“รปศ.ราชภัฏภูเก็ต” วิพากษ์การบริหารงานภาครัฐ สะท้อนข้อมูลเชิงลึกภาค ปชช. สู่แนวนโยบาย

      เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏภูเก็ต จัดสัมมนา “การบริหารจัดการบูรณาการในยุคไทยแลนด์ 4.0” โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต เป็นประธาน ร่วมด้วย ผศ.ดร.อรไท ครุธเวโช รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต นางแสงเดือน หังสวนัส รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ ตลอดจน ผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษา ตัวแทนส่วนราชการ ภาคเอกชนและประชาสังคม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารกิจการนักศึกษา ม.ราชภัฏภูเก็ต

          นางแสงเดือน หังสวนัส กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนา ว่า “เพื่อบูรณาการองค์ความรู้จากการจัดการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัยกรณีตัวอย่างทางรัฐประศาสนศาสตร์ (รปศ.) ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารงานภาครัฐ การบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารงานต่างๆ ในพื้นที่อันดามัน โดยมีการนำข้อค้นพบจากการศึกษามาปฏิบัติการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับหัวข้อในการสัมมนา ประกอบด้วย วิถีชีวิตความพอเพียงและเพียงพอของชุมชนบ้านท่าฉัตรไชย จ.ภูเก็ต / การพึ่งพาตนเองของชุมชนชาวบ้านนาตีน ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง / การแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติสู่ผลิตภัณฑ์ ตามหลักการพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ต.กะไหล จ.พังงา / การพัฒนาการท่องเที่ยวถนนสายวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า จ.พังงา / การบริหารจัดการเชิงบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุรถบัสโดยสารนักท่องเที่ยวบนถนนทางขึ้นป่าตอง / ทิศทางการเปลี่ยนแปลง จ.ภูเก็ต ให้เป็นการปกครองรูปแบบพิเศษ / การพัฒนาเมือง Phuket Smart City ภายใต้แนวคิดประชารัฐ / การบริหารจัดการภาคการบริการโลหิตแห่งชาติ จ.ภูเก็ต / เส้นทางสู่การเป็นนักบริหารมืออาชีพในการบริหารงานภาครัฐในศตวรรษที่ 21 / การบริหารจัดการองค์กรการกุศลด้านอาสาสมัครกู้ภัยใน จ.ภูเก็ต / การพัฒนาระบบบริหารราชการในยุคไทยแลนด์ 4.0” รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ กล่าว

           ด้าน นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวชื่นชมผลงานของมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นว่า “การพัฒนาเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ให้เท่าทันต่อความเป็นไปของโลกปัจจุบันผ่านหัวข้อการสัมมนาต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษาในการนำองค์ความรู้ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์กับองค์ความรู้ของท้องถิ่นมาบูรณาการ และน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานภาครัฐและเอกชน การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น บูรณาการวิธีการบริหารจัดการในทางปฏิบัติโดยการศึกษาวิจัยของนักศึกษาและคณาจารย์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และ จ.ใกล้เคียง การดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงจุดเด่นของ ม.ราชภัฏภูเก็ต ในการให้บริการวิชาการแก่ท้องถิ่น เป็นที่พึ่งในด้านวิชาการ และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการบริหารงานภาครัฐด้วยผลงานการศึกษาที่มีประเด็นน่าสนใจมีข้อมูลเชิงลึก และเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงพัฒนาท้องถิ่นต่อไป”