“พอร์ต มัจฉานุ” แถลงข่าว​ชี้แจงและยื่นฟ้อง เรียกค่าเสียหาย​ คู่กรณี​กว่า​ 1 ล้านบาท

“พอร์ต มัจฉานุ” แถลงข่าว​ชี้แจงและยื่นฟ้อง
เรียกค่าเสียหาย​ คู่กรณี​กว่า​ 1 ล้านบาท

               บริษัท​ ภูเก็ตซุปเปอร์ยอร์ชมารีน่า​ จำกัด ในนามท่าเรือ “พอร์ต มัจฉานุ” ได้ให้การสนับสนุน การจัดการแข่งขันไตรกีฬาระยะไกล “พอร์ตมัจฉานุ คนเหล็กไทย ภูเก็ต 2566” โดยกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2566 ภายในท่าเทียบเรือพอร์ตมัจฉานุ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต แต่ปรากฎว่าก่อนถึงวันแข่งขันประมาณ 2 สัปดาห์ ทาง​คู่กรณี​จัดการแข่งขัน​ ซึ่งได้รับมอบหมายจากสมาคมกีฬาไตรกีฬาแห่งประเทศไทย ที่รับผิดชอบจัดการแข่งขัน แจ้งว่า ไม่สามารถจัดกิจกรรม​ได้ โดยอ้างว่าจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันมีจำนวนน้อยเกินไป และจะทำการคืนเงิน​ที่ทาง​ บริษัท ภูเก็ตซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด สนับสนุนการจัดการแข่งให้แต่ผลปรากฏ​ว่า​เงียบหายไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด

                  วันที่​ 15 ส.ค.66 เวลา 10.30 น. ณ The PlayYard  นายธีระวัฒน์ วัฒนโสภณกุล​ ฝ่ายภาพลักษณ์องค์กร บริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด และ​ นายวีระศักดิ์ พรหมทอง ทนายความ ได้แถลงข่าวชี้แจงกรณีการยื่นฟ้องร้องคู่กรณี​ หลังจากที่มีการแจ้งยกเลิกการจัดการแข่งขันกระทันหัน ทั้งในส่วนที่สนับสนุนสมาคมฯ และการมอบหมายให้กับทางผู้รับผิดชอบจัดการแข่งขัน แต่ปรากฎว่ายังไม่ได้เงินคืน, และยังสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงบริษัท​ฯ

                   นายธีระวัฒน์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว​ ได้สร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของบริษัทฯ และผู้สนับสนุนรายอื่นๆ เป็นอย่างมาก รวมถึงในส่วนของผู้ที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งทางบริษัท ภูเก็ตซุเปอร์ยอร์ชฯ ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ผ่านทางนายดำรง ไชยเสนา ผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต (กกท.ภูเก็ต) ร้องขอความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าวไปแล้ว​ นอกจากนี้​ ทางสมาคมฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ในการดำเนินการดังกล่าว และบริษัทได้รับแจ้งว่า มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อจัดการแข่งขัน ดังนี้.

                      สำหรับ เงินบริจาคให้กับทางสมาคมกีฬา ไตรกีฬาแห่งประเทศไทย จำนวน 5 แสนบาท ,ค่าจ้างจัดกิจกรรมการแข่งขันไตรกีฬา และ ทวิกีฬา จำนวน 5 แสนบาท,ค่าจัดทำวีดิโอประชาสัมพันธ์งาน จำนวน 2 แสนบาท,ค่าจัดงานแถลงประชาสัมพันธ์งาน จำนวน 1 แสน บาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ พร้อมทั้งมีการลงนามว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่ง จัดการแข่งขัน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 โดยการดำเนินการนั้นทางบริษัทยืนยันไม่จัดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์​ หลังจากนั้น บริษัท ฯได้มีการติดตามงานมาอย่างต่อเนื่อง จนทราบว่าการดำเนินงานไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง เช่น การจัดการประชาสัมพันธ์ไม่มีการจัดทำป้าย และ การประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตกลงกัน ต่อมาทางคู่กรณี​ได้ขอยกเลิกการจัดการแข่งขันดังกล่าว เพียง 2 สัปดาห์ ก่อนวันจัดการแข่งขัน โดยอ้างว่ามีจำนวนผู้สมัครน้อย ไม่เป็นไปตามเป้า มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันไม่ถึง​ 100 คน​ ซึ่ง​การยกเลิกงานดังกล่าว ทำให้ทาง ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า และผู้สนับสนุนการจัดงานรายอื่นๆ เกิดความเสียหายกันถ้วนหน้า และมีการพูดต่อ ๆ กันไปอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นการหลอกลวง จัดงานขึ้นมาเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองสร้างความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากมาย รวมทั้งชื่อเสียของจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

                     อย่างไรก็ตามแม้ว่าทางบริษัทฯ ได้ทำการยื่น Notice ไปให้บุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ แต่ยังเพิกเฉย ไม่มีการติดต่อใดๆ ไม่มีการแสดงความจริงใจใดๆ ในการแก้ปัญหานี้ ดังนั้นจากการกระทำของบุคคลและกลุ่มบุคคลดังกล่าว ทางบริษัทฯ จึงต้องรักษาภาพลักษณ์ที่เสียไปจากการยกเลิกการจัด การแข่งขันไตรกีฬาระยะไกล พอร์ต มัจฉานุ คนเหล็กไทย ไตรกีฬา ภูเก็ต 2566 จึงได้มอบหมายให้ทนายดำเนินการฟ้องร้อง ดำเนินคดีตาม กฎหมาย ต่อศาลจังหวัดภูเก็ตไปเรียนร้อยแล้ว

                      สำหรับการแข่งขัน “พอร์ตมัจฉานุ คนเหล็กไทย ภูเก็ต​ 2566​” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดข้างเคียง และ เพื่อให้นักกีฬาและผู้ที่สนใจในกีฬาไตรกีฬา เดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อนที่จังหวัดภูเก็ต และเกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วไปในจังหวัดภูเก็ต เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับจังหวัดและระดับประเทศ และเพื่อให้เกิดการพัฒนากีฬาไตรกีฬาให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงการพัฒนานักกีฬาไทยให้มีความสามารถทัดเทียมนานาชาติและเป็นตัวแทนทีมชาติต่อไปในอนาคตได้ เผยแพร่ข้อมูลการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดผ่านการแข่งขันงานไตรกีฬาดังกล่าว และสามารถยกระดับการแข่งขันไตรกีฬานี้เป็นการแข่งขันที่จะจัดขึ้นทุกๆ ปี เพื่อให้นักกีฬาและนักท่องเที่ยววางแผนการแข่งขันและท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งจัดการแข่งขันโดยคณะกรรมการ ไตรกีฬากลุ่มอายุประเทศไทย รับรองการแข่งขันโดยสมาคมกีฬาไตรกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย การว่ายน้ำช่องแคบภูเก็ตไปพังงา ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร, ปั่นจักรยานจากภูเก็ตผ่านเส้นทางที่สวยงามไปยังจังหวัดพังงา และจากพังงากลับภูเก็ต เส้นทางวิ่งจะวิ่ง รอบละ 7 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยและร่มไม้ป่ายางพาราที่สวยงาม