ม.อ.ภูเก็ต เริ่มเดินหน้า “รพ.ม.อ. ภูเก็ต” หลัง ครม.อนุมัติงบกว่า 3,000 ล. หนึ่งในโครงการ “ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน

ม.อ.ภูเก็ต เริ่มเดินหน้า “รพ.ม.อ. ภูเก็ต” หลัง ครม.อนุมัติงบกว่า 3,000 ล. หนึ่งในโครงการ “ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน”

                  ​รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบแล้วโครงการณในภาพรวม ซึ่งใช้วงเงินในการดำเนินการ จำนวน 5,116 ล้านบาท เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยเป็นงบประมาณผูกพัน 5 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2566 -2570 ภายในโครงการจะประกอบด้วย วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ ซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เป็นต้น เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เมดิคัล ฮับ, โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต รองรับการรักษาผู้ป่วยตติยภูมิ และโรคที่มีความซับซ้อน, ศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล , ยกระดับแพทย์แผนไทยสู่แพทย์แผนโลก และศูนย์เทคนิคการแพทย์ ซึ่งจะเป็นต้นทางในการตรวจเช็คร่างกาย การตรวจวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการ การตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ทั้งแก่ ประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐานและทันสมัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย

                  ​ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างโรงพยาบาล ม.อ.ภูเก็ต วงเงิน 3,140 ล้านบาท ขณะนี้ได้ผู้รับเหมาออกแบบเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 8 เดือนข้างหน้า หากเป็นไปตามห้วงเวลาดังกล่าว จะสามารถเริ่มก่อสร้างเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2567 นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ตามแผนงานเดิมจะเป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง แต่ด้วยงบประมาณที่ได้รับจะมีการขยายเพิ่มเป็น 500 เตียง ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรี ได้ให้คำแนะนำด้วยว่า เพื่อไม่ให้ภารกิจทับซ้อนกับการให้บริการของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น ภารกิจหลักของโรงพยาบาล ม.อ.ภูเก็ต จะเน้นการดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อน และเป็นการส่งต่อมาจากระบบสาธารณสุขในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมา ส่วนตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคซับซ้อนที่มีการส่งต่อในฝั่งอันดามัน 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ มีจำนวน 13,500 ครั้ง หรือประมาณ 9,000 คนเศษ หมายความว่ามีผู้ป่วยบางรายมีการส่งซ้ำ ซึ่งถือเป็นช่องว่างของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ และเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีโรงพยาบาลฯ มารองรับ

                 นอกจากนี้ รศ.ดร.พันธ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนของการเตรียมความพร้อมที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลนั้น ได้มีการผลิตบุคลากร โดยเปิดรับนักศึกษาแพทย์หลักสูตรนานาชาติไปแล้ว จำนวน 1 รุ่น และอยู่ระหว่างรับนักศึกษาแพทย์ รุ่นที่ 2 ในส่วนของพยาบาล ได้มีการเปิดรับนักศึกษาพยาบาลไปแล้ว 3 รุ่น เป็นหลักสูตรนานาชาติเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรของผู้ปฏิบัติงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอีกกว่า 25 หลักสูตรด้วย