ทช.ร่วมนักดำน้ำไทย-เทศ ปลูกปะการังบริเวณเกาะไข่

          ส่วนอนุรักษ์ฯ ทช. ร่วมกับนักดำน้ำทั้งชาวไทยและต่างชาติ ปลูกและฟื้นฟูปะการัง เกาะไข่ใน จ.พังงา กว่า 95 ชิ้น เผยพบปะการังบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม สาเหตุหลักฟอกขาว จากกิจกรรมท่องเที่ยว การทิ้งสมอเรือ

          ในระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ( ทช.) โดยส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทัพยากรทางทะเล สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำโดย นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ฯ และ นายฉัตรชัย พฤกษชาติ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ หัวหน้าโครงการฟื้นฟูแนวปะการังเสื่อมโทรม โดยการมีส่วนร่วม เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมของ จ.ภูเก็ต และพังงา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการท่องเที่ยว อาสาสมัครนักดำน้ำ ไดฟ์มาสเตอร์ ครูสอนดำน้ำ นักท่องเที่ยวดำน้ำ และภาคประชาชน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการังในพื้นที่ต่างๆ  ด้วยการจัดกิจกรรมปลูกและฟื้นฟูปะการังในพื้นแนวปะการังที่เสื่อมโทรมบริเวณเกาะไข่ใน อ.เกาะยาว จ.พังงา (เป็นวิธีการซ่อมแซมแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบแตกหัก) มีผู้ประกอบการร้านดำน้ำเกาะไข่ ได้แก่ บริษัทซีแองเจิล จำกัด บริษัท ฟ้ารุ่ง จำกัด ผู้ประกอบดำน้ำจากจังหวัดภูเก็ต ร้านสคูบ้าแคท ส่งนักดำน้ำเข้าร่วม และมีอาสาสมัครนักดำน้ำทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วมรวม 25 คน โดยสามารถทำการปลูกและซ่อมแซมปะการังได้จำนวน 960 ชิ้น

         

         นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูฯ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการปลูกปะการังโดยการเก็บเศษปะการังที่แตกหักเสียหายจากกิจกรรมการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางน้ำ ตลอดจนคลื่นลมตามธรรมชาติ ที่หล่นตามพื้นแล้วนำมาผูกติดบนก้อนหรือซากปะการังที่ตายแล้ว โดยใช้สายเคเบิ้ลไทร์ รัดยึดติด จากการดำเนินการ 2 วัน สามารถปลูกปะการังได้ 960 ชิ้น ทั้งนี้จะได้ติดตามอัตราการรอดตาย และการเจริญเติบโตต่อไป โดยวิธีการนี้จะนำไปขยายผลส่งเสริมให้กลุ่มนักท่องเที่ยวดำน้ำ ไดฟ์มาสเตอร์ ครูสอนดำน้ำดำเนินการด้วย กรณีที่พบเจอเศษปะการังแตกหัก เพื่อช่วยให้ปะการังรอดตาย เช่นเดียวกับการเก็บขยะเมื่อเจอใต้น้ำ แต่สิ่งที่ต้องควรระวังขณะที่ติดปะการัง คือ นักดำน้ำจะต้องปรับการลอยตัวให้ดีเพื่อไม่ให้ไปโดนปะการังข้างๆ เสียหายไปด้วย

          อย่างไรก็ตามสำหรับแนวปะการังส่วนใหญ่บริเวณเกาะไข่ จะจัดอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม คิดเป็นสัดส่วนปะการังมีชีวิตต่อปะการังตายประมาณ 35-40:60 สาเหตุหลักเนื่องจากการฟอกขาวของปะการังและกิจกรรมท่องเที่ยว การทิ้งสมอเรือ การเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยว กิจกรรมดำน้ำ แต่แนวปะการังเกาะไข่ยังมีศักยภาพและสามารถฟื้นฟูได้ แต่ต้องลดภัยคุกคามและต้องมีการโซนนิ่งและมีมาตรการควบคุมกิจกรรมท่องเที่ยว  ซึ่งพบว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการดำเนินการ นายไพทูล กล่าว