ปภ.แจงระบบเตือนภัย “สึนามิ” 5 ฝั่งอันดามันสร้างความเชื่อมั่น

        กรม ปภ. ชี้แจงทำความเข้าใจระบบเตือนภัยสึนามิ แก่กงสุล กงสุลกิตติมศักดิ์และผู้ประกอบการ สร้างความเชื่อมั่น หากเกิดเหตุสามารถแจ้งเตือนได้ทันท่วงที เผยใน 5 จังหวัด มีหอเตือนภัย 107 หอ และยังมีหอกระจายข่าวพร้อมเครือข่ายเตือนภัยในแต่ละพื้นที่จำนวนมาก พร้อมอบรมทบทวนความรู้ เพิ่มศักยภาพเครือข่ายการแจ้งเตือนภัยพิบัติ หากเกิดภัยพิบัติจะได้แก้ปัญหาการสื่อสาร และประสานเชื่อมโยงกันได้อย่างรวดเร็ว

       เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม โรงแรมเดอะ พาโก้ ดีไซด์ ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมด้วย นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานร่วม “การประชุมชี้แจงระบบการแจ้งเตือนภัยจากภัยสึนามิในพื้นจังหวัดภาคใต้ชายฝั่งอันดามัน” โดยมี นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายศุภภิมิตร เปาริก ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นายมาหะมะพีสกรี วาแม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกงสุลและกงสุลกิตติมศักดิ์ ประจำจังหวัดภูเก็ต จำนวน 14 ประเทศ,  ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าร่วม จำนวน 70 คน

       นายชยพล กล่าวว่า ด้วยจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ตและระนอง เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาศาล อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์เมื่อปลายปี 2547 พื้นที่ชายฝั่งอันดามันเกิดภัยสึนามิทำให้ไทย มีผู้เสียชีวิตถึง 5,396 คน ทั้งนี้ยังไม่รวมความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ  ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าภัยสึนามิจะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบกลไกในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยที่ดี สามารถแจ้งข่าวสารให้แก่นักท่องเที่ยวได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

        “ปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีเครื่องมือกลไกและระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ซึ่งสามารถแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวล่วงหน้าได้ในเวลาที่เพียงพอแก่การอพยพหลบภัย  และเพื่อให้สถานกงสุลประจำจังหวัดภูเก็ต สื่อมวลชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ มีความเข้าใจและมีความมั่นใจถึงระบบแจ้งเตือนภัยจากสึนามิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดประชุมชี้แจงระบบการแจ้งเตือนภัยสึนามิในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายฝั่งอันดามัน เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากสึนามิให้แก่กงสุลและกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งแก่นักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคใต้ชายฝั่งอันดามันและเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องภัยพิบัติและระบบการเตือนภัยของภาครัฐ”

        นายชยพล กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันในพื้นที่ 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน มีหอเตือนภัยจำนวน 107 หอ หอกระจายข่าว 20 แห่ง สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย หรือสถานีแม่ข่าย 65 แห่ง และยังมีหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านชุมชนอีกจำนวนมาก ในการให้ข่าวสารและแจ้งเตือนภัยนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายอาสาสมัครหน่วยงานต่างๆ ที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

        ทางด้าน นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องขอขอบคุณกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ได้มีการจัดประชุมชี้แจงเกี่ยวกับระบบเตือนภัยสึนามิให้แก่กงสุลและกงสุลกิตติมศักดิ์ ตลอดจนผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับทราบ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก เพราะในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก และสิ่งหนึ่งที่เขาเป็นกังวล คือ เรื่องภัยสึนามิซึ่งเป็นภัยที่กะทันหันมาก แต่หากระบบการแจ้งเตือนภัยเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจและมีความเข้าใจชัดเจน ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ พี่น้องประชาชนในพื้นที่จะได้รับรู้รับทราบระบบการเตรียมตัว ป้องกันตัวและการอพยพ ซึ่งเป็นหน้าของทางจังหวัดที่จะต้องมาทำความเข้าใจ ตลอดจนการซักซ้อมความพร้อมการอพยพเมื่อได้รับการแจ้งเตือน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากของกลุ่มจังหวัดอันดามัน

        ต่อจากนั้น ที่โรงแรมเดอะพาโก้ ดีไซส์ ต. รัษฎา ณ ที่แห่งเดียวกัน นายชยพล  ธิติศักดิ์  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการแจ้งเตือนภัยพิบัติ โดยมี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเตือนภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม

         นายชยพล  กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ภัยพิบัติมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สร้างความสูญเสียให้กับประชาชนและประเทศชาติเป็นจำนวนมาก ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการประสานความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภัยพิบัติให้เป็นระบบและมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างความปลอดภัยอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพเครือข่ายการแจ้งเตือนภัย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำหน้าที่เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         ในการฝึกอบรมครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับองค์ความรู้และเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการแจ้งเตือนภัยที่เป็นระบบและสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีความทันสมัยในการส่งผ่านข้อมูลสถานการณ์ภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในพื้นที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที  รวมถึงเครือข่าย 5 จังหวัดภาคใต้ทะเลฝั่งอันดามันจะมีเครือข่ายเตือนภัยพิบัติ ที่มีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น มีแนวทางในการแจ้งเตือนภัยที่เชื่อมโยงกันระหว่างเครือข่าย หน่วยงานส่วนกลาง อำเภอ จังหวัดและทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ  มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ตลอดจนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการและกระจายสู่ประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับทราบ ทำให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันการรับรู้และการกระจายข้อมูลข่าวสารสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วหลายช่องทาง อาทิ ผ่านระบบโซเชียลมีเดีย Application วิทยุกระจายเสียง  โทรทัศน์  หอเตือนภัย  หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน เป็นต้น การได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายภาคประชาชนและการพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้สามารถกระจายข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนภัยผ่านเครื่องมือสื่อสารและระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมถึงการมีจิตอาสาที่เสียสละทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างต่อเนื่องนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญในการร่วมกันสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในชุมชน และจะช่วยลดความสูญเสียจากภัยพิบัติของประเทศได้ในที่สุด