นายกฯ​นำครม.สัญจร​ลงภูเก็ต​ ประชุมหารือทุกภาคส่วน​ เคาะมาตรการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวจ.ภูเก็ต​

นายกฯ​นำครม.สัญจร​ลงภูเก็ต​
ประชุมหารือทุกภาคส่วน​ เคาะมาตรการ
ฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวจ.ภูเก็ต​

 

          เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15.30-17.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมดวงชนก โรงแรมดวงจิตต ์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัด ภูเก็ต โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต​ และในกลุ่มจังหวัดอันดามัน รวมถึง​ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนภาคเอกชนของจังหวัดภูเก็ต​

           โดยวัตถุประสงค์ สำคัญของการลงพื้นที่ภาคใต้ทั้งจ.สุราษฎร์ธานีและจ.ภูเก็ตในครั้งนี้เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนปัญหา ความเดือดร้อนของทุกภาคส่วน รวมทั้งเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจและนักลงทุนในพื้นที่ พร้อมช่วยกันหาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เหมาะสมร่วมกันโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือ ในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งนี้ ประเด็นของการหารือที่ สำคัญ ประกอบด้วย 4​ หัวข้อหลักๆ​ คือ​ 1.​ ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ต 2.​ ข้อเสนอมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ต เสนอโดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและผู้แทนภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ต 3.​ มาตรการส่งเสริมการจัดแพ็คเกจท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 4.​ มาตรการส่งเสริมการจัดสัมมนาของภาครัฐในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เสนอโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยสามารถสรุปสาระสำคัญของการประชุมหารือได้​ ดังนี้.

          1 ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ต เสนอโดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก​ ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศสูงสุด เป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 14.5 ล้านคน สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 4.7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี เนื่องจากภูเก็ต​ มีสัดส่วนพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 90 ของรายได้จากการท่องเที่ยวรวม จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบรุนแรงมาก​ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งนำไปสู่การจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของหลาย ประเทศรวมทั้งประเทศไทย โดยคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 จะอยู่ที่ 614,076 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ประมาณร้อยละ 80 ส่งผลให้สถานประกอบการเป็นจำนวนมากต้องปิดกิจการลงและส่งผลกระทบต่อเนื่อง​ ไปยัง รายได้ของภาคครัวเรือนซึ่งเป็นผลกระทบจากการลดลงของการจ้างงาน ดังจะเห็นจากข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2563 ที่มีจำนวนสถานประกอบการที่ทำประกันสังคมมีทั้งหมด 11,070 แห่ง โดยมีจำนวนผู้ประกันตนตาม ม.33 ม.39 และ​ ม.40 จำนวน 120,847 คน 36,659 คน และ 32,094 คน ตามลำดับ

          2 ข้อเสนอมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ

                     1. สร้างงาน สร้างรายได้เพื่อยังชีพ

                    2.​สนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้เปราะบาง

          3. วางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะต่อไป เสนอโดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนภาคเอกชน

3.1 มาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามันในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย การปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน อาทิ เพิ่มแรงจูงใจใน การเดินทางในวันธรรมดา ขยายประเภทธุรกิจที่ได้รับสิทธิประโยชน์ และขยายระยะเวลาโครงการไปจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2564
3.2 การส่งเสริมให้มีการจัดประชุม สัมมนาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.3 การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับการกีฬา อาหาร และ สันทนาการ
3.4 การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพมหานคร-ภูเก็ต ในช่วงสุดสัปดาห์ จากสายการบินไทยสไมล์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564
3.5 มาตรการ ส่งเสริมการจ้างงานเร่งด่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมให้เกิดการช่วยเหลือตนเองด้วยการปลูกพืชสวนครัว โครงการสนับสนุนการปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และ เพาะพันธุ์กล้าไม้ป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของจังหวัดภูเก็ต โครงการภูเก็ตเมืองสะอาดการรักษา การจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเน้นไปที่ธุรกิจโรงแรม สปา และบริษัทนำเที่ยว และการปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง
3.6 มาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย การขยายเวลาพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในสินเชื่อเพื่อธุรกิจ รวมถึงวงเงินสินเชื่อเช่าซื้อที่มีอยู่ปัจจุบันออกไปจนถึงธันวาคม 2564 การจัดตั้งวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดอันดามัน เป็นการเฉพาะและการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม สปา และ บริษัทนำเที่ยว
3.7 แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามแนวทาง 5T
3.8 การจัดตั้งคณะทำงาน Phuket Sandbox เพื่อปรับปรุง แก้ไข กระบวนงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตในประเทศไทย ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวและจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจที่เกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ต

4. มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตเพื่อวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไป ประกอบด้วย
1. โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย โครงการพัฒนาคุณภาพการคัดกรองด่านตรวจภูเก็ต โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ (สาย บ.เมืองใหม่ – บ.เกาะแก้ว) ระยะทางรวม 22.4 กิโลเมตร
2. โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยโครงการในระยะที่หนี่ง ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติ ครบวงจร ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ ศูนย์ใจรักษ์ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร สำหรับในระยะที่ 2 ประกอบด้วย การจัดตั้งสถาบันบำราศนราดูร สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน และศูนย์มะเร็ง ในพื้นที่อันดามัน อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนโครงการ อาทิ ท่าอากาศยานนานาชาติ ภูเก็ต ถนนสายหลัก และพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งสู่ความเป็น Smart City
3. การให้สิทธิประโยชน์ ให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทเอกชนอื่น ๆ ให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่สำนักงานใน หน่วยงานด้านเทคโนโลยี หรือ ดิจิทัลที่จังหวัดภูเก็ต การประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต

4. นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการที่สำคัญ ดังนี้
4.1​ ในส่วนของข้อเสนอโครงการพัฒนาคุณภาพการคัดกรองด่านตรวจภูเก็ต โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่และโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต เห็นชอบในหลักการและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำความเห็นในรายละเอียด​ ทั้งความเหมาะสมของแผนงานและแหล่งเงิน และเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป
4.2​ ในส่วนของข้อเสนอมาตรการฟื้นฟู การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต​ และกลุ่มจังหวัดอันดามันในระยะเร่งด่วน มอบหมายให้คณะที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมี ดร.ทศพร​ ศิริสัมพันธ์ เป็นประธานที่ปรึกษา พิจารณาจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สศช.ร่วมกันจัดทำแนวทาง การฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต​ ในภาพรวมและพิจารณารายละเอียดข้อเสนอของจังหวัดภูเก็ต และนำเสนอ ต่อ​ ศบศ. เพื่อพิจารณาต่อไป
โดยหลายมาตรการกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล อาทิ การปรับปรุง มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน การส่งเสริมการจัดสัมมนาภาครัฐ และการจัดแพ็คเกจท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติ
4.3 มาตรการส่งเสริมการจัดแพ็คเกจท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสมาคมโรงแรมไทย มีข้อเสนอร่วมกันเป็นหน่วยธุรกิจในการดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศไทย โดยนำเสนอในรูปแบบของ Amazing Thailand plus Package ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงให้อยู่ในลักษณะ One Stop Service เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุมและครบวงจร โดยนายกรัฐมนตรีได้ข้อมีสั่งการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายละเอียดข้อเสนอมาตรการและนำเสนอต่อ ศบศ. ก่อนที่จะเสนอให้ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
4.4​ มาตรการส่งเสริมการจัดสัมมนาของภาครัฐในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เสนอโดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศในปีงบประมาณ 2564 ผ่านการจัด อบรมสัมมนา และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กลุ่มจังหวัดอันดามัน และจังหวัดที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยว โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อเสนอมาตรการเร่งรัดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐจัดประชุม อบรม-สัมมนา ในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อเสนอต่อ ศบศ. ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ต่อไป