ผู้ประกอบการ​ท่องเที่ยว​ จ.ภูเก็ต​ นำเสนอแนวคิดต่อภาครัฐฯ​ เพื่อจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”

ผู้ประกอบการ​ท่องเที่ยว​ จ.ภูเก็ต​
นำเสนอแนวคิดต่อภาครัฐฯ​ เพื่อจัดตั้ง
“กองทุนเพื่อการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”

             นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเนื่องมา 2 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ทางภาคเอกชนภูเก็ต ได้นำเสนอแนวคิดให้รัฐบาลจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต” ให้กับ​ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในคราวประชุมติดตามราชการโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ผ่านระบบ ZOOM เมื่อวันหยุดที่ที่ผ่านมา

             ทั้งนี้​ เพื่อนำเงินจากกองทุนดังกล่าวมาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีในภูเก็ต เพื่อปรับปรุงกิจการ​ซึ่งยังเปิดอยู่ เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านั้นขาดสภาพคล่องและเข้าไม่ถึงแหล่งทุนตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลในรูปแบบของซอล์ฟโลน

             “หากผู้ประกอบการดังกล่าว​ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 จากผู้ประกอบการทั้งหมดของภูเก็ต อาทิ รถ-เรือบริการนำเที่ยว โรงแรมขนาดเล็ก สปา เป็นต้น สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ จะทำให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สามารถขับเคลื่อนและเดินหน้าไปได้ ซึ่งสาเหตุที่ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถที่จะเข้าถึงกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินทุนกองทุนไว้ที่ 25,000 ล้านบาท ด้วยติดเงื่อนไขต่างๆ เช่น อยู่ในภาวะพักชำระหนี้, ไม่มีการเคลื่อนไหวบัญชี บางรายมีมูลหนี้ที่สูงมาก เป็นต้น”

                นายธเนศ กล่าวว่า เพื่อให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินหน้าต่อไปได้ และผู้ประกอบการมีเงินในการลงทุนต่อ จึงขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต เบื้องต้นจำนวน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการปล่อยกู้ให้ธุรกิจโรงแรมที่ยังไม่มีใบอนุญาต ได้ปรับปรุงและเข้าสู่ระบบของกฎหมาย จำนวน 2,000 ล้านบาท, เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ​ SME เช่น บริษัททัวร์, ร้านอาหาร, สปา, ร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น จำนวน 1,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการขนส่งทั้งทางน้ำและทางบก เช่น ไถ่ถอนยานพาหนะที่ถูกยึดและซ่อมแซม เป็นต้น จำนวน 500 ล้านบาท โดยมีแนวคิดในการนำเงินมาใช้ตั้งต้นอยู่ 2-3 แนวคิด อาทิ กู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), การออกภูเก็ตบอนด์ ให้ผู้มาลงทุน หรืออาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่เกาะหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ หรืออาจนำทั้งหมดมารวมกัน เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม​ นายธเนศ ยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในภูเก็ต เปิดให้บริการเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 80% ยังคงปิดกิจการ เนื่องจากไม่มีเงินทุนสำหรับเปิดกิจการรอบใหม่ และบางกิจการอาจจะปิดถาวรได้ ทั้งนี้​ จากการสำรวจพบว่ากลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบการกลุ่มใหญ่ของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต โดยผลการสำรวจของทาง ม.อ.ภูเก็ต พบว่ามีมากถึง 62,000 กว่ากิจการ แบ่งเป็นนิติบุคคล 41,000 กิจการ หรือประมาณ 71% ส่วนที่เหลือเป็นการประกอบการส่วนบุคคล และมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 230,000 คน จึงทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูเก็ตเป็นอย่างมาก