จี้หาจุดขาย“สับปะรด” เป็นสินค้าอัตลักษณ์ ต้องมีข้อมูลแหล่งผลิต

         ผู้ว่าฯจังหวัดภูเก็ต ประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเกษตรผู้ปลูกสับปะรด และผักเหมียง มอบนโยบายการผลิตพืชผักและผลไม้ ให้มีความปลอดภัย สามารถยกระดับสู่ระดับเกษตรอินทรีย์ ย้ำเรื่องจุดจำหน่าย โดยเฉพาะสับปะรด เป็นสินค้าอัตลักษณ์ ต้องมีข้อมูลแหล่งผลิต ผ่านการรับรอง มีทะเบียน และบาร์โค๊ต

         เมื่อบ่ายวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมการวางแผนด้านการเกษตร โดยมี นายปารเมศ ทองปรีชา เกษตรจังหวัดภูเก็ต นายชาลี ลิตบุศย์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูเก็ต และ เกษตรกรผู้ปลูกผักเหมียง

         ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ปลูกสับปะรดภูเก็ตอยู่ประมาณ 2,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้อยมากเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะมีเพียง 3 อำเภอ พื้นที่ค่อนข้างจำกัด ไร่สับปะรดดังกล่าวอยู่ในอำเภอถลางแทบทั้งหมด ส่วนอำเภอกระทู้มีไร่สับปะรดจำนวนไม่มาก เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมีประมาณ 50 ราย ผลผลิตทั้งหมดประมาณ 11,962 ตัน ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 3,300 ผล คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 128 ล้านบาท ต่อปี

         ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้มอบนโยบายการผลิตพืชผักและผลไม้ ให้มีความปลอดภัย สามารถยกระดับสู่ระดับเกษตรอินทรีย์ เพื่อจะทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต สร้างจุดจำหน่ายพืชผัก ผลไม้ภูเก็ต เพื่อยกระดับผลผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะสับปะรดภูเก็ต ซึ่งเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดภูเก็ต / ซึ่งจุดจำหน่ายดังกล่าวจะเป็นสินค้าที่มาจากเกษตรกรที่ผลิตภายในจังหวัดภูเก็ต เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของภูเก็ต และมีความปลอดภัย ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการรับรอง และมีข้อมูล สามารถทราบถึงแหล่งผลิตได้ มีทะเบียนและบาร์โค๊ด

         โดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตจัดทำทะเบียนผู้ผลิต ข้อมูลปริมาณผลผลิต วิเคราะห์ต้นทุนการผลิตของสินค้าเกษตรแต่ละชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจะได้ประสานกับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ เพื่อรองรับผลผลิตแก่เกษตรกร และจะมีการทำข้อตกลงกันในขั้นตอนต่อไปด้วย