สแกนเส้นทางรถติดเปิดเทอม อย่าเติมปัญหาฝ่าวิกฤติได้!

          บรรยากาศเปิดเทอม แม้ระบบการศึกษาไทยจะมีนโยบายเรียนฟรี แต่ผู้ปกครองก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายของบุตรหลานที่ประเดประดังเข้าจู่โจมจนกระเป๋าสตางค์ฉีก หลายคนชอกช้ำเดินก้มหน้าเข้าร้านทองและโรงรับจำนำ เอาทองหยองหรือข้าวของเครื่องใช้ไปแลกมาเป็นเงิน และอีกหนึ่งปัญหาที่จะกลับมาวิกฤตินั่นก็คือ “รถติด”

          เนื่องจากผู้ปกครอง ต้องออกจากบ้านเช้าขึ้นไปส่งบุตรหลานตามโรงเรียน ปริมาณรถบนท้องถนนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผิวจราจรมีจำกัด แถมหลายพื้นที่ผิวถนนถูกขุดจนพรุนเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าหลากสี ยิ่งมีปัญหาหนัก!!

          พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) ดูแลงานจราจร ฉายภาพบนท้องถนนกรุงเทพฯ ช่วงเปิดเทอมให้เห็นกันชัดๆ ยิ่งขึ้นว่า 

          “ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันที่ 25พ.ค. นี้ โรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เปิดภาคเรียน ทำให้สภาพการจราจรติดขัดยิ่งขึ้นกว่าช่วงปิดภาคเรียน บนท้องถนนปริมาณรถจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทางที่ตั้งของโรงเรียน29 แห่ง จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต่อเนื่องทั่วกรุงเทพฯ แต่ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง ตำรวจเตรียมพร้อมในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างเต็มที่”

          โดยเตรียม 5 มาตรการรับมือเปิดภาคเรียน เริ่มจาก 1. กำชับแต่ละ สน.พื้นที่ที่มีโรงเรียนตั้งอยู่เข้าไปทำความเข้าใจกับผู้ปกครองตั้งแต่วันที่มีการปฐมนิเทศ เพราะมีทั้งเด็กเล็กที่เริ่มเข้าเรียน และผู้ปกครองที่อาจจะไม่ชินเส้นทาง การส่งบุตรหลานต้องเตรียมตัวให้พร้อม และขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองปฏิบัติภารกิจต่างๆ อาทิ ป้อนข้าวให้เงินค่าขนม หรือกอดหอมแสดงความรักกันให้เสร็จสิ้นก่อนส่งบุตรหลาน จะได้ออกรถทันที

          เข้าใจตรงกันนะ…เปิดเทอมนี้ต้องรีบกอดหอมลูก อย่าอ้อยสร้อย เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถติด

          2.มาตรการพี่รับน้องของโรงเรียน ได้จัดกำลังอาสาสมัครพี่รับน้องโดยให้เด็กนักเรียนรุ่นพี่มาอำนวยความสะดวกช่วยยกกระเป๋าและอาสาสมัครของผู้ปกครองที่จะเข้ามาช่วยเหลืออีกทาง ได้กำชับให้แต่ละ สน.อบรมและให้ความรู้แก่นักเรียนและผู้ปกครองที่จะเข้ามาช่วย เช่น เปิดประตูรถให้แก่เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลและชั้นปฐมเพื่อให้เกิดความรวดเร็วเมื่อส่งเสร็จผู้ปกครองก็ออกรถไปได้ทันที ช่วยลดปัญหาการจราจรสะสมหน้าโรงเรียน

          3.มาตรการปฏิบัติของตำรวจราจรเองต้องลงพื้นที่ประจำจุดเพื่ออำนวยความสะดวกโบกรถให้เร็วขึ้น ตั้งแต่เวลา 05.30 น.โดยเฉพาะเส้นทางหน้าโรงเรียน 29 จุด และเส้นทางเข้าเมืองที่ต้องเริ่มรับรถคันแรกที่จะเข้ากรุงเทพฯชั้นในให้สอดคล้องกับรถพื้นที่ชั้นนอก รวมถึงระบายการจราจรไม่ให้กระทบไปยังเส้นทางต่อเนื่อง ไม่ให้ติดล็อกเป็นวงแหวนที่จะสร้างปัญหาภาพรวมทั่วพื้นที่

          4.มาตรการขอคืนผิวการจราจร จากจุดก่อสร้างและระบบสาธารณูปโภค ได้สั่งการแต่ละ สน. เข้าเจรจาขอคืนผิวการจราจรจากโครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีผิวถนนเพิ่มเติมรองรับโรงเรียนเปิดเทอม โดยเฉพาะตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า

