ว่าบ้านหรู“อ่าวเสน”ต้องทุบติดกฎเหล็กโซน1สูงได้แค่6ม.

         ว่าบ้านหรู“อ่าวเสน”ต้องทุบติดกฎเหล็กโซน1สูงได้แค่6ม.

            สรุปผลการตรวจสอบการก่อสร้าง บ้านตากอากาศหรูบนเนินเขาริมทะเลทางไปอ่าวเสน จ.ภูเก็ต ของนักธุรกิจหนุ่มจากกรุงเทพฯ พบที่ตั้งโครงการส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณ 1 ตามประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ สร้างได้สูงไม่เกิน 6 เมตร แต่เทศบาลราไวย์กลับอนุญาตสร้างให้ได้ 12 เมตร ต้องทุบส่วนที่สูงเกินทิ้งเท่านั้น ส่วนโฉนดที่ดินยืนยันว่า ถูกต้อง ผู้ว่าฯ ตั้งกรรมการสอบกระบวนการอนุญาตก่อสร้าง หากพบมีเลศนัย หรือขาดการตรวจสอบ ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบ 

          จากกรณีที่โลกโซเชียลได้มีโพสต์วิจารณ์ และตั้งข้อสงสัยการอนุญาตให้ก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรู บนเนินเขาริมชายหาด ทางไปอ่าวเสนและแหลมกระทิง หมู่ที่ 1 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต บนที่สูงบดบังทัศนียภาพที่สวยงามของพื้นที่ จนกลายเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองจากสังคมเป็นอย่างมาก กระทั่งเทศบาลตำบลราไวย์เจ้าของพื้นที่ได้เข้าตรวจสอบการอนุญาตก่อสร้างอีกครั้งหลังเป็นข่าวดัง และพบว่ามีการก่อสร้างผิดไปจากแบบที่อนุญาต จึงได้สั่งให้ระงับการก่อสร้างเป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้ผู้ขออนุญาตได้ทำการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามแบบที่อนุญาตก่อสร้าง

         เหตุการณ์บานปลายจน นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้มอบหมายให้ นาวาเอกบวร พรหมแก้วงาม รอง ผอ.กอ.รมน.ภูเก็ต เป็นหัวหน้าชุดทำงาน นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และมอบหมายให้สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ทำการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ รวมไปถึงได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต และเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต ทำการชี้แนวเขตและรังวัดหาจุดที่นำทะเลขึ้นสูงสุดตามธรรมชาติ เพื่อหาค่าพิกัดพื้นที่ก่อสร้างบ้านหรูทั้ง 4 หลัง ว่าตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณใด ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ตรวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องฉบับอื่นๆ

         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ส.ค.60 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จ การก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรูริมชายหาดในพื้นที่ตำบลราไวย์ ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น ขณะนี้ในส่วนของการออกเอกสารสิทธิที่ดิน ทางเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตได้รายงานมาแล้วว่า การออกเอกสารสิทธิที่ดินดังกล่าว เป็นโฉนดที่ออกถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการ

          ส่วนปัญหาการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรูทั้ง 4 หลังนั้น ที่ได้มอบหมายให้โยธาฯ และเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่นั้น ขณะนี้ทางสำนักงานโยธาฯได้รายงานข้อเท็จจริงการตรวจสอบมายังผู้ว่าฯ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าการวัดค่าระยะห่างจากแนวชายฝั่งที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามธรรมชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 เป็นคนชี้จุดนั้น เพื่อหาค่าที่ตั้งอาคารว่าห่างจากจุดที่นำทะเลขึ้นสูงสุดกี่เมตร

           ปรากฏว่าที่จุดที่ก่อสร้างบ้านพักตาอากาศหรูดังกล่าว อยู่ในพื้นที่บริเวณที่ 1 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต คือห่างจากน้ำทะเลขึ้นสูงสุด 20 เมตร สามารถสร้างเป็นเฉพาะบ้านเดี่ยวเท่านั้น และความสูงต้องไม่เกิน 6 เมตร เป็นส่วนใหญ่ มีบางจุดที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ 2 ห่างจากน้ำทะเลขึ้นสูงสุด 50 เมตร สร้างได้สูงไม่เกิน 12 เมตร และต้องเป็นบ้านเดี่ยวเท่านั้นเช่นกัน ซึ่งจากรายงานระบุว่าอาคารที่สร้างในขณะนี้ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดและผิดไปจากแบบที่เทศบาลตำบลราไวย์อนุญาต

           ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยต่อว่า หลังจากที่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ทางเทศบาลตำบลราไวย์จะต้องดำเนินการสั่งระงับการก่อสร้างบ้านหรูดังกล่าว เพื่อให้เจ้าของโครงการแก้ไขแบบให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะส่วนสูงของอาคารที่จะต้องสูงไม่เกิน 6 เมตร เป็นส่วนใหญ่ หากไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้าดำเนินการตามกฎหมาย และนอกจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการอนุญาตก่อสร้างบ้านหรูดังกล่าวว่าได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการอนุญาตอย่างไรบ้าง หากพบไม่ทำตามกฎหมายก็จะดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อไป

           รายงานข่าวระบุว่า จากการตรวจหาตำแหน่งที่ตั้งของโครงการพบว่าร้อยละ 90 บ้านที่สร้างอยู่ในพื้นที่บริเวณที่ 1 แต่ทางเจ้าของโครงการได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างกับทางเทศบาลตำบลราไวย์ระบุว่าพื้นที่อยู่ในบริเวณที่ 2 สามารถสร้างได้สูง 12 เมตร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวน่าจะเกิดความเข้าใจข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อน ทั้งในส่วนของกฎหมายควบคุมอาคารฉบับที่ 20 และประกาศกระทรวงทรัพย์ฯที่กำหนดการวัดหาระยะแนวห่างชายฝั่งต้องวัดจากจุดที่นำทะเลขึ้นสูงสุดตามธรรมชาติเท่านั้น และคนที่จะชี้จุดที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดคือเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต แต่การดำเนินการของโครงการดังกล่าว วัดจากจุดระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงทำให้เกิดความผิดพลาดในจุดที่ตั้งของโครงการกลายเป็นอยู่ในบริเวณที่ 2 ทั้งที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ 2 ซึ่งมีผลต่อการออกแบบส่วนสูงของอาคารที่จะต้องสูงไม่เกิน 6 เมตร เกือบทั้งโครงการ

           อย่างไรก็ตาม การอนุญาตก่อสร้างเป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเรื่องนี้ทางเทศบาลตำบลราไวย์จะต้องแจ้งให้เจ้าของโครงการทำการปรับปรุงความสูงอาคารให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 30 วัน หากฝ่าฝืน ท้องถิ่นสามารถเข้าทำการรื้อถอนได้ และในส่วนของเจ้าของโครงการหากมั่นใจว่า พื้นที่อยู่ในบริเวณที่ 2 ความสูงของอาคารเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ก็สามารถที่จะอุทรณ์คำสั่งของท้องถิ่นได้เช่นกัน

             สำหรับบ้านพักตากอากาศหรูทั้ง 4 หลังนั้น ตั้งอยู่บนที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ที่ระบุชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าว คือ นายองอาจ ทองเพชรบูรพา หรือ “เถ้าแก่หรั่ง” นักธุรกิจเจ้าของร้านทอง ร้านเพชร โรงแรม และอื่นๆ อีกหลายกิจการ ได้ซื้อที่ดินต่อมาจากเจ้าของเดิม เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศสำหรับตัวเองและเพื่อนๆ ในช่วงที่ลงมาภูเก็ต โดยจุดที่สร้างบ้านพักตากอากาศนี้ ถือเป็นจุดที่สามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างสวยงามทั้ง วิวชายหาดในหาน จุดชมวิวกังหันลม แหลมพรหมเทพ โดยไม่มีอะไรมาบดบังเลยแม่แต่นิดเดียว

           ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ส.ค.60 ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร  ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พบสื่อมวลชน ครั้งที่ 11/2560 โดยมี นายสนิท ศรีวิหค ,นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดภูเก็ต นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต และสื่อมวลชนในจังหวัดภูเก็ต กว่า 70 คน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

          นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้แถลงต่อสื่อมวลชน ในเรื่องเดียวกันนี้ว่า จากการตรวจสอบการได้มาและความถูกต้องของโฉนดที่ดินที่ก่อสร้างอาคารดังกล่าว ผลปรากฏข้อเท็จจริงว่าตำแหน่งที่ดินที่มีการปลูกสร้างอาคารมีหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ 113311 เลขที่ดิน 14 หน้าสำรวจ 13743 ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบัน นายองอาจ ทองเพชรบูรพา และ นายทัดณัฐ ฉันทธรรม์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวแบ่งแยกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 96799 ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559 ปัจจุบันโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวคงเหลือเนื้อที่ 4-0-68.4 ไร่มีนายสุศวัส จิวสุวรรณ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

         โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้มาของโฉนดที่ดินเลขที่ 96799 ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ตามหนังสือที่ ภก0020.4/12672 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2560 เห็นว่าการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ระเบียบ และกฎหมายแล้วจึงเป็นการออกโฉดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น โฉนดที่ดินแปลงที่แบ่งแยกจากโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

          ในส่วนของ ปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขออนุญาตและการก่อสร้างอาคาร สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังนี้ อาคาร ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 161/2559 ออกให้โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น เทศบาลตำบลราไวย์ เป็นอาคาร ค.ส.ล. 3 ชั้น จำนวน 4 หลัง ได้แก่ อาคาร A1, A2, B1 และB2 มีพื้นที่อาคารรวม เท่ากับ 887.12 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัย ,ที่ตั้งอาคารตามผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2554 อยู่ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) หมายเลข 1.54 ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2554 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

           สำหรับผลการตรวจสอบพื้นที่การก่อสร้างอาคารบดบังทัศนียภาพ บริเวณอ่าวเสน เขตเทศบาลตำบล ราไวย์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 เพื่อหาระยะห่างของตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่บดบังทัศนียภาพบริเวณอ่าวเสนกับแนวชายฝั่งทะเล (แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ) ปรากฏว่าขอบของแปลงที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเล (ใกล้สุด-ไกลสุด) อยู่ในระยะระหว่าง 20-54 เมตร ดังนั้นตำแหน่งที่ตั้งของอาคารเกือบทั้งหมด จึงตั้งในพื้นที่บริเวณที่ 1 (ประมาณร้อยละ 94.04)และคาบเกี่ยวพื้นที่บริเวณที่ 2 (ประมาณร้อยละ 5.06) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2536) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นระยะและพื้นที่บริเวณเดียวกันกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2553 และ ผลการตรวจสอบอาคารที่บดบังทัศนียภาพบริเวณอ่าวเสน ชนิด ค.ส.ล. ทั้ง 4 หลัง พบว่ามีการก่อสร้างและต่อเติมอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต

            จากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของอาคาร ระยะห่างของอาคารกับแนวชายฝั่งทะเล และการก่อสร้างในพื้นที่จริง ได้มีข้อสรุปว่าอาคารที่บดบังทัศนียภาพบริเวณอ่าวเสนเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 94.04) ตั้งอยู่ในบริเวณที่ 1 คือพื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะภูเก็ตเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 50 เมตร โดยพบว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมีการต่อเติมอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตทำให้มีระยะถอยร่นของแนวอาคารกับกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ การก่อสร้างอาคารตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และการก่อสร้างอาคารมีขนาดพื้นที่อาคารคลุมดิน (ชั้นล่าง) ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต โดยมีขนาดพื้นที่อาคารคลุมดินที่ได้รับอนุญาต เท่ากับ 293.50 ตารางเมตร แต่มีขนาดพื้นที่อาคารคลุมดินที่ก่อสร้างจริงเท่ากับ 846 ตารางเมตร (คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 47.07) ส่งผลให้โครงการดังกล่าวมีขนาดพื้นที่อาคารคลุมดินมากกว่าแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตประมาณ 552.5 ตารางเมตร ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงส่งผลให้อาคารที่บดบังทัศนียภาพบริเวณอ่าวเสน เขตเทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นอาคารที่มีความสูง ประเภทอาคาร ขนาดพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลัง และสัดส่วนของพื้นที่ว่างของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาต ขัดกับข้อกำหนดตามความในข้อ 2 (ก) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และขัดกับข้อกำหนดตามความในข้อ 8 (1) , ข้อ 9 (1) และข้อ 10 (1) , (3) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2553 ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

             จังหวัดภูเก็ตจึงได้สั่งการให้หน่วยงานผู้ดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้การก่อสร้างอาคารเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

             นายนรภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ทางเทศบาลตำบลราไวย์จะต้องดำเนินการสั่งระงับการก่อสร้างบ้านหรูดังกล่าว เพื่อให้เจ้าของโครงการแก้ไขแบบให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะส่วนสูงของอาคารที่จะต้องสูงไม่เกิน 6 เมตร เป็นส่วนใหญ่ หากไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้าดำเนินการตามกฎหมายหลังจากนั้น และนอกจากนี้จะได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการอนุญาตก่อสร้างบ้านหรูดังกล่าวว่าได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการอนุญาตอย่างไรบ้าง หากพบไม่ทำตามกฎหมายก็จะดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อไป