นายก อบจ.ภูเก็ต แถลงแนวทางขับเคลื่อนโครงการ “ภูเก็ตปลอดเชื้อ ปลอดโรค และปลอดภัย” พร้อมแนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

นายก อบจ.ภูเก็ต แถลงแนวทางขับเคลื่อนโครงการ “ภูเก็ตปลอดเชื้อ ปลอดโรค และปลอดภัย” พร้อมแนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

           เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เวลา 12.00 น. ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต แถลงถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ “ภูเก็ตปลอดเชื้อ ปลอดโรค และปลอดภัย” ตามที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 แบบเชิงรุก ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมแนวทางการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการแจกถุงอุปโภคบริโภค โดยมี นายอานุภาพ เวชวนิชสนอง และนายกิตติพงษ์ กลิ่นถนอม รองนายก อบจ.ภูเก็ต นายพงษ์สุระ คู่พงศกร เลขานุการนายก อบจ.ภูเก็ต นายไพฑูลย์ ศิลปวิสุทธิ์ นายปิยเดช เชื้อฉลาด และนายนิวิฐ อุ๋ยชินกรรม ที่ปรึกษานายก อบจ.ภูเก็ต ดร.บุญศุภภะ ตัณฑัยย์ คณะทำงานนโยบายด้านการศึกษา อบจ.ภูเก็ต นายวัชรินทร์ ปฐมวัฒนพงศ์ ปลัด อบจ. นางเสาวลักษณ์ จันทร์แก้ว รองปลัด อบจ. พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราช อบจ.ภูเก็ต และสื่อมวลชน เข้าร่วม

        นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับโครงการ “ภูเก็ตปลอดเชื้อ ปลอดโรค และปลอดภัย” ในการตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเชิงรุก ให้กับพี่น้องประชาชนจังหวัดภูเก็ตนั้น อบจ.ภูเก็ต ยังคงยืนยันที่จะทำต่อไปอย่างแน่นอน โดยการสนับสนุนจาก สปสช. และทาง สสจ.ภูเก็ต จะเป็นผู้ชี้เป้ากลุ่มเสี่ยงตามไทม์ไลน์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 2-15 พฤษภาคม 2564 ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกแล้วทั้งหมด 10 จุด ใน 3 อำเภอของจังหวัดภูเก็ต มีผู้เข้ารับการตรวจจำนวน 3,193  คน และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 11 คน ถือว่าทำให้ลดการแ

พร่เชื้อในวงกว้างได้จำนวนมาก นั่นหมายความว่า อบจ.ภูเก็ต ทำโครงการดังกล่าวอย่างได้ผล และจะมีการตรวจแบบเชิงรุกต่อไป

         ส่วนการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ด้วยการแจกถุงอุปโภคบริโภคนั้น ทาง อบจ.ภูเก็ต จะดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล และ อบต. โดยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบลงทะเบียนขอรับถุงอุปโภคบริโภคได้ตามท้องถิ่นต่างๆ ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน จากนั้นทางท้องถิ่นจะส่งรายชื่อทั้งหมดมาที่ อบจ. ซึ่งตามที่ตกลงไว้ว่า อบจ.ภูเก็ต จะให้การช่วยเหลือจำนวน 50% ของผู้เดือดร้อน ส่วนที่เหลือจำนวน 50 % ทางท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล ทั้งนี้มี 2 ท้องถิ่น ที่เสนอมาแล้ว เช่น อบต.เกาะแก้ว และเทศบาลตำบลรัษฎา ให้ อบจ.ภูเก็ต ช่วยเหลือเพียง 30% แต่บางท้องถิ่นที่มีเงินสะสมไม่เพียงพอ ก็ขอให้ อบจ.ช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่ง อบจ. จะดำเนินการตามที่ อปท. ส่งรายชื่อมา

        อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจะต้องลงทะเบียน เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ ดังนั้น อบจ.ภูเก็ต จึงไม่สามารถนำถุงอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายได้โดยตรง โดยไม่เปิดให้มีการลงทะเบียน เนื่องจากผิดระเบียบของกระทรวงมหาดไทย จึงขอยืนยันว่าถุงอุปโภคบริโภคจะแจกผ่านไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้ ในส่วนของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต แต่ไม่มีทะเบียนบ้านเป็นคนภูเก็ต ทาง อบจ.ภูเก็ต ได้หาทางออกในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเหล่านี้ โดยประสานกับสมาคม มูลนิธิ หรือผู้ที่มีจิตกุศล ในการนำสิ่งของไปช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งที่ผ่านมา อบจ.ภูเก็ต ได้ดำเนินการช่วยเหลือแล้ว จำนวน 410 ถุง

        ทั้งนี้ ในการดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด-19 หรือสถานการณ์ปกติ อบจ.ภูเก็ต จะยึดหลักดูแลพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ โดยดำเนินการตามกรอบและข้อกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัด และหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง อบจ.ภูเก็ต จะเดินทางหน้าขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับจังหวัดภูเก็ต เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตต่อไป