รถไฟฟ้าภูเก็ตสร้างปี 63 แน่ “ภูเก็ตพัฒนา” อาจได้เอี่ยว

       ครม.ไฟเขียวพ.ร.ก.เปิดทางให้ รฟม. ขยายการดำเนินการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ต พังงา ได้นอกเหนือจากในกทม.-ปริมณฑล ด้าน “คมนาคม” เผยในภูเก็ต เริ่มจากสถานีท่านุ่น พังงา ไปสิ้นสุดห้าแยกฉลอง 58.5 กม. ส่วนผู้ว่าฯ “นรภัทร” เผยความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ออกมาชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้วตาม พ.ร.ก.ที่ให้ รฟม.ดำเนินการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) ปลายปีสรุปผลร่วมทุน PPP งบ 3.9 หมื่นล้าน เบื้องต้นภาคเอกชนทุนท้องถิ่น “ภูเก็ตพัฒนา” จะเข้าร่วมทุน คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563 และจะ เสร็จสมบูรณ์เปิดให้บริการได้ในปี 2566

       เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาการให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ พังงา และภูเก็ตได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555 ครม. มีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนขนส่งจราจร (สนข.) เป็นผู้จัดทำโครงการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงเส้นทางในเมืองสำคัญตามภูมิภาค และเส้นทางเชื่อมโยงระหว่าง 2 ฝั่งทะเล ทางสนข.ได้ผลสรุป เห็นควรให้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการรถไฟสายใหม่เส้นทางสุราษฎร์ฯ-พังงา-ภูเก็ต เป็นลักษณะการขนส่งที่เรียกว่า “ระบบรถไฟฟ้ารางเบา”

       ส่วนการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน รฟม.สามารถดำเนินการรถไฟฟ้าได้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น และเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลพยายามขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางหลัก หรือเส้นทางรองที่เชื่อมโยงระหว่างจุดต่างๆที่สำคัญ นอกจากนี้สำนักงบประมาณยืนยันจะไม่เกิดภาระด้านงบประมาณในขณะนี้ เพราะเป็นแค่เพียงขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้ รฟม.สามารถดำเนินการได้ แต่กระบวนการขั้นตอนที่จะเริ่มดำเนินการโครงการค่อยไปว่ากันภายหลัง

        ด้าน นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. …. จำนวน 2 โครงการ ดังนี้

        1.1 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ และได้นำเสนอผลการศึกษาตามรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 ต.ต. 2560 สาระสำคัญโดยสรุปคือ ระบบหลักเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) ซึ่งเป็นโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track

         1.2 ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต สนข. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี – พังงา – ภูเก็ต ซึ่งได้ข้อสรุปในส่วนของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตและสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ซึ่งได้บรรจุไว้ในโครงการตามมาตรา PPP Fast Track

        ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รฟม. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 22 ม.ค. -16 ก.พ. 2561 ซึ่งโดยรวมเห็นด้วยกับการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบราง และให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งดำเนินโครงการ

        ต่อมา เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 กันยายน 2561 ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พบสื่อมวลชน ครั้งที่ 11/2561 โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์ จังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า และสื่อมวลชนในจังหวัดภูเก็ตกว่า 70 คน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

        โอกาสนี้ นายนรภัทร ได้แถลงความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) ว่าครม.อนุมัติให้ รฟม.ก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่ “ภูเก็ต” โดย รฟม.คาด เดือนพฤศจิกายน ปลายปีนี้ จะสรุปผลศึกษาเปิดร่วมทุน PPP รถไฟฟ้าภูเก็ต 3.9 หมื่นล้าน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. …. จำนวน 2 โครงการ เพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถดำเนินโครงการได้เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตและสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ซึ่งได้บรรจุไว้ในโครงการตามมาตรา PPP Fast Track ซึ่ง รฟม.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 22 ม.ค.-16 ก.พ. 2561 ซึ่งโดยรวมเห็นด้วยกับการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบราง และให้ รฟม.เร่งดำเนินโครงการฯ โดยประเมินเงินลงทุน 39,406 ล้านบาท มีโครงสร้างทางวิ่งระดับดินตลอดเส้นทาง ยกเว้นบริเวณสนามบินภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับ มีทั้งหมด 24 สถานี เป็นยกระดับ 1 สถานี ที่สนามบินภูเก็ต และใต้ดิน 1 สถานีที่สถานีถลาง มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณ อ.ถลาง ขณะนี้รถไฟฟ้าภูเก็ตนั้น รฟม.ได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษารูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมทุน (PPP) จะสรุปการศึกษาในเดือน พ.ย.และเสนอบอร์ด รฟม.เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) ต่อไป เบื้องต้นมีภาคเอกชน “ภูเก็ตพัฒนา”ให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุน ซึ่งเบื้องต้นจะใช้รูปแบบ PPP Net Cost เพื่อลดภาระการลงทุนภาครัฐ

       ด้าน นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มีการมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบา )เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดภูเก็ตให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัด

         สำหรับ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) กำหนดดำเนินโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42.0 กม. ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจากจุดตัดทางหลวง 402 และ 4026 เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟสถานีรถไฟท่านุ่น ระยะทาง 16.5 กม.

          มีสถานีทั้งหมด 24 สถานี โดยจะมีสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานีและสถานีใต้ดิน 1 สถานี ซึ่งทางวิ่งจะมีระดับพื้นดิน บางช่วงทางวิ่งลอดใต้ดินและทางวิ่งยกระดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อจัดทำรายงานตาม พรบ.การให้เอกชนร่วมลงทุน ส่วนในปี พ.ศ. 2563 คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้าง และจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2566