ภูเก็ตเน่าหึ่ง..!!!..โลกโซเชียล คลิปโรงแรมดังไล่นักท่องเที่ยวพ้นหาด

         ภูเก็ตฉาว เน่ากระฉ่อนโลกโซเชียลอีก หลังจากมีคลิปไลท์สดผ่านเฟซบุ๊ค ของ Aziz Yotharak ภาพพนักงานโรงแรม “ดุสิตลากูน่า” หาดบางเทา ไล่นักท่องเที่ยวออกจากหาดหน้าโรงแรม อ้างเป็นพื้นที่โรงแรม แชร์วิจารณ์กันว่อน ผู้ว่าฯ สั่งพื้นที่ตรวจสอบ ด้วยเป็นพฤติกรรมสวนทางยุทธศาสตร์นโยบายจังหวัด ที่ปักหมุดวางมาตรการเข้มให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชนเน้นสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว และเป็นเจ้าบ้านที่ดี ยกระดับภูเก็ตสู่การท่องเที่ยวโลก นายอำเภอถลาง พร้อมนายก อบต.เชิงทะเลเจ้าของพื้นที่ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ดินเข้าตรวจพบมีหลักโฉนดที่ดินแนวหาดเลพัง-บางเทา 2 จุด ว่าออกถูกต้อง นายอำเภอเข้าเจรจาขอให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยสนองนโยบายจังหวัด ให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี “ดุสิตลากูน่า” ร่อนหนังสือแจงสื่อ ไม่ได้ไล่ แต่ขอให้ย้ายออก เกรงกิ่งสนหักใส่ ด้าน DSI แจงละเอียดยิบการออกโฉนดที่ชายหาด ส่วนการลงพื้นที่รังวัดเลพัง-ลายัน 178 ไร่ ออกนสล.หลังศาลพิพากษาตัดสิน เป็นที่สาธารณะให้ประชาชนใช้ร่วมกัน ปรากฏยังมีผู้ฝ่าฝืนศาลฎีกา ยันการเป็นเจ้าของ นายกอบต.เจ้าของพื้นที่บอก ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย สุดท้ายก็ต้องใช้ความเด็ดขาด เอาที่ดินคืนประชาชน

ไลฟ์สดกระฉ่อนโซเชียล

รร.ไล่ นทท.ออกจากหาด

         เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2561 ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวกระฉ่อนโลกโซเชียลทำให้ภูเก็ตเสียภาพลักษณ์ขึ้นมาอีก จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ค ชื่อ Aziz Yotharak โพสต์คลิปไลท์สดภาพเหตุการณ์ขณะพนักงานโรงแรมดุสิต ลากูน่า ในเครือ ดุสิตธานี กำลังเข้าไปแจ้งให้นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาเป็นครอบครัว และนำเสื่อมาปูนั่งบนชายหาดหน้าโรงแรม ใจความโดยสรุปคือ ไม่ให้นักท่องเที่ยวนั่งในบริเวณชายหาดดังกล่าว เนื่องจากเป็นพื้นที่ของโรงแรม ซึ่งการเข้าไปชี้แจงสร้างความมึนงงให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก คลิปไลท์สดดังกล่าวความยาวประมาณ 1 นาที 40 วินาที หลังจากนั้นพนักงานและนักท่องเที่ยวต่างก็แยกย้ายกันไป สำหรับคลิปนี้ มีผู้เข้าชมและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ต่างวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

ว่าชายหาดที่มีปัญหา

อยู่ในบริเวณโรงแรม

         เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เกิดเหตุ โดย นายมาแอน กล่าวว่า หลังจากทราบว่ามีคลิปดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที ซึ่งจากการสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ของโรงแรมที่เกิดเหตุ คือโรงแรมดุสิต ลากูน่า

         ทราบว่า ทาง GM โรงแรมได้สั่งให้พนักงาน แจ้งนักท่องเที่ยวที่เป็นแขกนอก ที่มาใช้พื้นที่บริเวณโรงแรมและสระว่ายน้ำจะต้องซื้อวอเชอร์เท่านั้น ไม่ได้สั่งให้ไล่นักท่องเที่ยวที่มานอนชายหาด แต่พนักงานรายดังกล่าวกลับไปไล่นักท่องเที่ยวจนเกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งตนคิดว่าภาพลักษณ์ที่ออกไปเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตอย่างแน่นอน

         จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณจุดที่นักท่องเที่ยวปูเสื่อและมีเด็กนั่งเล่นตามภาพที่เห็นในคลิปไลฟ์สดพบว่า บริเวณนั้นเป็นชายหาด ทุกคนที่เห็นภาพก็คิดเหมือนตนว่า น่าจะเป็นชายหาดสาธารณะ แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่า ชายหาดดังกล่าวอยู่ในเขตโฉนดของโรงแรม มีหลักเขตปักไปถึงจุดที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งตนเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่ไปปูเสื่อ หรือนักท่องเที่ยวอื่น รวมทั้งคนไทยเองก็คงไม่รู้ และคนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเป็นชายหาดสาธารณะ

         เรื่องนี้ตนได้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไปแล้ว ว่าควรจะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา เพราะจุดที่มีหลักเขตเป็นจุดที่น้ำทะเลท่วมถึง เป็นจุดที่ควรจะอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าท่า ที่จะต้องเข้ามาดูแลจัดการเรื่องนี้ เชื่อว่าทุกคนก็คงเข้าใจเหมือนตนกรณีที่เป็นชายหาดส่วนใหญ่ก็จะคิดว่าเป็นชายหาดสาธารณะ จึงทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น

         ในพื้นที่เชิงทะเลมีหลายจุด ที่พื้นที่เป็นชายหาดแต่มีหลักเขตปักอยู่บนชายหาด ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องหามาตรการในการดำเนินการกับสิ่งเหล่านี้ ว่าควรจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เพราะปัจจุบันชาวบ้านก็ด่าทางท้องถิ่นอยู่แล้วว่าปล่อยให้หลายพื้นที่มีการวางร่มเตียง ทั้งๆ ที่เป็นบริเวณชายหาดเหมือนกัน

พบเลพัง-บางเทา 2 จุด

หลักโฉนดอยู่บนหาด

         สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 7 มกราคม 2561 นายกองโทอดุลย์ ชูทอง นายอำเภอถลาง  จ.ภูเก็ต พร้อมด้วย พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม บก.ควบคุม พล.ร.5 นายจิรยุทธ์ จิรสุนทรกุล กำนันตำบลเชิงทะเล, นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล (อบต เชิงทะเล) และผู้ประกอบการชายหาด ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณหาดเลพัง-บางเทา ด้านหน้าโรงแรมดุสิต ลากูน่า

        หลังได้รับมอบหมายจาก นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีการเผยแพร่คลิป ขณะเจ้าหน้าที่โรงแรมดังกล่าว ได้เข้ามาพูดคุยกับนักท่องเที่ยว เพื่อขอให้ออกจากบริเวณชายหาดหน้าโรงแรม จนมีการแชร์คลิปไปเป็นจำนวนมาก

         นายกองโทอดุลย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว พบว่า เป็นพื้นที่มีสภาพเป็นหาดทราย ซึ่งย่อมทำให้ทุกคนต้องเข้าใจว่าบริเวณดังกล่าวเป็นหาดสาธารณะ แต่ในข้อเท็จจริงที่ตรวจพบว่า แนวเขตที่ดินของโรงแรมดุสิตฯ หลักเขตทางด้านทิศตะวันตกซึ่งติดหาดและชายทะเล จะมีการแสดงแนวเขตที่ดินปักอยู่บริเวณบนหาดทราย  ซึ่งอาจจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่าสภาพจุดพื้นที่ที่เกิดเหตุ เป็นพื้นที่สาธารณะ และนักท่องเที่ยวสามารถที่จะเข้าใช้พื้นที่นั้นได้ จึงทำให้เกิดการเข้าใจผิดและเป็นที่มาของปัญหา

         อย่างไรก็ตามสำหรับพื้นที่บริเวณหาดเลพัง-บางเทา จะมีอยู่  2 จุด ที่มีปัญหาโฉนดอยู่บนชายหาดทราย เหมือนกัน คือ หาดทรายหน้าโรงแรมอังสนา ลากูน่าภูเก็ต และโรงแรมดุสิต ลากูน่า  โดยแนวเขตทิศตะวันตกจด กับที่ดิน นสล. เนื้อที่ 17 ไร่ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จะมีการแจ้งผู้เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และ ดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป

         นายกองโทอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า  นอกจากจะลงพื้นก็ยังได้ประชุมหารือกับทางผู้ประกอบการโรงแรม ถึงแนวทางในการปฏิบัติเพื่อไม้ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ เพราะภาพที่ออกไปนั้นยอมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมได้ ควรจะเป็นเจ้าบ้านที่ดีถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม้ควรที่ทำแบบนั้นกับนักท่องเที่ยวแม้ว่าขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวจะอยู่ในส่วนของโรงแรมก็ตาม เพราะถ้าโดยสภาพทุกคนที่เห็นพื้นที่ก็คงมีความเข้าเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ จึงอยากให้ทุกคนร่วมกันดูแลนักท่องเที่ยวและทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดี ส่วนเรื่องของที่ดิน ก็คงจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้นต่อไป

พีอาร์.โบ้ยถูกผู้ค้าเร่แกล้ง

ห้ามขายของในพื้นที่ รร.

         อย่างไรก็ตาม ในประเด็นดังกล่าวทางผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงแรมดุสิตธานี ได้รับการชี้แจงว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เข้ามา ใช้พื้นที่บริเวณชายหาดจริง และเจ้าหน้าที่ของโรงแรมดุสิตธานีจึงได้เข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงว่า พื้นที่บริเวณชายหาดแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่โรงแรมดุสิตธานีได้สงวนไว้  เบื้องต้นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็รับทราบ และเข้าใจเป็นอย่างดี

         ในส่วนของการเกิดไลท์สดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มผู้ค้าเร่ขายของเข้ามาขายของในพื้นที่บริเวณชายหาดที่เป็นพื้นที่สงวนของโรงแรมดุสิตธานี แต่ทางโรงแรมได้สั่งห้ามกลุ่มผู้ค้าเร่ดังกล่าวเข้ามาขาย เพราะเป็นการรบกวนสร้างความรำคาญให้นักท่องเที่ยว อาจจะทำให้ผู้ค้าเร่ไม่พอใจ จึงฉวยโอกาสไลท์สดเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ของโรงแรมโพสต์ออกสู่สาธารณะ

ที่ดินแจงโฉนดติดหาด

น่าจะเกิดจากน้ำกัดเซาะ

         ต่อมา เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 นายยงยุทธ กาญจนานุรักษ์ เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต สาขาถลาง กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ในส่วนของสำนักงานที่ดินยังไม่สามารถลงไปรังวัดแนวเขตในพื้นที่ที่เกิดเหตุได้ สำหรับการลงไปรังวัดแนวเขตนั้นจะต้องให้องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล และอำเภอถลาง ยื่นเรื่องขอรังวัดเข้ามาถึงจะดำเนินการได้

         แต่อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุขึ้น ในเบื้องต้นได้สั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่รังวัดของสำนักงานที่ดินสาขาถลาง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงล่วงหน้าแล้ว ซึ่งจุดที่เกิดเหตุนั้นเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวเขตของโรงแรม แต่ด้านหน้าที่ดินของโรงแรมก่อนจะถึงทะเลก็จะมีที่ดิน นสล.หรือชายหาดสาธารณะตลอดแนวชายหาด

         ส่วนกรณีการออกโฉนดที่ดินในแปลงดังกล่าวจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการออกโฉนดโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ถัดโฉนดออกไป ก็เป็นที่หลวงที่มีการออกเป็นหนังสือสำคัญที่หลวง เลขที่ ภก.0015 เนื้อที่กว่า 17 ไร่ กันไว้ตลอดแนวชายหาดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกลงไปในทะเล จึงกันพื้นที่ไว้เป็นตะเข็บตลอดแนว

         ส่วนกรณีที่ดินของโรงแรมเป็นหาดทรายนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ และจากการตรวจสอบพบว่าทางโรงแรมเองก็มีการนำหลักเขตมาปักไว้เพื่อบอกแนวเขตที่ดินของตัวเอง ซึ่งก่อนที่จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็เคยมีการตรวจสอบกันมาแล้วหลายครั้ง

