ร่วมมือพัฒนาครูตามคุณลักษณะ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี“และครูที่เป็นคน “ต่งห่อ”

        คณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จังหวัดภูเก็ต หารือร่วม มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต เพื่อพัฒนาคุณภาพครูตามคุณลักษณะ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และสนองตอบความต้องการของสังคมท้องถิ่น ครูที่เป็นคน “ต่งห่อ”

        ดร.ประสงค์ สังขะไชย ประธานคณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จังหวัดภูเก็ต พร้อมคณะกรรมการฯ ได้ประชุมหารือเรื่องการพัฒนาคุณภาพครูตามคุณลักษณะ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และสนองตอบความต้องการของสังคมท้องถิ่นภูเก็ต ร่วมกับ ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ผศ.ดร.ปราโมทย์ ค้าขาย คณะบดีคณะครุศาสตร์ คณะอาจารย์ คณะครุศาสตร์ และ นายบัณฑูร ทองตัน ประธานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต พร้อมคณะกรรมการฯ ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา

       ที่ประชุมได้มีการหารือภายใต้กรอบแนวคิดในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน พระราชานุญาตตั้ง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูครูผู้มีลักษณะสำคัญสองประการคือ ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตศิษย์ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์เจริญก้าวหน้าสู่ความสำเร็จในชีวิต มีความอุตสาหะในการทำภารกิจความเป็นครู ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู และ ครูผู้มีคุณูปการต่อการศึกษา เป็นแบบอย่างทั้งทางจริยธรรมและการทำงานที่ทุ่มเทกับการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ การค้นคว้าพัฒนาการสอนหรือการเรียนรู้จนมีความแตกฉานทั้งในเนื้อหาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ นอกจากนี้ทางสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ได้จัดประชุมประชาคมชาวภูเก็ต มีความประสงค์ให้มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ผลิตครูให้เป็นคน “ต่งห่อ” อันเป็นอัตลักษณ์อันดีงามของสังคมท้องถิ่นภูเก็ต เพื่อเป็นต้นแบบของนักเรียน และเป็นแบบอย่างทั้งทางด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพครู

        โดยในส่วนของกระบวนการผลิตครูที่สะท้อนให้เห็นว่าครูมีทักษะกระบวนการในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ให้ประสบความสำเร็จอย่างไรนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันเสนอแนวคิดและเสนอแนะถึงลักษณะการสอน และการจัดการเรียนรู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของนักเรียนให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอกับลูกศิษย์ทุกคนตลอดชีวิต รักและศรัทธาในวิชาชีพครู มีความรัก ความเมตตาเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์ทุกคนอย่างโดยไม่มีเงื่อนไข และไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จากศิษย์,ผลการสอนและการจัดการเรียนรู้นำไปสู่การมีศิษย์ที่ประสบความสำเร็จในด้านการเรียน ด้านอาชีพ หรือด้านการดำรงชีวิต และมีจิตวิญญาณความเป็นครูตามมาตรฐานและจรรยาบรรณ

       ในส่วนกระบวนการผลิตครูที่สะท้อนให้เป็นครูผู้สร้างคุณูปการในวิชาชีพอย่างไร ที่จะทำให้ครูมีพฤติกรรมที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นแบบอย่างของคุณลักษณะและพฤติกรรมความเป็นครู,เป็นแบบอย่างของการทุ่มเทการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ ค้นคว้าพัฒนาการสอน หรือการเรียนรู้ มีความแตกฉานทั้งในเนื้อหาและการจัดขบวนการเรียนรู้ในหน้าที่ของครู,ผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา มีองค์ความรู้นวัตกรรมหรือผลงานที่มีคุณภาพสามารถเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา

       การพัฒนากระบวนการผลิตครูให้เป็นครู “ต่งห่อ” ที่มีลักษณะของความ ซื่อสัตย์ คุณธรรม กตัญญู ได้อย่างไร รวมถึงกระบวนการ Mindfulnees ช่วยให้นักเรียน “ตื่นรู้ทุกขณะเรียน เรียนรู้ทุกขณะที่ทำ”

       ดร.ประสงค์ สังขะไชย ประธานคณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังการประชุม ว่า วันนี้ได้มีการประชุมเสนอแนวคิดการพัฒนาครูตามคุณลักษณ์ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และ ครู “ต่งห่อ” ร่วมกัน 3 ภาคส่วน คือ คณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จังหวัดภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต และ สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต เพื่อร่วมกันระดมความคิดในการพัฒนาการผลิตครูของมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของคนภูเก็ต โดยเฉพาะคณะครุศาสตร์ว่ามีหลักสูตรอย่างไร และขบวนการผลิตอย่างไร ที่จะผลิตครูที่มีคุณลักษณะของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คือ ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และครูผู้มีคุณูปการต่อการศึกษา รวมไปถึงครูที่เป็นคน “ต่งห่อ” ของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นอัตลักษณ์ของภูเก็ต มีคุณลักษณะของความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม และมีความกตัญญู

       จากการหารือร่วมกันในที่ประชุมครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงขบวนผลิตครูของคณะครุศาสตร์ และทางคณะครุศาสตร์ได้มีการถอดบทเรียนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สู่การเรียนการสอนวิชาครูของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง และจะนำประเด็นข้อคิดต่างๆ ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้เข้าสู่การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยต่อไป ทั้งในเรื่องของครูเป็นคน “ต่งห่อ” ของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต และขบวนการ Mindfulness “ตื่นรู้ทุกขณะที่เรียน เรียนรู้ทุกขณะที่ทำ”

       ดร.ประสงค์ กล่าวในตอนท้ายว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้ เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น หลังจากนี้จะได้มีความร่วมมือกันในการผลิตครูระหว่างภาคประชาชนกับมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เพื่อผลิตครูป้อนสังคมภูเก็ตต่อไป