ภาครัฐ-สสส.- บริษัทกลางฯ เปิดเวทีถนนปลอดภัยลดอุบัติเหตุ

         กรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีถนนปลอดภัย บูรณาการร่วมทุกฝ่ายนำข้อมูลจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

         เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 6 ก.ย.60 ที่โรงแรมดาราโฮเทล จังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการติดตามผล การบริหารข้อมูลเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 (เวทีถนนปลอดภัย) MIS FOR SUSTAINABLE ROAD SAFETY โดยความร่วมมือระหว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาดำเนินการจัดทำแผนงานเพื่อป้องกันและแก้ไขการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยมี นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธาน สอจร.และผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกกับรัฐบาลไทย ด้านอุบัติเหตุ นายไพฑูรย์ ศิลปวิสุทธิ์ ผู้จัดการอาวุโส บริษัทกลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ สาขาภูเก็ต นายมงคล เต็มรัตน์ รักษาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต  ผู้แทนจากตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัดแขวงการทางจังหวัด สำนักงานทางหลวงชนบท สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ มูลนิธิในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

         นายมงคล เต็มรัตน์ รักษาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น จากข้อมูลสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรวบรวมข้อมูลจาก 3 ฐาน พบว่าในแต่ละปีทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 21,429 ราย เฉลี่ยประมาณเดือนละ 1,785 ราย หรือประมาณวันละ 59 ราย สาเหตุหลักส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ได้แก่ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมาสุรา ตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดและแซงรถผิดกฎหมาย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำกรอบปฏิญญามอสโกและนโยบายรัฐบาลมาจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย มาตรการและแผนงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ

         “ดังนั้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, สสส และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายแห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ทำหน้าที่จ่ายค่าสินไหมทดแทนผู้ที่ประสบภัยจากรถกรณีบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จึงได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จัดทำโครงการติดตามผล การบริหารข้อมูลเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 ขึ้น โดยนำข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัด รวมถึงได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีทิศทาง มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยมีการบริหารข้อมูลเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน” นายมงคล กล่าว

         ขณะที่ นายไพฑูรย์ ศิลปวิสุทธิ์ ผู้จัดการอาวุโส บริษัทกลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ สาขาภูเก็ต  กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศให้การป้องกันอุบัติเหตุทางถนนเป็น “วาระแห่งชาติ” (มติ ครม. 29 มิ.ย. 2553) และมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมีเป้าหมายตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552-2555 เป็นกรอบวางทิศทางและกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย เรียกว่า มาตรา 3 ม 2 ข 1 ร และกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านวิศวกรรม ด้านการให้ความรู้การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ด้านการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และด้านการประเมินผล

         บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด ทำหน้าที่จ่ายค่าสินไหรทดแทน กรณีบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน และรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน www.thaisc.com เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน

         “ในการนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “การบริหารข้อมูลเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน” ขึ้น เพื่อนำข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทุกจังหวัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขการเกิดอุบัติเหตุในระดับพื้นที่และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาคีเครือข่ายในทุกจังหวัดมาร่วมกันระดับความคิดเห็น เพื่อจัดทำแผนป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในระดับจังหวัด แผนระยะสั้น แผนระยะกลางและแผนระยะยาว ตลอดจนเพื่อเป็นการนำแผนงานไปขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ติดตามผลหลังจากได้ดำเนินการไปแล้วและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป” นายไพฑูรย์ กล่าว

         ในส่วน นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีสถิติการตายสูงมาก และตนเชื่อว่าหากเราไม่มีมาตรการที่จะแก้ปัญหาอนาคตอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะว่าเราเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มาเช่ารถรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ส่วนหนึ่งอาจจะไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องกฎจราจร ประการที่สองจะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมในการขับขี่ ซึ่งตนดีใจที่วันนี้มีการร่วมมือกันในการจัดทำแผนเชิงปฏิบัติการ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก และเป็นที่น่ายินดีที่มีการบริหารข้อมูลเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน

         นายนรภัทร กล่าวต่อไปอีกว่า เรียนว่าข้อมูลสำคัญที่สุด ประเทศไทย ขณะนี้มีปัญหาเรื่องการบริหารข้อมูลมาก คือความน่าเชื่อถือของข้อมูล เชื่อถือได้แค่ไหน ข้อมูลผิดพลาด ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด หลายเรื่องที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า เราไม่มีการจัดเก็บข้อมูล แม้กระทั่งข้อมูลนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาในเกาะภูเก็ต แต่ละหน่วยมีปัญหาไม่ตรงกัน จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ก็ไม่มั่นใจว่ามันจะตรงกันหรือไม่ นี่คือของจริง จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเชื่อแน่นอนว่าองค์ประกอบเรื่องอุบัติเหตุหนีไม่พ้นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นมาตรการที่เมืองไทยจำเป็น เพราะว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่มีโครงสร้างสังคมเป็นระบบอุปถัมภ์จึงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่สำฤทธิ์ผลเราจะมักนิยมเน้นในเรื่องของความถูกใจแต่เราขาดความสำนึกในเรื่องของความถูกต้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้อย่างเข้มข้นก็จะเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา อยากให้มีข้อมูลทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าที่ผ่านมา เราบังคับใช้ยังไง มีจำนวนเท่าไหร่ จุดไหนที่เกิดขึ้นมากที่สุด ซึ่งแต่ละจุดเราจะนำไปสู่การวิเคราะห์ได้ว่า จุดนั้นเป็นจุดที่มีปัญหามาก และนำไปสู่การตัดสินใจในการที่จะแก้ไขได้

         “ส่วนในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย คือผู้ขับขี่ จะเป็นปัญหาเรื่องของพฤติกรรมในการขับขี่ ขับรถเร็ว เมาสุรา อันนี้เป็นประเด็นหลัก มีบทบาทสำคัญยิ่ง เรากำลังแก้เรื่องพฤติกรรมในขณะนี้ ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรการ 3 ม. 2 ข. 1 ร. และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องส่วนเรือ่งที่สาม คือวิศวกรรมการจราจร ต้องมีข้อมูลว่าในจังหวัดภูเก็ตจุดไหนเกิดอุบัติเหตุเยอะที่สุด เพราะว่าถนนนั้นไม่ได้มีเฉพาะของแขวงการทางอย่างเดียว ยังมีของทางหลวงชนบท และที่ไม่มีเจ้าของก็มีอีกมาก เพราะฉะนั้นตนกำลังที่จะมาบูรณาการทำแผนที่โครงสร้างของถนนทั้งหมด ที่จะนำไปสู่การแก้ไข และในประการสุดท้ายในเรื่องของยานพาหนะ เป็นประเด็นที่มีปัญหาเยอะมาก เพราะว่ารถรับจ้างสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต อย่างป่าตองอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เป็นรถที่จดทะเบียนมา ครั้งแรก 39 ปี เป็นทะเบียนต่างจังหวัด ครั้งที่สอง 20 ปี เพราะฉะนั้นมาตรการตรงนี้ อยากจะให้ทางขนส่งยกร่างว่ารถที่จะนำมาวิ่งภูเก็ตควรที่จะมีการกำหนดอายุการใช้งานในประเภทรับจ้างสาธารณะ มีการต่อทะเบียน มีการตรวจสอบ ข้ามเขตมาวิ่งที่นี้เราต้องมีมาตรการที่แตกต่างจากที่อื่น เพราะฉะนั้นรถป้ายเขียว บางคันอายุ 30 ปี ยังวิ่งอยู่เลย ในเรื่องรถยนต์ ก็เป็นประเด็นที่มีปัญหามาก เพราะบ้านเราไม่มีการจำกัดอายุการใช้แบบต่างประเทศ เพราะฉะนั้น การมองปัญหา การบริหารข้อมูลเหล่านี้ เลยอยากจะให้มองแบบองค์รวม การแก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่องนั้นไม่ได้แก้ไขจุดใดจุดหนึ่ง จะแก้ปัญหาไม่จบ ต้องแก้ทั้งระบบ ทั้งในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย พฤติกรรมของคนขับ ยานพาหนะ และถนน” นายนรภัทร กล่าว

         ด้าน นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธาน สอจร.และผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกกับรัฐบาลไทย กล่าวถึงการทำงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุแบบบูรณาการของจังหวัดภูเก็ต ว่า ปัญหาอุบัติเหตุในประเทศไทย เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก จากการรายงานขององค์การอนามัยโลก ในรอบสองปี ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประเทศไทย ขยับการเสียชีวิตจากอันดับสามสูงสุดในโลกขึ้นมาเป็นอันดับสองสูงสุดในโลก สำหรับจังหวัดภูเก็ต การทำงานลดปัญหาอุบัติเหตุจราจร ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากว่าเราสามารถลดการเสียชีวิตจากปีหนึ่ง โดยเฉลี่ย 200กว่าราย เหลือ 100 กว่ารายเศษ โดยตัวเลขการรายงานในปีที่ผ่านมาเหลือ134 ราย ซึ่งการทำงานเชิงบูรณาการ การทำงานร่วมกันมีความสำคัญมากทางบริษัทกลางฯ ร่วมกับ สสส.และทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดทำโครงการเพื่อที่จะบูรณาการโครงการข้อมูลเข้าไปด้วยกัน ภาคีเครือข่ายต่างๆ มีความเห็นร่วมกันว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากเพราะการบูรณาการการทำงานร่วมกันถือเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ

         “จากการประชุมในวันนี้จะทำให้เห็นภาพรวมว่าเรายังมีส่วนใดบ้างที่เรายังจำเป็นต้องมาหารือร่วมกันเพื่อทำให้แผนนี้ออกมาเป็นแผนที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกเหนือจากการทำแผนในวันนี้ จะเป็นผลผลิตจากการนำเสนอการทำงานภาพรวมแล้ว จังหวัดภูเองก็จะมีโอกาสสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่ง คือ ในวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.60 ทางองค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในภูมิภาคนี้ และได้เลือกจังหวัดภูเก็ต ในฐานะที่มีการพัฒนาด้านนี้ให้เป็นตัวอย่างให้ชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้ 11 ประเทศ โดยมีการประชุมระดับรัฐมนตรีที่โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ตอาร์คาเดีย รีสอร์ท แอนด์สปา จังหวัดภูเก็ต โดยในกำหนดการได้เรียนเชิญฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธีเปิด การประชุมประกอบด้วยปลัดกระทรวง เจ้าหน้าที่ระดับสูง และรัฐมนตรีในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะถือเป็นโอกาสสำคัญนอกเหนือจากการที่ให้ประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับจังหวัดภูเก็ต แล้ว ก็ยังถือเป็นโอกาสสำคัญซึ่งเราได้นำเสนอแนวคิดแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อสู่ผู้บริหารระดับสูง ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องและ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี”นายแพทย์วิวัฒน์ กล่าวในที่สุด