          อาทิ ถนนพหลโยธินมีโรงเรียนจำนวนมาก ขณะที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา) ที่สี่แยกรัชโยธินซึ่งกำลังขุดอุโมงค์ตามแนวรัชดาภิเษก เป็นจุดอ่อนไหวและส่งผลกระทบมากที่สุด ผู้รับเหมาจะคืนผิวกลางแยกตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. นี้ โดยปรับจราจรจากระบบวงเวียนเป็นสี่แยกเหมือนเดิม สามารถเลี้ยวขวาได้ทุกทิศทาง และปรับแนวแบริเออร์ก่อสร้างให้แคบลงเพื่อช่องทางระบายจราจร

          5.มาตรการขอความร่วมมือให้แต่ละโรงเรียนกำหนดเวลาการส่งบุตรหลานให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 07.30 น. เพื่อเฉลี่ยปริมาณการจราจรบนท้องถนนให้เสร็จสิ้น จากนั้นจะได้รับรถประชาชนที่จะเดินทางมาทำงานต่อไป

                เรียกว่าเหลื่อมเวลากันเดินทาง ไม่ให้จ้าละหวั่นช่วงเดียวกันเพื่อกระจายการจราจรนั่นเอง

          เรามาสแกนที่ตั้ง 29 โรงเรียนที่ทาง บช.น. ระบุว่าจะมีปัญหาจราจรกันดีกว่า โดยประกอบด้วย 1.โรงเรียนราชินีบน ถนนสามเสน 2.โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ถนนสามเสน 3.โรงเรียนราชวินิต ถนนราชสีมา 4.โรงเรียนละอออุทิศ ถนนราชสีมา 5.โรงเรียนศรีอยุธยา ถนนพญาไท 6.โรงเรียนเซนต์ดอร์มินิก ถนนเพชรบุรี 7.โรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ 8.โรงเรียนแม่พระฟาติมา ถนนอโศก-ดินแดง 9.โรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ ถนนอโศก-ดินแดง 10.โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ถนนพระราม 6

           11.โรงเรียนอนุบาลสามเสน ถนนพระราม 6 12.โรงเรียนเซนต์โยแซฟคอนแวนต์ ถนนคอนแวนต์ 13.โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิต 14.โรงเรียนสาธิต มศว.ประถม ถนนอโศกมนตรี 15.โรงเรียนสาธิต มศว.มัธยม ถนนอโศกมนตรี 16.โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ถนนสุขุมวิท 22 17.โรงเรียนพระหฤทันคอนแวนต์ ถนนสุนทรโกษา 18.โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ถนนสุขุมวิท 16 19.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ถนนสาทรเหนือ 20.โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ซอยคอนแวนต์

          21.โรงเรียนอัสสัมชันเซ็นหลุยส์ ถนนสาทรใต้ 22.โรงเรียนอัสสัมชันอนุบาล ซอยเจริญกรุง 40 23.โรงเรียนเตรียมอุดม ถนนพญาไท 24.โรงเรียนสวนกุหลาบ ถนนตรีเพชร 25.โรงเรียนราชินีล่าง ถนนมหาราช 26.โรงเรียนพิมิลวิทย์ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 27.โรงเรียนบูรณาวิทย์ ถนนจรัญสนิทวงศ์ 28.โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ถนนราชวิถี และ29.โรงเรียนเผดิมศึกษา ถนนเพชรเกษม ซอย 20

          รู้แบบนี้แล้ว หากไม่มีกิจธุระจำเป็นควรหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ตั้งของโรงเรียนดังกล่าว จะได้ไม่ต้องหงุดหงิดหัวเสียยิ่งขึ้น จะไม่หงุดหงิดเลยก็คงไม่ใช่ เพราะอีกหลายเส้นทาง โดยเฉพาะถนนสายหลักเข้าออกเมือง อย่าง ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน ซึ่งกำลังสร้างรถไฟฟ้า ตอนปิดเทอมก็เจอปัญหาอยู่แล้ว พอเปิดเทอมยิ่งไปกันใหญ่!!

          ตำรวจจัดเต็มรับมือเปิดเทอม ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ควรช่วยกันคลี่คลายปัญหา หมั่นตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมขับ อย่ามาจอดเสียกลางถนน คนก็ต้องพร้อมลุยพยายามศึกษาเส้นทางให้คุ้นชิน ที่สำคัญต้องรักษากฎจราจร และเผื่อเวลาเดินทาง เพื่อ “ฝ่าวิกฤติเปิดเทอม อย่าเติมปัญหาบนท้องถนน!!”


คอลัมน์ : มุมคนเมือง
โดย “เทียนหยด”

อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/574020

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น