สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร์ ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการทำแท้งใหม่

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร์
ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการทำแท้งใหม่

            เมื่อวันที่​ 25 ก.พ.64 เวลา 14.10 น.​ ที่ผ่านมา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจากพญ.สุพรรณี คูณแสง รองประธานเครือข่ายผู้ห่วงใยผลกระทบกฎหมายทำแท้งใหม่ เรื่อง ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการทำแท้งใหม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ.2564 ที่มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา (มาตรา 301 และมาตรา 305) มีการดำเนินการออกกฎหมายอย่างเร่งรีบ รวบรัด ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมาตรา 305 ไม่เคยได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะประกาศบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการยุติชีวิตมนุษย์ที่​ กำลังพัฒนาในครรภ์มารดา ทำให้เกิดปัญหาต่อ แพทย์ บุคลากรทางแพทย์ และระบบสาธารณสุขอย่างมาก มีผลเปลี่ยนแปลง ศีลธรรม ค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาของประชาชนชาวไทยอย่างมาก ตลอดจนยังมองข้ามสิทธิของทารกในครรภ์ที่ถือว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งด้วย เครือข่ายผู้ห่วงใยผลกระทบกฎหมายทำแท้งใหม่จึงได้ทำการศึกษาข้อมูลทางวิชาการ และวิเคราะห์จากรายงานต่าง ๆ ทั่วโลก มีความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้สามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้ แต่จะสร้างปัญหาใหม่ให้กับวงการแพทย์และสังคมโดยรวม กระทบต่อสิทธิของทารกในครรภ์ และความรู้สึกของประชาชน ทั้งยังได้เสนอปัญหา และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อป้องกัน และช่วยเหลือหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมอย่างเป็นระบบและรอบด้าน

          จึงขอให้เรียกร้องให้มีการพิจารณาสนับสนุนให้มีการร่างกฎหมายขึ้นใหม่ โดยให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาส ศึกษาและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางโดยทั่วถึง เพื่อสามารถให้การช่วยเหลือหญิงคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์ และ รักษาไว้ซึ่งค่านิยมและศีลธรรมอันดีของสังคมต่อไป

        โดย นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะขอรับเรื่องดังกล่าวเพื่อนำกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็ว

        ส่วนทางด้าน น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 ได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งแนวทางที่สามารถดำเนินการต่อจากนี้ คือ การปฏิบัติตามรธน.ม.133 โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาออกเป็นกฎหมายได้