ลงทะเบียนตลาดประชารัฐ วันแรกภูเก็ตคึกคักแค่ 56 ราย

          จังหวัดภูเก็ตเปิดลงทะเบียนผู้ที่จะเข้าร่วมค้าขายกับตลาดประชารัฐ สนับสนุนการขยายศักยภาพตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ ตามนโยบายรัฐบาล ที่จะช่วยแก้ไขความเดือดร้อนจากการไม่มีสถานที่ค้าขายให้กับประชาชน  จนสิ้นเดือนนี้ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อาคารหอประชุมเทศบาลนครภูเก็ต และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทั้ง 3 อำเภอ ผู้ว่าฯ เผย วันแรก ลงทะเบียนกันคึกคัก 56 ราย ขณะที่ พ่อเมืองภูเก็ต ประชุมติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงพัฒนาประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) ให้เป็น Land Mark แห่งใหม่ ให้บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวและเปิดจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีภูเก็ต ตลาดประชารัฐ พร้อม kick off 12 ธันวาคม 2560

          เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่ห้องประชุม  ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ชี้แจงการดำเนินการโครงการตลาดประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาลว่า  ตลาดประชารัฐของจังหวัดภูเก็ตที่เตรียมจะเปิดมี 7 ประเภทด้วยกันคือ

1.ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้

2.ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ

3.ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด

4. ตลาดประชารัฐ Modern trade

5. ตลาดประชารัฐวิธีชุมชน

6. ตลาดประชารัฐต้องชม

7. ตลาดประชารัฐตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม

          ทั้งนี้ตลาดประชารัฐทั้ง 7 แห่งจะเป็นตลาดที่เปิดให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ชุมชน ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจากการไม่มีสถานที่ค้าขาย กลุ่มเครือข่าย OTOP วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการรายใหม่มีพื้นที่ทำการค้าขายเพิ่มมากขึ้น

         ด้าน นายอธิวัฒน์ ยอดหวาน ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด  กล่าวว่า ผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมค้าขายในตลาดประชารัฐขอให้ลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด  กำหนดรับลงทะเบียน ณ อาคารหอประชุมเทศบาลนครภูเก็ต (อาคารสมาคมผู้สูงอายุจังหวัดภูเก็ต และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง ระหว่างวันที่ 10 – 30 พฤศจิกายน 2560 ไม่เว้นวันหยุดราชการโดยใช้บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ฉบับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต 076 – 213 203 โดยทางจังหวัดจะพิจารณาจัดสรรที่ค้าขายให้ตรงตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และความต้องการของตลาด รวมทั้งตามลำดับในการลงทะเบียน ประเภทสินค้า คุณสมบัติของผู้ประกอบการ และความพร้อมของผู้ประกอบการเป็นหลัก

          จะอย่างไรก็ตาม ในบ่ายวันเดียวกันนี้ (9 พ.ย. 60) เวลา 14.00 น. นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับการตรวจสอบความพร้อมการดำเนินโครงการตลาดประชารัฐ มีใจความว่า

           ด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยมีข้อห่วงใยว่าในวันที่ 10 พ.ย. 60 จะเป็นวันเริ่มลงทะเบียนผู้ประกอบการตลาดประชารัฐวันแรก จึง ขอให้ท่าน ผวจ./นอภ. ตรวจสอบความพร้อมในการดำเนินการดังนี้

1. การจัดทำคำสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการตลาดประชารัฐ ประจำจังหวัด…  มี ผวจ. เป็นประธาน มีองค์ประกอบตามที่กำหนดในคู่มือ และมี หน.สนจ. เป็นเลขานุการฯ และอาจมีคณะกรรมการในระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน และมีพัฒนาการอำเภอเป็นฝ่ายเลขานุการฯ

2. การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้สนใจมาลงทะเบียนทั้งที่ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ

3. การจัดเตรียมแบบฟอร์มการรับลงทะเบียนและแบบประเมินศักยภาพประกอบการสัมภาษณ์ เพื่อรองรับผู้ประกอบการ

4. การออกคำสั่งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รับลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ เป็นหลัก และมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ สับเปลี่ยนหมุนเวียนมาประจำที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ ตามความเหมาะสม

5. จัดทำข้อมูลบัญชีตลาดที่อยู่ในจังหวัดทุกประเภทเพื่อประกอบการสัมภาษณ์

6. การทำสื่อประชาสัมพันธ์ โดย ผวจ./นายอำเภอ การเชิญชวนผู้สนใจมาลงทะเบียนโครงการตลาดประชารัฐ

7. ให้ตั้ง Mission Commander ซึ่งอาจจะเป็น “พัฒนาการจังหวัด” ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการลงทะเบียนในแต่ละวัน

8. ให้จัดทำ Check List การเตรียมการ

9. การรายงานข้อมูลผู้ลงทะเบียนและการบันทึกข้อมูลลงในระบบ

           – ขอให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดรวบรวมและรายงานข้อมูลตามแบบที่ส่งมาพร้อมนี้ทุกวัน เวลา 16.30 น. ผ่านระบบไลน์ตลาดประชารัฐภูมิภาค (ทั้ง 2 กลุ่ม) โดยในการลงทะเบียนวันแรก (10 พ.ย. 60) ขอให้รายงานผล 2 ครั้ง คือ ในเวลา 12.00 น. และ 16.30 น. เพื่อประเมินผลการตอบรับเพื่อเสนอผู้บริหาร มท. ต่อไป (โดยสามารถดาวน์โหลดแบบรายงานได้ที่เว็บไซต์  www.market.moi.go.th หัวข้อ “สำหรับเจ้าหน้าที่”)

           – การบันทึกข้อมูลในระบบขอให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ ทำการบันทึกข้อมูลในระบบให้เสร็จสิ้นเป็นประจำทุกวัน

           ต่อมา นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า วันแรกของการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนโครงการตลาดประชารัฐของจังหวัดภูเก็ต ประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้สนใจลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 56 รายโดยลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ตจำนวน 33 ราย ที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองภูเก็ตจำนวน 6 ราย ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอถลางจำนวน 10 รายและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอกะทู้จำนวน 7 ราย  โดยส่วนใหญ่ผู้ลงทะเบียนเป็นพ่อค้าแม่ค้าจำนวน 34 รายเป็นวิสาหกิจชุมชน 4 ราย, กลุ่มโอทอป 3 ราย, เกษตรกร 1 รายและอื่นๆ 7 ราย

           ทั้งนี้ แยกเป็นการลงทะเบียนในตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้จำนวน 35 ราย, ตลาดประชารัฐท่องถิ่นสุขใจจำนวน 25 ราย, ตลาดประชารัฐของดีจังหวัดจำนวน 11 ราย, ตลาดประชารัฐ Modern Trade จำนวน 8 ราย, ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธกส. จำนวน 7 ราย, ตลาดประชารัฐต้องชมจำนวน 14 ราย และตลาดประชารัฐตลาดวัฒนธรรมถนนสายวัฒนธรรมจำนวน 23 ราย ส่วนสินค้าที่ผู้ลงทะเบียนประสงค์ที่จะจำหน่ายเป็นสินค้าเกษตรจำนวน 15 รายการ, ผักผลไม้ปลอดภัย 8 รายการ, อาหารสัตว์ สินค้า OTOP 4 รายการ, เนื้อสัตว์อาหารสัตว์ทะเล 2 รายการ, ของแห้งเครื่องปรุงต่างๆ 2 รายการ, สินค้าแปรรูปวิสาหกิจชุมชน 3 รายการ,อาหารพร้อมทาน 4 รายการ และสินค้าอื่นๆ 24 รายการ