         นายยงยุทธ ยังได้กล่าวต่อไปว่า กรณีที่มองว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่น้ำทะเลท่วมถึง จะต้องตกเป็นของหลวงหรือไม่นั้น คงจะต้องดูหลักฐานโฉนดของทางเจ้าของที่ดินว่ามีการครอบครองเมื่อไหร่ ก่อนครอบครองสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร จากการตรวจสอบพบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีการออกเอกสารสิทธิ์มานานแล้ว แต่น้ำทะเลกัดเซาะเข้ามาเรื่อยจนเป็นสภาพตามที่เห็น ซึ่งในปัจจุบันเจ้าของยังรักษาสิทธิ์อยู่

         สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวออกเอกสารสิทธิ์โดยใช้ ส.ค. 1 เลขที่ 17 หมู่ 1 ต.เชิงทะเล เนื้อที่ 17 ไร่กว่า และ นำมาออกเป็น นส.3 ก.เลขที่ 1362 เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2521 โดยใช้วิธีเดินสำรวจ หลังจากนั้นขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 42109 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2552

         นายยงยุทธ ยังได้กล่าวต่อไปถึงที่ดินนสล.ที่กันไว้เป็นแนวตะเข็บเพื่อป้องกันการบุกรุก ว่า จากการตรวจสอบยืนยันได้ว่าปัจจุบันที่หลวงยังอยู่ ซึ่งนักท่องเที่ยวก็สามารถที่จะมาใช้พื้นที่ที่เป็นที่หลวงซึ่งอยู่นอกเขตที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ได้ จากการตรวจสอบตามสารบบที่ดิน ยืนยันว่าที่หลวงยังมีอยู่ชัดเจน ซึ่งที่ดินตามโฉนดไม่ได้ติดทะเลเพราะมีที่ดิน นสล.กั้นอยู่ตลอดแนวชายหาด

รร.ดุสิตฯร่อนหนังสือแจงสื่อ

ให้ออกไปหวั่นกิ่งสนหักใส่

         ในช่วงเย็นวันเดียวกัน (8ม.ค.) ทาง โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต ได้ทำจดหมายชี้แจงไปยังสื่อมวลชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า กรณีพนักงานโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต ขอให้นักท่องเที่ยวออกจากชายหาดบริเวณหน้าโรงแรม สืบเนื่องมาจาก กรณีที่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียท่านหนึ่งได้โพสต์คลิปวิดีโอ พร้อมคำบรรยายว่า โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต ไล่นักท่องเที่ยวไม่ให้นั่งบริเวณชายหาดหน้าโรงแรมบนเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เมื่อ วันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนแก่ประชาชนนั้น

         ทางโรงแรมขอชี้แจ้งข้อเท็จจริงดังนี้ “ในวันที่เกิดเหตุนั้น เจ้าหน้าที่ของโรงแรมได้เข้าไปชี้แจงอย่างสุภาพต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยขอให้เคลื่อนย้ายไปยังจุดใกล้เคียง เนื่องจากบริเวณที่นักท่องเที่ยวปูเสื่อพักผ่อนกับครอบครัว อยู่บริเวณใต้ต้นสน และอาจจะมีกิ่งสนหักหล่นลงมาทำอันตรายต่อครอบครัวได้

         ประกอบกับบริเวณดังกล่าวอยู่ภายในเขตที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงแรม จึงถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของเราในการดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของแขก รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการภายในบริเวณโรงแรม

         ทั้งนี้ ถึงแม้ฝ่ายบริหารของโรงแรมมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความดูแลความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยต่อแขกที่มาพัก แต่ทางโรงแรมก็ยินดีที่จะอำนวยความสะดวกแก่ท่องเที่ยวท่านอื่นๆ เพราะเราตระหนักดีว่า การรักษาภาพลักษณ์การท่องเที่ยวถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ และประชาชนทุกคนในพื้นที่

