ผู้ว่าฯพบสื่อยังย้ำเรื่องเก่า Smart city ขายสับปะรด

        รายการพ่อเมืองจับเข่าคุยหัวหน้าส่วนวาระยามเช้า บำบัดทุกข์บำรุงสุข และผู้ว่าฯ พบสื่อนัดนี้ ยังคงนำเรื่องเดิมๆ เทปม้วนเดิมเปิดซ้ำแล้ว ซ้ำอีก เข้มรปภ.ที่ทำงาน ขับเคลื่อนภูเก็ตก้าวสู่ Phuket Smart City รองรับ Thailand 4.0 ย้ำเมืองท่องเที่ยวต้องสะอาดสวยงามเก็บขยะ เน้นเยาวชนออกกำลังกาย ห่างไกลยาเสพติด จัดที่ขายสับปะรด ตามเรื่องศูนย์ดำรงธรรม รวมทั้งโครงการแก้ไขปัญหาจราจรที่ยังก่อสร้างคาราคาซัง

         เมื่อเช้าวันที่ 20 มิถุนายน 2560 เวลา 07.30 น. ที่ห้องประชุมจวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้นัดพบปะหัวหน้าส่วนราชการวาระยามเช้า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยมีนาย สนิท ศรีวิหค และ นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

         นายนรภัทร กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตจะมีกิจกรรมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ดังนั้นจะมีการกำหนดให้บุคคลหน่วยงานองค์กรที่มีผลงานดีเด่นสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดภูเก็ตได้มาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อให้สื่อมวลชนนำข้อมูลไปประชาสัมพันธ์ ยกย่อง ความดีของบุคคลและองค์กรเหล่านั้นให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายต่อไป อาทิ เช่น องค์กรที่มีการรักษาสิ่งแวดล้อมดีเด่น หรือ เยาวชน นางสาว ญาดา สัจจากุล( ฮูโต๋) ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดร้องเพลง ระดับประเทศ เป็นต้น และจังหวัดภูเก็ต กำหนดดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวจัดโปรแกรมท่องเที่ยวแบบ One Day Trip อาทิ โปรแกรมท่องเที่ยวหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนน, โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต “ยลเมืองเก่าเล่าความหลังสัมผัสวิถีเสน่ห์เมืองทุ่งคา”, โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยวกมลาภูเก็ต, โปรแกรมท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเกาะโหลน-ราไวย์, โปรแกรมท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านป่าคลอกและโปรแกรมทัวร์ชุมชนท่องเที่ยวบางเทา-เชิงทะเล เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้มีโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เป็นกิจกรรมที่จะสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับชาวจังหวัดภูเก็ตอีกทางหนึ่ง

          ส่วนความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดระเบียบรถสาธารณะ ภายหลังมีการให้รถโดยสารสาธารณะมาขึ้นทะเบียน กับจังหวัดนั้น ปรากฏว่ามีผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะให้ความร่วมมือมาขึ้นทะเบียนแล้ว 1,375 คัน ทั้งนี้จังหวัด ภูเก็ตมีรถโดยสารสาธารณะทั้งหมด ประมาณ 10,000 คัน ประกอบด้วยรถป้ายเขียวจำนวน 5,050 คัน, รถแท็กซี่ จำนวน 353,รถตุ๊ก ตุ๊ก1,200 คัน และรถตู้สาธารณะจำนวน 4,000 คัน

         สำหรับการกำหนดจุดจอดรถโดยสารสาธารณะเพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการได้ใช้รถโดยสารสาธารณะได้อย่างสะดวกและเพื่อให้การจอดรถมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่จอดในที่สาธารณะรวมถึงสามารถมีพื้นที่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่นำรถยนต์ส่วนตัวมา ได้มีพื้นที่ในการจอดรถได้อย่างเท่าเทียม ส่วนการจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่สำนักงานขนส่งภูเก็ต(ใหม่) ซึ่งมีปัญหาการบริหารจัดการ เกิดปัญหาการแย่งลูกค้าของผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ และผู้บริโภคถูกเอาเปรียบค่าโดยสารไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ในเรื่องนี้ได้สั่งการให้ เทศบาลตำบลรัษฎา และ หน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด

          โอกาสนี้นายนรภัทร ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณอาคารสถานที่และพื้นที่โดยรอบศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยขอให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่ที่มีเวรรักษาความปลอดภัยจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความปลอดภัยและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีเหตุสถานการณ์ไม่ปกติต้องรายงานผู้บังคับบัญชาทราบอย่างเร่งด่วนต่อไป

         ต่อมารุ่งขึ้นวันที่ 21 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 น.เศษ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมกับ นายสนิท ศรีวิหค และ นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ สองรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ได้พบกับสื่อมวลชนทุกแขนงในรายการผู้ว่าฯพบสื่อ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดส่วนใหญ่เป็นเรื่องเก่าๆ เดิมๆ ที่แถลงซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างเช่น

         นายนรภัทร กล่าวว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เร่งขับเคลื่อนบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนให้ภูเก็ต ก้าวสู่ “เมืองท่องเที่ยวนานาชาติ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นไข่มุกอันดามันที่มีความสวยงาม จากสภาพความเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องหาแนวทางมาแก้ไขให้ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำไปสู่ความเป็นเมือง Smart City สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตเป็น 1 ใน 2 เมือง ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นเมือง Smart City โดยมีแนวทางการดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก คือ การเพิ่มมาตรฐานของเมือง การสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

         นายนรภัทร กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนขอให้ภาครัฐดำเนินการจัดการขยะ น้ำเสีย สุนัขจรจัด และปัญหายาเสพติด เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีนั้น จึงได้มีการจัดโครงการภูเก็ตสวยด้วยมือและใจเราเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เน้นความยั่งยืน การสร้างจิตสำนึกโดยการจัดตั้งชมรมตาสับปะรด และติดตั้งกล้อง CCTV ส่วนปัญหายาเสพติดได้มีการนโยบายแก้ปัญหาผ่านโครงการผู้ว่าพบปะนักเรียนหน้าเสาธง โครงการกีฬาสัญจรเยาวชนไทยห่างไกลยาเสพติด รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม โดยให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ตรายงานผลการดำเนินงานทุก 7 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนจากประชาชน

         นอกจากนี้ในส่วนของโครงการ Phuket Smart City ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ Center Command ที่สำนักงาน ปภ. เขต 18 ติดตั้งกล้อง CCTV ที่เชื่อมโยงสัญญาณภาพจากสถานีตำรวจภูธรจังหวัดและ อปท. 8 แห่ง รวมถึงการติดตั้งระบบฟรีไวไฟ 240 จุดที่บริเวณซอยบางลาป่าตองและสะพานหิน

         สำหรับการแก้ปัญหาจุดจำหน่ายสินค้าการเกษตรของจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการส่งเสริมคุณภาพสินค้าเกษตรปลอดสารพิษจัดตั้งจุดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เกษตรคุณภาพที่ห้าง Big Cทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน, ศูนย์การค้าไลม์ไลท์อเวนิว จำหน่ายสับปะรดทุกวัน และทุกวัน ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ แรก ของเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง เป็นหลาดสวนครัว, ที่ สนง.พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต ทุกวัน เริ่มวันที่ 21 มิถุนายน 2560, หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต วันพุธ – พฤหัสบดี ของสัปดาห์ ๆ ละ 2 วัน ได้ดำเนินการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ กล่องใส่สับปะรด

          ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดของถนนสาย 402 (ถนนเทพกระษัตรี) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เร่งรัดโครงการก่อสร้าง ถนนสายสาคูเกาะแก้วโดยเฉพาะพื้นที่ใดที่สามารถดำเนินการได้ก่อนก็ควรจะก่อสร้างก่อน มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด/ติดตั้งระบบ “Red light Camera” ตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ ใน 5 จุด การก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด อาทิ สามกอง,ดาราสมุทรและบางคู ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มบุคลากรในชั่วโมงเร่งด่วนเพื่อระบายการจราจรโดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดกลับรถ และได้ เร่งรัดให้แขวงการทางดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่สาย บ.สาคู-บ.เกาะแก้ว อย่างเร่งด่วน การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร อาทิ โครงการรถไฟรางเบา เป็นต้น

         ทั้งนี้ในการดำเนินทุกโครงการจะเน้นการพัฒนาและเทคโนโลยี Phuket Smart City มาขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ และ ความมั่นคง เพื่อแก้ ปัญหา ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