ผู้ว่าฯ หารือฟื้นฟู ประตูเมือง เป็นศูนย์ให้ข้อมูลท่องเที่ยว

         พ่อเมืองภูเก็ตประชุมผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยหาแนวทางปรับปรุงพัฒนาประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway)ของอบจ.ภูเก็ต ที่สร้างเมื่อปี 49 ให้เป็นศูนย์ให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ ภูเก็ต

         เมื่อบ่ายวันที่ 28 มิถุนายน 2560เวลา 16.00 น.เศษ ที่ห้องประชุมประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางปรับปรุงพัฒนาประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) โดยมี นายวัชรินทร์ ปฐมวัฒนพงศ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ภูเก็ต ว่าที่ร้อยตรี วิกรม จากที่ นายอำเภอถลาง,ผู้แทนแขวงทางหลวงภูเก็ตนางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ผู้แทนโยธาธิการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

         ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ก่อสร้างอาคารประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นห้องรับรองแห่งแรกที่ไว้ต้อนรับ และอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดภูเก็ต และเป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งภายในประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) ประกอบด้วย ห้องศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว จำนวน 1 ห้อง ห้องประชุม 1 ห้อง อาคารขายสินค้า 1 ห้อง ห้องสำนักงาน 1 ห้อง ตึกบริการ จำนวน 1 หลัง (ห้องศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ห้องสมุดนักท่องเที่ยว และห้องสำนักงาน 2) เสาศิลา 29 ต้น เป็นเสาประติมากรรมเรียงรายเป็นแนวยาว 29 ต้น ซึ่งได้เรียงร้อยเรื่องราวต่างๆ ของภูเก็ต ทั้งในเรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การก่อตั้งอนุสรณ์สถานถลางชนะศึก ทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีของชาวภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยว อาชีพ สถาปัตยกรรม วิถีชีวิตตั้งแต่ยุครุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุกจนถึงยุคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น

         นายนรภัทร ปลอดทอง ผวจ.ภูเก็ต กล่าวว่า เป็นการหารือเพื่อพิจารณาแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) ให้เป็นศูนย์บริการข้อมูลด้าน การท่องเที่ยว มีจุดถ่ายรูป เส้นทางเดินรถเข้า-ออก สร้างจุดสนใจและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักของประชาชน และนักท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นจุดพักรถให้บริการนักท่องเที่ยว โดยปรับปรุงพื้นที่บริเวณประติมากรรมตกแต่งให้สวยงามด้วยเต่าและไข่เต่า รวมทั้งการพัฒนาตัวอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวก ต่างๆ ตลอดจนมีจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในชุมชน ของ ภูเก็ต อาทิ ผ้าบาติก ไข่มุกพืชผักผลไม้ต่างๆ มาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น