ผู้ว่าฯ พร้อมที่ดินแจง

ที่มาของโฉนดชายหาด

         ต่อมารุ่งขึ้นเช้าวันที่ 9 มกราคม 2561 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตามที่มี ผู้ใช้เฟชบุ๊กโพสต์คลิปอ้างพนักงานโรงแรมดังภูเก็ตไล่นักท่องเที่ยวออกจากหาดเลพัง-บางเทา บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 7 มกราคม 2561 นั้นได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อเวลา 17.15 น. ของวันที่ 7 มกราคม 2561 นายอำเภอถลาง กำนันตำบลเชิงทะเล นายก อ.บ.ต. เชิงทะเล และผู้ประกอบการชายหาด ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ พบว่ามีสภาพเป็นหาดสาธารณะ แต่ในข้อเท็จจริงพบว่าเป็นแนวเขตด้านทิศตะวันตกติดหาดทรายและชายทะเลมีหลักการแสดงแนวเขตที่ดินปักอยู่บริเวณชายหาด

         ขณะที่ นายอำนวย พิณสุวรรณ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏบริเวณที่ดินตามข่าวเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 42109 เลขที่ดิน 159 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 17 ไร่-งาน 84.6 ตารางวา เป็นการออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายตามมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 โฉนดที่ดินดังกล่าวออกสืบเนื่องมาจากหลักฐาน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1473 แบ่งแยกมาจาก น.ส.3 ก. เลขที่ 1362 ตำบลและอำเภอเดียวกันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2529 และ น.ส.3 ก. เลขที่1362 ออกโดยการเดินสำรวจออก น.ส.3 ก.มาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินจากหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 17 หมู่ที่ 1 ตำบลเชิงทะเล เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2521 ผลการ ตรวจสอบข้างเคียงด้านทิศตะวันตกของโฉนดที่ดินเลขที่ 42109 ปรากฏจดหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ภก 0015 (ทะเลพังสาธารณประโยชน์) เนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 66 .6 ตารางวา ซึ่งหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2536 ข้างเคียงด้านทิศตะวันออกระบุจด น.ส.3ก. เลขที่ 1473 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหลักฐานเดิมของโฉนดที่ดินเลขที่ 42109 และจากการตรวจสอบเอกสารที่ปรากฏ ในขณะรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ 42109 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ไม่ได้รุกล้ำที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด เนื่องจากข้างเคียงด้านทิศตะวันตกของโฉนดที่ดินเลขที่ 42109 ด้านจดหาดทรายชายทะเล มีการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งมีแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ที่ชัดเจนแล้ว

         นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว พบว่าเป็นพื้นที่มีสภาพเป็นหาดทราย ซึ่งย่อมทำให้ทุกคนต้องเข้าใจว่าบริเวณดังกล่าวเป็นหาดสาธารณะ แต่ในข้อเท็จจริงที่ตรวจพบว่า แนวเขตที่ดินของโรงแรมดุสิต หลักเขตทางด้านทิศตะวันตกซึ่งติดหาดและชายทะเล จะมีการแสดงแนวเขตที่ดินปักอยู่บริเวณบนหาดทราย (หลักเสาปูนและบางส่วนก็จะมีป้ายประกาศแนวเขต) ซึ่งอาจจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่า เมื่อสภาพจุดพื้นที่ที่เกิดเหตุ เป็นหาดทรายบริเวณดังกล่าวก็น่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ และนักท่องเที่ยวสามารถที่จะเข้าใช้พื้นที่นั้นได้ จึงทำให้เกิดการเข้าใจผิดและเป็นที่มาของปัญหา

         โดยภายหลังการตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน แล้ว นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามเพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเขตของสาธารณประโยชน์ในปัจจุบันว่ายังอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือไม่ ได้มอบหมายให้ สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง ได้ประสานให้อำเภอถลางและองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวอีกครั้ง

DSI แจงละเอียดยิบ

กรณีออกโฉนดที่หาด

         สำหรับปัญหาการครอบครองที่ชายหาดนั้น เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่งมีประสบการณ์ตรวจสอบคดีที่ดินในพื้นที่ทะเลอันดามันจำนวนมาก อธิบายข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนชายหาดว่า โดยหลักการทั่วไป ชายหาดถูกจัดเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ จึงไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ เว้นแต่จะมีที่ดินงอกออกมาจากพื้นที่มีเอกสารสิทธิของเอกชน จึงจะสามารถออกได้ แต่จะถือเป็นเอกสารสิทธิที่ดินแปลงเดียวกัน

         เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณหาดเลพัง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่เกิดปัญหา จะเห็นว่า ในภาพสีขาวดำ คือ ภาพเมื่อปี 2510 ถูกนำมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียม ปี 2557 จะเห็นแนวพื้นที่ในกรอบสีแดงทั้งหมด คือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิในปัจจุบัน

         ภาพปี 2557 เห็นชัดว่า พื้นที่ในกรอบสีน้ำเงิน ที่อ้างเอกสารสิทธิ ถูกครอบครองทำประโยชน์แล้วตลอดทั้งแนว แต่เมื่อเทียบกับภาพปี 2510 จะเห็นว่า แนวในกรอบสีแดงทั้งหมด ล้วนเป็น “ทะเล” หรือ จุดที่น้ำทะเลท่วมถึง

         เมื่อพบว่า ในปี 2510 พื้นที่ส่วนนี้เป็นทะเล จึงเกิดคำถามว่า การออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ตามแนวชายหาดทั้งหมดนี้ ทำได้อย่างไร เพราะตามหลักการออกโฉนดที่ดิน ผู้ที่จะขอออกโฉนด จะต้องมีเอกสารสิทธิ นส.3ก และก่อนจะมี นส.3ก จะต้องมีเอกสารแสดงการครอบครองทำประโยชน์ สค.1 ซึ่งต้องครอบครองมาก่อนปี 2498 แย้งกับภาพถ่ายที่เห็นว่า ในปี 2510 เป็นทะเล ซึ่งไม่สามารถมี สค.1 อยู่ในทะเลมาก่อนหน้านั้นได้ ดังนั้นหากตรวจสอบกลับไป ผู้ที่อ้างเอกสารสิทธิ จะต้องพิสูจน์สิทธิ์ด้วยการนำใบแจ้งครอบครองที่ดิน สค.1 ที่ออกภายใน 30 พฤษภาคม 2498 มาแสดง

         รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ผู้ครอบครองที่ดินชายหาดส่วนใหญ่ จะใช้วิธีนำหลักฐาน สค.1 ระบุข้อมูลของที่ดินแปลงอื่น นำมาสวมทับพื้นที่ชายหาด แล้วอ้างว่า เป็นที่ดินของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า สค.1 บินหรือบางราย จะใช้ใบจองที่ น.ส.2 มาแสดงแทน สค.1 โดยอ้างว่า เป็นเอกสารที่นำไปยื่นเพื่อขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน หรือ นส.3 ก ก่อนจะนำไปออกเป็นโฉนด ซึ่งขั้นตอนนี้หากเจ้าหน้าที่ยอมทำเอกสารให้ เท่ากับว่าร่วมกันทุจริต ออกโฉนดโดยมิชอบ

         ผู้ที่ร่วมออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะมีความผิดตามมาตรา 157 คือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 พันบาทถึง 2 หมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับและมาตรา 149 คือ เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 -20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต

         ส่วนเอกชนที่ขอให้เจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิให้ จะมีความผิดตามมาตรามาตรา 86 คือ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และมีความผิดฐานบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์

รังวัดหาดเลพัง-ลายัน

ออกนสล.ให้ประชาชน

         เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 มกราคม 2561เวลา 10.00 น.เศษ นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล (อบต.เชิงทะเล) อ.ถลาง จ.ภูเก็ตพร้อมด้วย นายยงยุทธ กาญจนานุรักษ์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง, พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รอง ผบ.ร. 25 พัน 2 ชุดรักษาความสงบ จ.ภูเก็ต, นายจิรยุทธ์ จิรสุนทรกุล กำนันตำบลเชิงทะเล,  เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอถลาง และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ได้ร่วมกับกำลังเจ้าหน้าที่รังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง, เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลทหารราบที่ 5, ทัพเรือภาคที่ 3, กรมป่าไม้, ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต, เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชิงทะเล และเจ้าหน้าที่ อบต.เชิงทะเล ลงพื้นที่บริเวณหาดเลพัง-ลายัน  เพื่อรังวัดแนวเขต ที่ดิน แปลงที่ดินเนื้อที่ 178 ไร่ มูลค่าร่วม 14,000 ล้านบาท หลังศาลมีคำพิพากษาให้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณะประโยชน์  และก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการนำป้ายประกาศเตือนให้ผู้ที่ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวทำการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออกไปจากพื้นที่เพื่อจะนำมาพัฒนาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป

กลุ่มผู้บุกรุก“ดื้อตาใส”

ไม่ยอมรับคำพิพากษา

         อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการรังวัดได้มี นายกนกพล สมรักษ์ อายุ 50 ปี  ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลง ร้านโทนี่เรสทัวรองส์ เนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ดินที่ศาลจังหวัดภูเก็ต ตัดสินให้เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ พร้อมทนายความ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการรังวัดที่ดิน ซึ่งเนื้อหาบางส่วนในหนังสือคัดค้าน สรุปว่า ที่ดินแปลงนี้ มีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 7 และ 17 เป็นการแสดงสิทธิครอบครองมาแต่เดิม ไม่ใช่ที่สาธารณะ เช่นเดียวกับผู้ครอบครองที่ดินอีกรายที่มายื่นหนังสือคัดการการรังวัดที่ดินเช่นกัน โดยระบุว่าที่ดินที่ตนเองครอบครองเป็นการครอบครองตามเอกสารสิทธิ์ และตนไม่ใช่ 6 รายที่ถูกศาลตัดสินให้ออกจากพื้นที่

         หลังจากมีการยื่นหนังสือคัดค้าน ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจถึงการรังวัดแนวเขตในครั้งนี้ จะมีการรังวัดในส่วนของเขตพื้นที่รอบนอกจะไม่เข้าไปในพื้นที่ที่มีการอ้างเอกสารสิทธิครอบครองแต่อย่างใด หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่จึงได้รังวัดแนวเขตที่ดิน ดังกล่าว และมีการนำหลักเขตมาปักจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

         นายยงยุทธ กาญจนานุรักษ์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง กล่าวถึงการลงรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าวว่า  เป็นการรังวัดเพื่อทำแผนที่ประกอบการทำพื้นที่สงวนหวงห้ามเนื้อที่ 178 ไร่ ตามคำพิพากษาของศาลของศาลจังหวัดภูเก็ต ประกอบการพิจารณาเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้ความเห็นชอบ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติอนุมัติต่อไป

         โดยการอนุมัติที่ดินสงวนหวงห้ามแปลงนี้ ต้องอาศัยอำนาจตามระเบียบคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 9 พ.ศ.2529  โดยในขั้นตอนที่ 10 และ 11 นั้นต้องมีแผนที่แนบท้าย เพื่อให้ทราบอาณาเขตที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร เมื่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินฯ เห็นชอบก็จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาสงวนหวงห้ามเพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป

         ส่วนกรณีที่ยังมีประชาชนบางรายยืนยันการครอบครองอยู่นั้น นายยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับที่ดินแปลงนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นที่ดินของรัฐ โดยให้โจทก์ 6 คน และบริวาร รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออกไป ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องว่ากันไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

         ด้าน นายมาแอน สำราญ นายก อบต.เชิงทะเล กล่าวเสริม ว่า กรณีที่มีผู้ครอบครองบางรายยังคงอยู่ในพื้นที่นั้นคงต้องไปดูในคำพิพากษา ซึ่งหากมีการฝ่าฝืน ก็มีการระบุบทลงโทษไว้เช่นกัน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีหมายบังคับคดีอีก 1 ชุด มาปิดประกาศเพื่อแจ้งให้ทราบ หลังจากมีการปิดหมายบังคับคดี หากยังมีการตรวจพบว่า มีการดื้อดึงครอบครองพื้นที่อยู่อีก ก็จะมีการประชุมเพื่อดำเนินการในขั้นตอนของการใช้หมายบังคับคดีภายใน 30 วัน จากนั้นก็จะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพื่อนำเอาที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป.