ม.ราชภัฏภูเก็ต จับมือกรมการท่องเที่ยว ยกระดับมาตรฐานมัคคุเทศก์ท้องถิ่น

         เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 ม.ราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.ภูเก็ต เปิดการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค “กรณีเปลี่ยนผ่านประเภทใบอนุญาตจากมัคคุเทศก์เฉพาะ เป็นมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้)” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพมัคคุเทศก์อาชีพ จ.ภูเก็ต โดยมี นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต เป็นประธาน ร่วมด้วย ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต นางสาวศิริวรรณ พรเลิศวิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนำเที่ยว กรมการท่องเที่ยว ตลอดจน ผู้แทนส่วนราชการ และมัคคุเทศก์ จำนวนกว่าพันคน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมขุนเลิศโภคารักษ์ ศูนย์ประชุม ม.ราชภัฏภูเก็ต

         นางสาวศิริวรรณ พรเลิศวิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนำเที่ยว กล่าวว่า “เนื่องจากการขอใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ทุกประเภทตามกฎกระทรวง กำหนดให้ผู้ขอต้องผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ความสามารถในการเป็นมัคคุเทศก์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวกำหนด ซึ่งผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตกรณีเปลี่ยนผ่านประเภทใบอนุญาตจากใบอนุญาตมัคคุเทศก์เฉพาะ เป็นมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้) จะต้องผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ความสามารถนั้น กรมการท่องเที่ยว และหน่วยงานพันธมิตร จึงได้จัดอบรมครั้งนี้ขึ้นเพื่อเพิ่มความรู้ ทักษะ และความสามารถ ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพของมัคคุเทศก์ตามหลักสูตรที่คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวกำหนด นำไปสู่การยกระดับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวมุ่งไปสู่ความเป็นมืออาชีพ เป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยแบ่งการอบรมเป็น 5 รุ่น จำนวน 2,500 คน”

         ด้าน ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า “ม.ราชภัฏภูเก็ต มีแนวทางในการบริการวิชาการ รูปแบบหลักสูตรระยะสั้น หรือการอบรมหลักสูตรเฉพาะด้านที่เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่น ทั้งนี้มัคคุเทศก์เป็นบุคลากรที่สำคัญในการช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ด้วยการสร้างดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยว จึงได้จัดอบรมดังกล่าวขึ้นด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการพัฒนาขีดความสามารถของมัคคุเทศก์ (ภาคใต้) ให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้นในด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น มีข้อมูลที่ทันสมัยสอดรับกับสถานการณ์ ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานได้ตามความต้องการของภาคธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงานสร้างรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก อันสอดคล้องกับการเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ”