ศาลปกครองสั่งคุ้มครองประกาศ ห้ามคุมนักท่องเที่ยวขึ้น“สิมิลัน”

         ผู้ประกอบการเรือทัวร์ “สิมิลัน-สุรินทร์” สุดเฮง ศาลปกครองภูเก็ต มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว 3 เดือน ตามที่ขอ ห้ามกรมอุทยานสัตว์ป่าฯ คุมโควต้านักท่องเที่ยวลงอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ว่าตัวเลขคุมจำนวน 3,850 คน/วัน กับช่วงคนทะลัก 5,000 คน/วัน ไม่ต่างกันมาก นักท่องเที่ยววางแผนเดินทางมาแล้ว ส่วนหน้าที่บริหารจัดการเป็นเรื่องของอุทยานฯ ต้องดูเอง ด้านกรมอุทยานฯ กำลังให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูลยื่นอุทธรณ์

ประกาศอุทยานฯสิมิลัน

คุมโควต้านักท่องเที่ยว

         กรณีที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้ออกประกาศจัดระเบียบการเข้าบริเวณอุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน โดยจำกัดโควต้านักท่องเที่ยว เนื่องจากมีปัญหาเมื่อปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวทะลักเข้าจนล้นเกาะ ทั้งค้างคืนและไป-กลับ ทำให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมทันตาเห็น จากขยะ และน้ำเสีย ปะการังหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ

         การจัดระเบียบดังกล่าว ก็ด้วยเหตุผลเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศใน 3 เรื่องหลักคือ ห้ามนักท่องเที่ยวพักค้างแรมบนเกาะ จำกัดนักท่องเที่ยวไม่เกิน 3,850 คนต่อวัน และห้ามเรือบรรทุก 100 คน แล่นเข้าเขตอุทยานฯเด็ดขาด ในฤดูกาลนี้

         ในเรื่องแรก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธ์พืช ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นพักแรมค้างคืนในเขตอุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน ยกเว้นผู้ได้รับอนุญาตสำหรับการทำกิจกรรมประเภทดำน้ำลึก โดยกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวเขตอุทยานฯ เป็นแบบไป-กลับ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

         เดิมที อุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน อนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถพักค้างแรมได้บนเกาะ เมียง หรือเกาะ 4 ซึ่งมีบ้านพัก บริเวณที่กางเต็นท์ และมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้บริการ แต่ปรากฏว่า การพักค้างคืนของนักท่องเที่ยวก่อให้เกิดขยะ และน้ำเสียไหลลงทะเล ทำให้เกิดความเสียหายต่อ ปะการัง สัตว์น้ำ และระบบนิเวศ ในเขตอุทยานฯ

         เรื่องที่สองคือ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ได้ออกประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไว้ ไม่เกิน 3,850 คนต่อวัน โดยแบ่งเป็นเส้นทางจากเกาะสี่ไปเกาะแปดไม่เกิน 1,625 คนต่อวัน เส้นทางจากเกาะแปดไปเกาะสี่ไม่เกิน 1,700 คนต่อวัน และนักท่องเที่ยวที่จะมาทำกิจกรรมดำน้ำลึกตามจุดต่างๆ 21 จุด กำหนดไม่เกิน 525 คนต่อวัน

         ส่วนเรื่องที่สามสุดท้าย อุทยานแห่งชาติฯ ยังออกประกาศ กำหนดอัตราค่าบริการเรือที่ใช้แล่นบริการนักท่องเที่ยวในเขตหมู่เกาะสิมิลันดังนี้ เรือขนาดบรรทุกโดยสารไม่เกิน 25 คน ราคา 500 บาทต่อลำต่อวัน เรือขนาดบรรทุกโดยสารตั้งแต่ 26-50 คน ราคา 1,000 บาทต่อลำต่อวัน เรือขนาดบรรทุกโดยสารตั้งแต่ 51-100 คน ราคา 2,000 บาทต่อลำต่อวัน และไม่อนุญาตให้เรือที่มีขนาดบรรทุกโดยสารเกิน 100 คน เข้าในเขต    อุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน

         ปรากฏว่า จากกประกาศดังกล่าว กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางเรืออ้างว่า ได้รับความเดือดร้อน และได้ประท้วงยื่นหนังสือต่อรอง ขอผ่อนผันแต่ไม่เป็นผล และหาข้อสรุปไม่ได้ จึงได้ยื่นคำร้องฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดภูเก็ต

ศาลปกครองสั่งคุ้มครอง

ห้ามอุทยานฯคุมนักท่องเที่ยว

         หลังการไต่สวน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ศาลปกครองภูเก็ต ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ในคดีที่นายนายนิพนธ์ สมเหมาะ แกนนำกลุ่มชมรมผู้ประกอบการทัวร์หมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ฟ้องร้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของนายธัญญา เฉพาะประกาศที่พิพาทฉบับแรก ตามประกาศกรมอุทยานฯ  เรื่องการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ลงวันที่ 9 ต.ค.2561 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562-31 มี.ค. 2562 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามประกาศที่พิพาทฉบับที่สองตามประกาศกรมอุทยานฯ เรื่องกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับยานพาหนะประเภทเรือที่เข้าไปในเขตอุทยานฯ สิมิลัน ลงวันที่ 9 ต.ค.2561

         โดยศาลพิจารณามีใจความสำคัญว่า การให้ทุเลาการบังคับตามประกาศที่พิพาททั้งสองฉบับไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป จะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่สาธารณะหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการออกระเบียบกรมอุทยานฯว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานฯ ปี 2552 รองรับอยู่แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งระงับการกระทำที่จะทำให้เกิดความเสียหายในอุทยานฯได้

         ทั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนจากการให้ถ้อยคำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่า สำหรับช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้าไปมากที่สุดคือ ในระหว่างกลางเดือน ม.ค.-สิ้นเดือน ก.พ.ของทุกปีเฉลี่ยวันละประมาณ 5,000 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวตามประกาศที่พิพาทฉบับแรกประเภทไปกลับไม่เกิน 3,325 คน และดำน้ำลึกไม่เกิน 525 คน รวมเป็นจำนวนไม่เกิน 3,850 คน จึงเห็นได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดกับจำนวนนักท่องเที่ยวตามที่กำหนดในประกาศที่พิพาท มีจำนวนไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป และไม่น่าจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารจัดการนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานฯ สิมิลันในช่วงเวลาดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องร้องคดีทั้งสอง

         หากมีนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวนมากจนเกินขีดความสามารถที่อุทยานฯ สิมิลันจะรองรับได้แล้วจะทำให้นักท่องเที่ยวล้นเกาะ และทรัพยากรเสื่อมโทรมลง และเกิดความไม่ประทับใจของนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถูกตำหนิจากสังคมได้นั้น เห็นว่าโดยที่การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมค่อนข้างจำกัดในแต่ละปี และนักท่องเที่ยวรวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้เตรียมการ และวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวเอาไว้ล่วงหน้า  ซึ่งผู้ถูกฟ้องร้องคดีทั้งสองย่อมทราบถึงสภาพดังกล่าวเป็นอย่างดี ผู้ถูกฟ้องร้องทั้งสองจึงชอบที่จะวางแผนเตรียมการเพื่อรองรับการสภาพการเช่นนี้ ทั้งยังเป็นการสอดคล้องกับพันธกิจของแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอุทยานฯ สิมิลันที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการจัดการอุทยานฯ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และนโยบายของรัฐที่สนับสนุนและสิ่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

         และเมื่อพิจารณาถึงอำนาจของหน้าที่ของกรมอุทยานฯและอธิบดีกรมอุทยานฯ ที่ยังคงมีอยู่ และแนวทางบริหารจัดการการท่องเที่ยวอุทยานฯสิมิลันโดยรวมแล้ว การให้ทุเลาบังคับตามประกาศที่พิพาททั้งสองฉบับไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ย่อมไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่สาธารณะแต่อย่างใด

         ส่วนประกาศที่พิพาทฉบับที่สอง เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับยานพาหนะประเภทเรือที่เข้าไปในอุทยานฯ สิมิลัน ลงวันที่ 9 ต.ค. 2561 นั้น เห็นว่ามีเงื่อนไขที่เกิดขึ้นไม่ครบถ้วน เพราะประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งการบังคับใช้จะอยู่ในช่วงการปิดการท่องเที่ยวอุทยานฯ สิมิลัน ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2562 ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่อาจประกอบกิจการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวได้ จึงถือว่าประกาศที่พิพาทฉบับที่สองไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด จึงให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามประกาศนี้


ผู้ประกอบการทัวร์เฮ

หลังศาลฯคุ้มครอง

         ทางด้านผู้ประกอบการเรือทัว์ทะเลอันดามัน นายนิพนธ์ สมเหมาะ ประธานชมรมเรือนำเที่ยวสิมิลัน สุรินทร์ กล่าวว่า จากการที่ศาลปกครองภูเก็ตได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เป็นระยะเวลา 3 เดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ผู้ประกอบการ พนักงาน และชาวบ้าน ต้องขอขอบคุณศาลที่ท่านกรุณาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในตอนนี้ แต่ตนมองจุดนี้เป็นจุดที่เพิ่งจะเริ่มต้น ซึ่งสิ่งที่เรานำไปชี้แจงต่อศาลเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดในทุกๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของการทำงานวิจัย การมีส่วนร่วม การดูแลทรัพยากร หรือแม้แต่เรื่องของการท่องเที่ยว