             สำหรับโครงการตลาดประชารัฐ ถือเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้มีพื้นที่ตลาดใหม่ และขยายพื้นที่ตลาดเดิม เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ค้าขายมากขึ้น โดยขยายผลพื้นที่เดิมเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการทุกกลุ่มประเภทสินค้าและทุกระดับ ทั้งสินค้าเกษตร สินค้า OTOP สินค้าจากผู้ประกอบการ SMES วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร สินค้าหาบเร่ และแผงลอยต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจากการไม่มีสถานที่ค้าขาย โดยการบูรณาการทุกหน่วยงานในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกประเภทของตลาดประชารัฐ 7 ประเภท ตามที่ตนสนใจ ภายใต้คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วย  ตลาดประรัฐคนไทยยิ้มได้ / ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ / ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด / ตลาดประชารัฐ Modern Trade / ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. / ตลาดประชารัฐต้องชม และตลาดประชารัฐตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ส่วนอีก 2 ประเภทคือ ตลาดประชารัฐ Geen Market และ ตลาดประชารัฐ กทม. คืนความสุข จะดำเนินการเฉพาะในกรุงเทพมหานครและบางจังหวัด ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนฟรีได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น. โดยนำบัตรประชาชนตัวจริงไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่

              ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.60 ที่ห้องประชุมประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประชุมหารือแนวทางปรับปรุงพัฒนาประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) ให้เป็น Land Mark แห่งใหม่ โดยมี นายวัชรินทร์ ปฐมวัฒนพงศ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายเกษมภูมิ วีรสมัย ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต,นายอดุลย์ ชูทอง นายอำเภอถลาง , นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต , นายณรงค์ อ่อนอินทร์ ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์, ผู้แทนแขวงทางหลวงภูเก็ต,ผู้แทนโยธาธิการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ

             ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ก่อสร้างอาคารประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เพื่อให้เป็นสถานที่ ท่องเที่ยว เป็นห้องรับรองแห่งแรกที่ไว้ต้อนรับ และอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดภูเก็ต และเป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งภายในประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) ประกอบด้วย ห้องศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว จำนวน 1 ห้อง , ห้องประชุม 1 ห้อง , อาคารขายสินค้า 1 ห้อง , ห้องสำนักงาน 1 ห้อง , ตึกบริการ จำนวน 1 หลัง (ห้องศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว , ห้องสมุดนักท่องเที่ยว และห้องสำนักงาน 2) , เสาศิลา 29 ต้น เป็นเสาประติมากรรมเรียงรายเป็นแนวยาว 29 ต้น ซึ่งได้เรียงร้อยเรื่องราวต่างๆ ของภูเก็ต ทั้งในเรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การก่อตั้งอนุสรณ์สถานถลางชนะศึก ทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีของชาวภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยว อาชีพ สถาปัตยกรรม วิถีชีวิตตั้งแต่ยุครุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุกจนถึงยุคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น แต่เนื่องจากปัจจุบัน Gateway ดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

              นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงพัฒนาและยกระดับ สถานที่ดังกล่าว (Gateway)ให้เป็น Land Mark แห่งใหม่ของภูเก็ต จึงได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway) ให้เป็น Land Mark แห่งใหม่ของภูเก็ต ให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว มีเส้นทางเดินรถเข้า-ออก ที่สะดวก ปลอดภัย มีจุดถ่ายรูป และสร้างจุดสนใจที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ต ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักของประชาชนและนักท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นจุดพักรถให้บริการนักท่องเที่ยว จุดคัดกรองตรวจสภาพรถโดยสาร รถบัสที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ต โดยปรับปรุงพื้นที่บริเวณประติมากรรมตกแต่งให้สวยงามด้วยเต่าและไข่เต่า รวมทั้งการพัฒนาตัวอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การก่อสร้าง Walk Way สร้าง สะพานไม้ สะพานสลิง สร้างหอสูง จัดเรือบริการ โดยทำเส้นทางให้มีการเชื่อมต่อกันเป็นทางเดินเพื่อการพักผ่อนเพื่อการชมวิว และการออกกำลังกาย รวมถึงเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศศึกษาธรรมชาติ การก่อสร้างหอไข่มุก สูง 23-45 เมตร เพื่อเป็นหอตรวจการ และจุดชมวิวเอนกประสงค์ ตลอดจนเปิดจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในชุมชน ของดีภูเก็ต อาทิ ผ้าบาติก , ไข่มุก , ของที่ระลึก , สับปะรด และพืชผักผลไม้ต่างๆ จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เพื่อสนองนโยบายตลาดประชารัฐกำหนดเปิดตลาด ในวันที่ 12 ธันวาคม 2560