ท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมเข้าร่วมโครงการจัดอับดับท่าอากาศยาน “Take off HKT ready for ASQ”

         เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 61 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ณ โรงแรม เดอะซเลท ภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทภก.ทอท.) จัดงาน “Take off HKT Ready for ASQ” โดยมี นาวาอากาศเอก วิสูธ จันทนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต, ร.ต.ธานี ช่วงชู รองผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานภูเก็ต สายสนับสนุนธุรกิจ, หัวหน้าส่วนงานต่างๆ ของท่าอากาศยาน, ตัวแทนจากสายการบินต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการและผู้ให้บริการด้านต่างๆ ภายในสนามบิน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานที่ผ่านมา

        การจัดงาน “Take off HKT Ready for ASQ” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยาน (Airport Service Quality : ASQ) ของสภาท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airport Council International : ACI) และเพื่อให้ท่าอากาศยานภูเก็ต มีระบบมาตรฐานสากลคอยติดตามคุณภาพการบริการของทุกหน่วย มีความถูกต้องเหมาะสมการใช้งบประมาณในการปรับปรุงการบริการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงกระตุ้น และความร่วมมือจากหน่วยงานในท่าอากาศยาน ซึ่งภายหลังจากการเปิดตัวโครงการ “Take off HKT Ready for ASQ” นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “HKT Ready for ASQ” โดย นาวาอากาศเอก วิสูธ จันทนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค พร้อมด้วย นายอนันต์  ฉัตรศรัทธา รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย พัฒนานวัตกรรมและคุณภาพการบริการ นายธนากร  ศรีหมาศ  ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรการการบินภูเก็ต และ พันตำรวจโทหญิงอารมณ์ ขวัญเนตร รองผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต เกี่ยวกับมุมมองการยกระดับคุณภาพการบริการที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) หรือ Thailand 4.0

         สำหรับ การเข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยานของท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ท่าอากาศยานภูเก็ต สายการบินและหน่วยงานที่ให้บริการภายในท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อยกระดับการให้บริการและเป็นการกำหนดทิศทางในการให้บริการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการเข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยานของท่าอากาศยานภูเก็ตนั้น จัดอยู่ในประเภทท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสาร 15 – 25 ล้านคนต่อปี  ซึ่งท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นท่าอากาศยานลำดับที่ 4 ของ ท่าอากาศยานไทยที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้มีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานนำร่อง ประเภทท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากกว่า 40 ล้านคนต่อปี ตามมาด้วยท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่เข้าร่วมในประเภทท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสาร 5-15 ล้านคนต่อปี และยังสามารถคว้ารางวัล อันดับที่ 3 ของโลกในปี พ.ศ.2559  และในปี พ.ศ.2560  ต่อมาท่าอากาศยานดอนเมืองได้เข้าร่วมประเภทท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสาร 25-40 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีท่าอากาศยานที่เข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยานทั่วโลก จำนวน 346 ท่าอากาศยาน กระจายอยู่ใน 86 ประเทศทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก มีท่าอากาศยานที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 99  ท่าอากาศยาน

         ส่วนทางด้าน นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ได้กล่าวถึง การเข้าร่วมในโครงการครั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับความพึงพอใจของการให้บริการ เป็นนโยบายหนึ่ง ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทุกท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่าอากาศยานไทย อาทิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานภูเก็ต ก็จะต้องเข้าร่วมโครงการนี้ทั้งหมด สำหรับจังหวัดภูเก็ตของเราเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างจะได้เปรียบ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมีความประสงค์ ที่อยากจะเดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดภูเก็ต เพราะฉะนั้นท่าอากาศยานภูเก็ตจึงเปรียบเสมือนประตูบ้านที่จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาเรื่องของการบริการที่มีให้มีความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ใช้บริการ เพราะฉะนั้นการเข้าร่วมโครงการนี้เป็นสิ่งที่ดี อย่างน้อยเราก็ได้มีการปรับเปลี่ยนหรือดำเนินการ และที่สำคัญการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ต ศุลกากรท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัทสายการบิน พนักงานการท่าทุกคน แม้แต่แม่บ้าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ที่จะดำเนินการช่วยในการพลักดันให้กับท่าอากาศยานภูเก็ตบรรลุตามวัตถุประสงค์

        การเข้าร่วมโครงการในปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ต อยู่ระหว่างการพัฒนาซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านกายภาพ และเมื่อโครงการพัฒนาเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2561 จึงถือว่า ท่าอากาศยานภูเก็ต มีความพร้อมในการเข้ารับการประเมินคุณภาพการให้บริการ และจะพัฒนาการให้บริการให้มีความทัดเทียมกับท่าอากาศยานในระดับสากล ซึ่งการเข้าสู่โครงการ การจัดอันดับท่าอากาศยาน หรือ ASQ นั้น เป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันให้บริการกับผู้โดยสารให้เกิดความประทับใจสูงสุด ทั้งทางท่าอากาศยาน, สายการบิน, หน่วยงานที่ให้บริการอยู่ในสนามบิน รวมถึงตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ร้านค้าต่างๆ ไปจนถึงแม่บ้าน นายเพ็ชร กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด