“บิ๊กจิน”ร่วมเนรมิตภูเก็ต เป็นเมืองดิจิทัลด้วย “5E” ยกเป็นOne of the bestของไทย

 

         

         EGA ยกภูเก็ตเป็น One of the best  ของ ประเทศ ไทย และOne of the best ของเอเชีย นำทัพบริการดิจิทัลภาครัฐเสริมความแกร่ง Smart City แบบยั่งยืน ขับเคลื่อนราชการทันสมัย บริการประชาชนรวดเร็ว ทันใจ พร้อมเปิดตัวตู้บริการเอนกประสงค์ภาครัฐ  Government Smart Kiosk แห่งแรกของภาคใต้ ขับเคลื่อนราชการทันสมัยบริการประชาชนรวดเร็วทันใจ และก่อนหน้านี้ภูเก็ตเอง ก็เร่งขับเคลื่อนโครงการ Phuket Smart city ผลักดันการสร้างระบบความปลอดภัย ระบบเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวล่วงหน้าไปแล้ว

         เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2560 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมโรงแรมโนโวเทล โภคีธารา ภูเก็ต พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดงานสัมมนา “GovChannel Roadshow 2017 : Digital Local Government ขับเคลื่อนราชการทันสมัย บริการประชาชนรวดเร็ว ทันใจ โดยมี ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

         พล.อ.อ. ประจิน กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนจังหวัดภูเก็ตก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ต้นแบบให้แก่จังหวัดอื่นๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลด้านโครงสร้างพื้นฐาน และนำบริการภาครัฐที่ทันสมัย มาช่วยให้ประชาชนมีชีวิตในยุคดิจิทัลได้ง่ายขึ้น โครงการ GovChannel ที่รัฐบาลมอบหมายให้ EGA นำมาถ่ายทอดให้บุคลากรองค์กรปกครองท้องถิ่นได้ทราบถึงประโยชน์ ด้านการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างบูรณาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการและการให้บริการได้ก้าวทันต่อความต้องการของประชาชน พร้อมกับร่วมผลักดันจังหวัดภูเก็ตมุ่งไปสู่ Phuket : Digital Local Government ด้วย “5 E” ได้แก่ e-society, e-learning, e-citizen, e-education และ e-commerce เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปพร้อมๆ กัน

         “โดยอยากให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการร่วมกันดูแลเรื่องของความมั่นคงภายในประเทศ การป้องกันภัยพิบัติของประเทศ ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีความสวยงามเป็นไข่มุกอันดามัน เพราะภูเก็ตเป็น One of the best  ของ ประเทศ ไทย One of the best ของเอเชีย จึงอยากให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมในการรองรับไทยแลนด์ 4.0 มีความพร้อมทั้งในส่วนของปริมาณ และคุณภาพเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ สำหรับแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ การส่งเสริมให้ประชาชนมีความเท่าเทียมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองนำร่องสมาร์ท ซิตี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในรูปแบบประชารัฐ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน จะทำให้เรามีความครบถ้วนในการเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนสามารถเข้าถึง บริการภาครัฐได้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”พล.อ.อ. ประจิน กล่าว

         ส่วน ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า สำหรับงาน GovChannel Roadshow 2017 : Digital Local Government ขับเคลื่อนราชการทันสมัย บริการประชาชนรวดเร็ว ทันใจ ในปี 2560 นี้ มีการจัดงานทั้งสิ้น 7 ครั้ง 7 จังหวัด ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดนครสวรรค์, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดสงขลา, จังหวัดชลบุรี และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจังหวัดภูเก็ต นับเป็นจังหวัดที่สองที่ EGA เลือกจัดกิจกรรม Roadshow ในปีนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ให้ความสำคัญนโยบาย Digital Economy มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นจังหวัดแรกในภาคใต้ที่ EGA ได้ติดตั้งตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ หรือ Government Smart Kiosk เพื่อให้บริการประชาชนแบบ Self-service ที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาภูเก็ตด้วย

         นอกจากนี้ได้นำบริการภาครัฐภายใต้โครงการ GovChannel มาให้ประชาชนจังหวัดภูเก็ตได้สัมผัสอย่างมากมาย อาทิ ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ (Government Smart Kiosk) ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว, Government Smart Box ช่องทางเสริมในรูปแบบบริการออนไลน์ (e-Services) สำหรับเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข่าวสารข้อมูลของรัฐ  และศูนย์รวมแอปพลิเคชันภาครัฐ (Government Application Center: GAC) ซึ่งนำแอปพลิเคชัน G-News แอปฯ แจ้งข้อมูลข่าวสารบริการภาครัฐเวอร์ชันใหม่มาช่วยให้ประชาชนไม่พลาดทุกข้อมูลข่าวสารภาครัฐได้อย่างทันการณ์ แม่นยำ เชื่อถือได้ และบริการอื่นๆ ของ EGA ที่นำมาให้จังหวัดภูเก็ตทดลองใช้อย่างเต็มที่

         ทั้งนี้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA (อีจีเอ) ได้เตรียมการบริการภาครัฐเต็มพิกัดหนุนจังหวัดภูเก็ตสู่ Smart City  เช่น การนำตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ หรือ Government Smart Kiosk หนึ่งในบริการสำคัญภายใต้โครงการ GovChannel ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน เพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐแบบรวดเร็ว ทันใจ ใกล้บ้าน พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถ่ายทอดความรู้ สู่องค์กรปกครองท้องถิ่นให้สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพบริการภาครัฐ เพื่อชีวิตที่ทันสมัยของชาวภูเก็ต

          จากการดำเนินงานเชิงรุกได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ GovChannel ไปยังส่วนราชการ และประชาชนทั่วทุกภูมิภาค พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากองค์กรท้องถิ่นต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนา Local Government Services ที่จำเป็นหรือเหมาะสมกับประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในระดับภูมิภาคสู่การเป็น Digital Thailand สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EGA (อีจีเอ) โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

         ด้าน นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า จังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนสู่เมืองต้นแบบอัจฉริยะ หรือ Smart City  ได้เตรียมวางแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากบริการต่างๆ ของ EGA เริ่มจากการนำระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ GIN (Government Information Network) และ G-Cloud ระบบบริการคลาวด์ภาครัฐ ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานบนอินเทอร์เน็ตแบบใช้ทรัพยากรร่วมกันที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง รวมถึง Mail GoThai ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลางเพื่อการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีความปลอดภัยของข้อมูล และ G-Chat (จีแชท) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นระบบติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐผ่านอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงและมีความปลอดภัยของข้อมูลในระดับมาตรฐานสากล เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ง่าย และคล่องตัวมากขึ้น ช่วยให้สามารถพัฒนาบริการประชาชนให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว เพิ่มขึ้น

         “สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดภูเก็ตที่จะก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำระบบ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการพัฒนาเมืองให้กลายเป็น Smart City ในมิติต่างๆ อาทิ มิติด้านการค้าและเศรษฐกิจ (Smart Economy) ด้านการท่องเที่ยว (Smart Tourism) ด้านสาธารณสุข (Smart Health) ด้านการดำเนินชีวิต ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม (Smart Living) การบริหารเมืองแบบ Smart City โดยมุ่งการผสมผสานการได้มาของข้อมูลทั้งในลักษณะข้อมูลเชิงสำรวจแบบสถิติ และข้อมูลที่จัดเก็บได้แบบปัจจุบันโดยใช้เทคโนโลยี Internet of Things เช่น Sensor, CCTV รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลจากสังคมออนไลน์ ทำให้เมืองสามารถมีข้อมูลในการบริหารอย่างชาญฉลาด” นายนรภัทรกล่าวและว่า

         จังหวัดภูเก็ตจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการที่ได้ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อน Digital Local Government ราชการทันสมัย บริการประชาชนรวดเร็ว ทันใจ เพื่อขานรับนโยบายการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเชื่อมั่นว่าโครงการ GovChannel  ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน จะช่วยอำนวยความสะดวกให้พี่น้องชาวภูเก็ตสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ และบริการสาธารณะอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

         ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน พล.อ.อ. ประจิน เป็นประธานเปิดตัวตู้บริการเอนกประสงค์ภาครัฐ  Government Smart Kiosk แห่งแรกของภาคใต้ ที่ บิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์สาขาภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต  โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม

         ในโอกาสนี้ พล.อ.อ. ประจิน และคณะได้ร่วมทดลองใช้บริการภาครัฐผ่านตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ (Government Smart Kiosk)  ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ด้วย

         สำหรับ ตู้บริการเอนกประสงค์ภาครัฐ  Government Smart Kiosk เป็นขับเคลื่อนราชการทันสมัยบริการประชาชนรวดเร็วทันใจ Digital Local Government เพื่อศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน เป็นช่องทางการเข้าถึงข้อมูล และบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐสำหรับประชาชนได้จากจุดเดียวมิติใหม่ของบริการเพื่อภาครัฐ อาทิ บริการ Video Call บนเครือข่าย GIN บริการ G-Cloud บริการสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์, บริการภาครัฐเพื่อประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิ์ประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคม, บริการตรวจสุขภาพทางการเงินแบบสรุปจากเครดิตบูโร, ข้อมูลวิชาการ และเทคโนโลยีทางการเกษตร จากกรมวิชาการเกษตรเป็นต้น โดยประชาชนสามารถใช้งานบริการได้ ณ จุดเดียว ไม่ต้องเสียเวลาการเดินทาง เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสู่ความมั่นคงมั่งคั่งอย่างยั่งยืนต่อไป

         อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อบ่ายวันที่ 5 มิถุนายน 2560 เวลา 13.00 น.เศษ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุม ติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ Phuket Smart city ครั้งที่ 1/2560 ที่ห้องประชุม คอซิมบี้ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสนิท ศรีวิหค นายธีระ อนันตเสรีวิทยา นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ สามรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลสาขาภูเก็ต, ผู้แทน บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

         นายนรภัทร กล่าวว่า โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิตอล หรือโครงการ Phuket Smart City ณ จังหวัดภูเก็ต และการจัดตั้งศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park นับว่าเป็นโครงการที่ทุกหน่วยงานต้องเร่งทำงาน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว และต้องมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบ Smart Wi-Fi ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งของโครงการ Phuket Smart City ให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ รัฐบาล ได้นำเทคโนโลยีดิจิตอลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล โดยให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องของประเทศ ซึ่งจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจมีความก้าวหน้า และสามารถแข่งขันในโลกสมัย และก้าวสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างบูรณาการ และประโยชน์ที่จังหวัดภูเก็ตจะได้รับจาก โครงการPhuket Smart city นั้นคือ ระบบความปลอดภัย ระบบเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว

         ด้าน นายขจิต จิตรสุภา ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) CAT ได้รับงบประมาณ 240 ล้านบาท ดำเนินการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนา Smart City จังหวัดภูเก็ต โดยได้เปิดตัว Phuket Smart City High Speed Free WiFI ความเร็วสูงสุดถึง 100/25 Mbps. ได้ทำการติดตั้งจุดให้บริการฟรี Wi-fi ไปแล้วกว่า 140 จุด ในเขตเทศบาลเมือง ป่าตองและสะพานหิน โดยจะขยายจุดให้บริการเพิ่มให้ครบเป้าหมาย1,000 จุด เพื่อรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ที่มาพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงการลงทุนด้านอื่นๆ ของภูเก็ต ทั้งในส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ของประเทศไทยต่อไป