ความเสี่ยงจากภัยแผ่นดินไหว แม้ไกลตัวแต่ต้องเตรียมพร้อม

     

           “เขย่ารู้สู้ภัย ด้วยรถแผ่นดินไหว”  สโลแกน “รถสาธิตแผ่นดินไหว” ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีการจัดทำขึ้น เพื่อใช้ในการจำลองเหตุการณ์แผ่นดินไหว เสมือนจริงภายในรถสาธิตแผ่นดินไหวเคลื่อนที่ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้พัฒนารถสาธิตฯ คันนี้ขึ้น จากรถบรรทุก 6 ล้อ โดยอาศัยต้นแบบ มาจากรถสาธิตแผ่นดินไหวของประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้เป็นสื่อเรียนรู้ภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับประชาชน ทั่วไป เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างถูกวิธีตามหลักการ “หมอบ ป้อง เกาะ” เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยแผ่นดินไหว และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว

         กลไกสำคัญของรถแผ่นดินไหว คือ  การทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือน ที่มาจาก ระบบไฮดรอลิก ที่ติดตั้งอยู่บนตัวรถ มีการควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีระดับแรงสั่นสะเทือนสูงสุดถึง 8 แมกนิจูด ตามที่กรมทรัพยากรธรณีตรวจสอบว่า มีความเสมือนจริง โดยสิ่งที่รถสาธิตแผ่นดินไหวเคลื่อนที่คันแรกของไทยนี้ แตกต่างจากของญี่ปุ่นคือ การสั่นสะเทือน ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสามารถที่จะเรียนรู้ และสามารถเตรียมความพร้อมได้หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง

         แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นที่แหล่งกำเนิด หรือศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงบ่อยครั้ง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวของประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเทศไทยเองตั้งอยู่บน 14 รอยเลื่อน ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ครอบคลุม 22 จังหวัด ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุขึ้นโอกาสการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินก็จะตามมาด้วย ดังนั้นหากเราสามารถที่จะเรียนรู้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้ก็จะช่วยลดความตื่นตระหนก หรือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะเรื่องของภัยธรรมชาตินั้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว แต่จะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่มีใครรู้ เพราะประเทศของเรานั้นมีแนวรอยเลื่อนที่พาดผ่าน และเมื่อใดที่จุดศูนย์กลางเกิดปัญหาก็จะส่งผลกระทบมาตามแนวรอยเลื่อนด้วย

         จะว่าไปแล้วการเตรียมความพร้อมของการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ นั้นถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาวะที่มีการแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ภัยใดจะเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องมีการเรียนรู้ ในการป้องกันและรับมือ หากเกิดเหตุขึ้นจะได้ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป และจะได้ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตหรือทรัพย์สิน เพราะเราไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดภัยธรรมชาติได้ แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อจะอยู่ และลดความสูญเสียที่จะเกิดจากภัยนั้นๆ ได้

         อย่างไรก็ตามกลุ่มที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ เพื่อจะได้นำไปถ่ายทอดต่อ คือ กลุ่มของเยาวชน  และหากจะสอนแต่เพียงในตำราก็คงไม่น่าจะสนใจมากนัก หรือบางครั้งก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้นการนำ “รถแผ่นดินไหวเคลื่อนที่” ออกเดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงจึงเป็นเรื่องจำเป็น และสามารถเข้าถึงกลุ่มเหมาหมายได้ง่าย ในการที่จะสร้างความตื่นรู้ว่าภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว  และที่สำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติธรรมชาติแผ่นดินไหว และการสื่อสารเรียนรู้ภัยพิบัติแผ่นดินไหวให้แก่ประชาชนทั่วไปในการปรับพฤติกรรมการรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