รองอธิบดีกรมป่าไม้ ลงพื้นที้นำหมายค้นศาลจังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบการรุกล้ำพื้นที่หาดนุ้ยเพื่อทวงคืนผืนป่าให้คนไทยใช้ประโยชน์

รองอธิบดีกรมป่าไม้ ลงพื้นที้นำหมายค้นศาลจังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบการรุกล้ำพื้นที่หาดนุ้ยเพื่อทวงคืนผืนป่าให้คนไทยใช้ประโยชน์

                   วันนี้ 12 มีนาคม 2567​ นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย นายสมชาย นุชนานนท์เทพ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 จังหวัดกระบี่, พ.ต.อ.ธีรวัฒน์ เลี่ยมสุวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต, พ.ต.ท.วิวัฒน์ ชำนาญกิจ รองผู้กำกับการ (ป.) สภ.กะรน และฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและกำลัง อส. กว่า 50 นาย พร้อมหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 11 มีนาคม 2567 เพื่อเข้าตรวจค้นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคเกิด บริเวณหาดนุ้ย หมู่ที่ 2 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต หลังพบว่ามีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำในพื้นที่ดังกล่าว

               ทั้งนี้มี นายธนากร เสียมหาญ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลที่อ้างเป็นผู้ครอบครองพื้นที่รับทราบหมายค้นและอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพื้นที่และตรวจสอบทรัพย์ที่มีการปลูกสร้างในพื้นที่เพิ่มเติม ในเนื้อที่กว่า 18 ไร่

               นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การบูรณาการกำลังลงพื้นที่ตรวจการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคเกิด ในครั้งนี้ ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยอธิบดีกรมป่าไม้ ให้ดำเนินการตามข้อกฎหมายกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่เข้าครอบครองพื้นที่ป่าไม้ โดยใช้ประโยชน์เพียงลำพัง เพื่อทวงคืนพื้นที่ป่าไม้ให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

              สำหรับ การนำกำลังและหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ตเข้าตรวจสอบการปลูกสิ่งก่อสร้าง ทั้ง บ้านพัก จุดถ่ายภาพ หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ว่ามีการเปลี่ยนสภาพเดิมมากน้อยเพียงใด และจะมีการจัดทำบัญชีตรวจยึดการก่อสร้างต่างๆ ทั้งหมด เพื่อเป็นบัญชีของกลางประกอบการดำเนินคดี ที่ได้มีการแจ้งความไว้ที่ สภ.กะรน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินคดีตามกระบวนการของกฎหมายกับผู้ที่บุกรุก หรือถือครองผืนป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคเกิด ต่อไป

              อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการยื่นฎีกาเกี่ยวกับเอกสาร สค.1 กระทั่งกระบวนการทางกฎหมายสิ้นสุด จนพื้นที่ดังกล่าวกลับมาเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามเดิม ดังนั้นการดำเนินการในครั้งนี้ ถือเป็นการทวงคืนผืนป่าที่ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง และเป็นการดำเนินตามแนวทางของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องการนำพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ชายหาด ต่างๆ คืนให้กับคนไทยทั้งประเทศใช้ประโยชน์ร่วมกัน และจะดำเนินการตามแนวทางการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยจะมีการขับเคลื่อนกิจกรรมการรักษาพื้นที่ป่า โดยการมีส่วนของประชาชนเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป