ภูเก็ตเตรียมความพร้อมมาตรฐานปฏิบัติ ของหน่วยงานต่างๆ ในการรับ นทท. ตามแผน Phuket Sandbox

ภูเก็ตเตรียมความพร้อมมาตรฐานปฏิบัติ
ของหน่วยงานต่างๆ ในการรับ นทท.
ตามแผน Phuket Sandbox

              นับถอยหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตามแผน Phuket Sandbox ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเหลือระยะเวลากว่า 10 วัน ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ล่าสุด​ นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล, ตรวจคนเข้าเมือง, ขนส่งจังหวัด, เจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต, ตำรวจภูธร เป็นต้น เพื่อพิจารณารายละเอียดของมาตรฐานปฏิบัติ (SOP) เมื่อนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางถึงท่าอากาศยานและเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต (กรณีอยู่ครบ 14 วัน) , มาตรฐานปฏิบัติ​ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต (กรณีครบ14 วัน และไม่ครบ 14 วัน) ช่องทางบกและทางน้ำ , การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่​ Day 0, Day 6 และ Day 13, การสุ่มตรวจเชิงรุกในกลุ่มผู้ประกอบการเสี่ยง 11 กลุ่ม, เกณฑ์การรับมือและการยกเลิกแผน Phuket Sandbox เมื่อเกิดการติดเชื้อจำนวนเท่าไหร่ และมีเงื่อนไขอื่นอย่างไร รวมทั้งการตั้งศูนย์บริหารจัดการ (EOC) ด้านการแพทย์

           นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตามแผน Phuket Sandbox ซึ่งจะเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในวันที่ 1 กรกฎาคมนั้น ทางจังหวัดภูเก็ตได้มีการเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเหลือเลขหลักเดียวมาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์แล้ว, มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับคนภูเก็ต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งมีการฉีดเข็มแรกไปแล้วกว่าร้อยละ 75, การพัฒนาระบบการติดตามตัวซึ่งจะใช้แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ, ส่วนของโรงแรม/ที่พัก, ร้านค้าร้านอาหาร, รถบริการนักท่องเที่ยว, บริษัทนำเที่ยว และธุรกิจบริการอื่นๆ ที่มีการขอรับมาตรฐาน SHA และ SHA Plus+ ขณะนี้มีประมาณ 300 แห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในช่วง​14 วัน

             นอกจากนี้​ ยังได้กำหนดมาตรการควบคุมดูแลไม่ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางออกนอกเกาะภูเก็ตไปยังพื้นที่อื่นๆ หากยังอยู่ภูเก็ตไม่ครบ 14 วัน ทั้งทางบก ผ่านด่านท่าฉัตรไชย และทางเรือ กำหนดไว้ 3 ท่าด้วยกัน คือ ท่าเรืออ่าวฉลอง ท่าเรือรัษฎา และท่าเรืออ่าวปอ โดยเฉพาะบริเวณด่านตรวจทางบกท่าฉัตรไชย ซึ่งจะมีการเสนอขอการสนับสนุนจากหน่วยงานส่วนกลางเพื่อยกระดับให้เทียบเท่ากับสนามบินภูเก็ต โดยจะมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ตำรวจ ตรวจคนเข้าเมือง ด่านควบคุมโรค แรงงาน มาประจำเพื่อควบคุมการเข้า-ออก โดยจะมีการกำหนดช่องทางแยกระหว่างการเข้ากับการออก ตลอดจนบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทย เช่น การพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตต่างๆ เป็นต้น

          โดยมาตรฐานต่างๆนั้น จะมีการนำเสนอให้ ศปก.ศบค.พิจารณา ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่การประชุม ศบค.อีกครั้ง​ ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ก่อนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

            อย่างไรก็ตาม นายพิเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้การดำเนินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จะมีการซักซ้อมแนวทางการปฎิบัติทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ โดยเฉพาะทางอากาศที่สนามบินภูเก็ต จะมีการซักซ้อมรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ลงจากเครื่องบิน การตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจเอกสารหลักฐานต่างๆ ตามที่กำหนดก่อนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และการสวอปหาเชื้อโควิด-19 วันแรกเมื่อมาถึง และรถที่มารับจะต้องผ่านมาตรฐาน SHA Plus+ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องอยู่ในห้องพักจนกว่าจะได้รับผลการตรวจการเชื้อ และจะมีการตรวจอีกครั้งในวันที่ 6 และวันที่ 12 ซึ่งในระหว่างพักอยู่ในภูเก็ต​ นักท่องเที่ยวสามารถเปลี่ยนที่พักที่เป็นโรงแรมได้รับเครื่องหมาย SHA Plus+ ได้ 3 โรงแรม ส่วนที่ด่านตรวจท่าฉัตรไชย จะเป็นการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ โดยจพอยู่, คืน จึงจะเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆของประเทศไทยได้ รวมทั้งการหาวิธีป้องกันการลักลอบออกนอกพื้นที่​ จะค้นหากันอย่างไร รวมถึงแนวทางสำหรับคนไทยที่จะเดินทางเข้ามายังเกาะภูเก็ตหลังการเปิดเกาะด้วย

             นายพิเชษฐ์ ได้กล่าวเพิ่มเติม ในระยะแรกนักท่องเที่ยวอาจจะไม่ได้เข้ามาจำนวนมาก โดย ททท.มีการประมาณการไว้ว่า ในช่วงไตรมาส 3 นี้ คาดว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาภูเก็ตประมาณ 129,000 คน และจะสร้างรายได้ 1.1 หมื่นล้านบาท