          “ต้องยอมรับว่าตอนนี้ภาพของการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ ตกต่ำเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศและของประชาชน ถ้าภาพของการคุ้มครองอุทยานแห่งชาติเกาะสิมิลันมันเกิดในมิติของการร่วมมือ ที่เราจะใช้การท่องเที่ยว การดูแลการรักษาร่วมกัน”

         ในวันที่ศาลปกครองภูเก็ตไต่สวน ศาลท่านเองก็ได้ถามว่าถ้าศาลคุ้มครองแล้วมีนักท่องเที่ยวเพิ่มทางผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวจะทำอย่างไร ตนเองก็เรียนต่อศาลว่า งานของการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเฉพาะเกาะสิมิลัน ปัจจุบันเป็นที่ได้รับความนิยม และมีหลายหน่วยงานที่มาเกี่ยวข้อง เช่น การคมนาคมทางทะเล ก็มีกรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ การช่วยเหลือด้านความปลอดภัยในทะเล หรือแม้แต่ตัวทรัพยากรเอง ในพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวมีจำนวนมาก การดูแลการตรวจสอบ อาจจะมีหน่วยงานอื่น เช่น กรมทรัพยากรทางทะเล หรือหน่วยงานราชการในท้องถิ่นเข้าไปช่วยอุทยานในเรื่องของกระบวนการท่องเที่ยวทางทะเลและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่พอดี จัดการกับทรัพยากรได้

         ในส่วนของการที่อุทยานจะทำการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองนั้น เมื่อศาลให้ความคุ้มครองหากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเราต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และเกิดผลกระทบรวมทั้งรวบรวมในเรื่องหลักการจัดการเพื่อนำมาศึกษาและปฏิบัติที่ชัดเจน ส่วนในเรื่องของการอุทธรณ์เป็นเรื่องปกติหากความคิดเห็นต่างๆ ยังไม่ชัดเจนไม่เหมือนกัน ก็เป็นสิทธิของทางอุทยานที่จะทำได้

         ตนเองมองว่าในการที่ร้องศาลปกครอง ก็ทำไปตามขั้นตอนทุกอย่าง ซึ่งความเดือดร้อนของผู้ประกอบการได้ถูกนำเสนอไปถึงฝ่ายบริหาร ฝ่ายสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติเรื่องของทางผู้ประกอบการก็ได้เข้ากรรมาธิการ รัฐสภา และศาลดูจากข้อมูลที่ทางเราได้รวบรวม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง มองว่าศาลใช้ดุลพินิจในครั้งนี้ได้เหมาะสม ส่วนทางอุทยานจะอุทธรณ์ก็แล้วแต่มุมมอง หากมีการอุทธรณ์จริงตนก็พร้อมที่จะเข้าไปชี้แจงให้ศาลท่านได้ทราบถึงข้อเท็จจริง และไม่ใช่เราไม่ดูแลทรัพยากรแต่เราจะใช้ทรัพยากรที่อยู่อย่างเหมาะสม

ผู้เชี่ยวชาญด้านกม.

แนะอุทยานอุทธรณ์

         ด้าน นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทะเลและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอแนะนำให้กรมอุทยานฯอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองภูเก็ตไปยังศาลปกครองสูงสุด โดยคัดค้านว่าการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองภูเก็ตไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์การกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบกับระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พ.ศ. 2543 ข้อ 75 และ ป.วิแพ่ง ลักษณะ 1 ภาค 4 ซึ่งการคุ้มครองชั่วคราวต้องมีหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ 1. คำฟ้องต้องมีมูล 2. ต้องมีเหตุเพียงพอให้ศาลคุ้มครอง  และ 3. ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ข้อ 3. นี้เพราะการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว อาจมิได้คำนึงถึงความรับผิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐเป็นสำคัญ

         นายพนัส กล่าวอีกว่าที่ผ่านมาในช่วงเวลาดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในอุทยานฯ สิมิลันมากที่สุดถึง7,000 ต่อวัน กรมอุทยานฯ ออกประกาศดังกล่าวเพื่อคุ้มครองแหล่งท่องเที่ยว หากมีคนเข้าไปเกินขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติก็จะถูกทำลายไป รวมทั้งปัญหาขยะน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้นที่ยากต่อการแก้ไข ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งประกาศดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อการบริหารจัดการอุทยานฯ ที่เป็นทรัพย์สมบัติของคนไทยทุกคนไม่ให้ถูกทำลาย ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาทั้ง 3 เงื่อนไขให้ครบถ้วนด้วย

         รายงานข่าวจากกรมอุทยานฯแจ้งว่า ว่าขณะนี้กรมอุทยานฯ กำลังให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไปแล้ว