกระทั่งรอดมาได้ เพราะฉะนั้นนักศึกษาหลาย ๆ ภาคส่วนได้มาเห็น สามารถนำไปต่อยอด ได้และจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อไปสู่ความสำเร็จ”