รมช.ศึกษาพบนร.หน้าเสาธง ย้ำเยาวชนซื่อสัตย์ทำความดี

         รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ลงพื้นที่ภูเก็ต พบปะนักเรียนหน้าเสาธงกว่า 3,000 คนที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ย้ำเยาวชนต้องยึดมั่นซื่อสัตย์สุจริตยืนหยัดทำความดี ร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมด้วยแนวทาง 5 ข้อ ขณะที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา แถลง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 : ภาคใต้” ที่ จ.ภูเก็ต

         เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560เวลา 08.00 น ที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย มล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะนักเรียน หน้าเสาธง เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมโดยมี ดร.โกศล ใสขาว ผู้อำนวยการโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย คณะครูอาจารย์ และนักเรียนกว่า 3,000 คน เข้าร่วม

         มล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้มีโอกาสมาพบปะนักเรียนที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยมาก่อนที่ตนจะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รู้สึกชื่นชมและภาคภูมิใจ นักเรียนโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย การได้มาพบปะกับนักเรียนหน้าเสาธงในครั้งนี้ เพื่อเชิญชวนให้ร่วมกันขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 ข้อคือ 1 ความพอเพียง ตามปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช2 ความกตัญญูกตเวที 3 ความซื่อสัตย์สุจริต 4 ความรับผิดชอบ และ 5 การมีอุดมการณ์ คุณธรรมและจริยธรรม โอกาสนี้ ขอให้เด็กและเยาวชนทุกคนร่วมให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมกันขับเคลื่อน และปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 5 ข้อเพื่อนำไปสู่การเป็นโรงเรียนคุณธรรม

         รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงเน้น และให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่จะพัฒนาประเทศชาติและขอให้เด็ก ๆ เยาวชนได้น้อมนำ สืบสานปณิธานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเดินตามรอยพระยุคลบาท

         โอกาสนี้ มล.ปนัดดา ได้เชิญตัวแทน นักเรียน จำนวน 2 คน นำเสนอ แนวทางศาสตร์พระราชาที่ตนเองคิดว่า มีประโยชน์ ได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน คือความพอเพียง รวมทั้ง ความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ปลูกต้นยางนา บริเวณหน้าอาคารโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยด้วย

         ต่อเมื่อเวลา 09.30 น.วันเดียวกัน (31 พ.ค. 60) หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2560 – 2579 ภาคใต้ ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมคณะผู้บริหารข้าราชการ สภาการศึกษา ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทน ภาครัฐภาคเอกชน เครือข่ายด้านการศึกษาเข้าร่วม จำนวนกว่า500 คน

         ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า แผนการศึกษาแห่งชาติระยะ 20 ปี ขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ คนไทยทุกคนได้รับการศึกษา และเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 โดยมีกรอบการดำเนินงาน 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี เน้นการขับเคลื่อนแผนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญ และความพร้อมในการเข้าร่วมการผลักดันแผนการศึกษาชาติ 20 ปี สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนการศึกษาชาติยุทธศาสตร์ 20 ปีนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาการศึกษาระยะ 5 ปี

         โอกาสนี้หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “แผนการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2560 ถึง 2579 กับการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0” ขณะที่ในภาคบ่ายจะเป็นการแบ่งห้องย่อยจำนวน 4 ห้อง เพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับแนวทางขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย ห้องย่อยที่ 1 ปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน //ห้องย่อยที่ 2 อาชีวศึกษาและการศึกษาการฝึกอบรมสำหรับวัยแรงงาน // ห้องย่อยที่ 3 อุดมศึกษาและการพัฒนานวัตกรรม //และห้องย่อยที่ 4 แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาและผู้สูงวัย

         ทั้งนี้สภาการศึกษาจัดรถแบบขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติเพื่อชี้แจงและอธิบายแผนอย่างละเอียดใน 4 ภูมิภาค โดยครั้งต่อไปวันที่ 7 มิถุนายนจัดที่จังหวัดระยอง //วันที่ 14 มิถุนายนจัดที่จังหวัดมหาสารคาม //และวันที่ 30 มิถุนายนจัดที่จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและถ่ายทอดกรอบแนวทางดำเนินงานส่งหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการศึกษาทั่วประเทศ และแสวงหาความร่วมมือตอบโจทย์วัตถุประสงค์ 4 ข้อหลักของแผนการศึกษาชาติระยะ 20 ปี ประกอบด้วย 1. เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ 2.เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดีมีคุณลักษณะทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ 3. เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณธรรมจริยธรรมรู้รักสามัคคีและร่วมมือผลิตกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจน 4. เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง