หาทางออก อุทยานแห่งชาติทางทะเลแออัด เพื่อให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้

         เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น1 โรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้ โดยมีนายดำริ จิตต์ใจฉ่ำ ผู้อำนวยการส่วนจัดการการท่องเที่ยวและนันทนาการ เป็นตัวแทนกล่าวรายงาน และมีดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทั้งนายสุพจน์ เพริศพริ้ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล ตัวแทนผู้ประกอบกิจการ และหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลประมาณ 150 คน เข้าร่วมในงาน เพื่อระดมความเห็นและร่วมอภิปรายถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้ ณ โรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

    นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาจากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเลเริ่มเพิ่มมากขึ้น ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมที่ไม่ พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งอุทยานแห่งชาติหลายแห่งโดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเลกำลังประสบปัญหาจากความแออัดของนักท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งยากต่อการฟื้นฟูในระยะเวลาอันสั้นซึ่งการแก้ไขปัญหาจำเป็นจะต้องระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล

         ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนในการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงได้จัดให้มีโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้” ขึ้นในวันนี้

         นายทรงธรรม สุขสว่าง กล่าวต่อว่า การจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องมีการดำเนินการไปควบคู่กับการจัดให้มีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อให้ทันต่อการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วในขั้นต้นมุ่งเน้นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งบางแห่งมีผลการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว ทั้งนี้การจัดประชุมดังกล่าว ยังหวังให้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยวและสอดคล้องกับแผนปฏิรูปอุทยานแห่งชาติ 20ปี ที่เน้นการดูแลรักษาทรัพยากรการท่องเที่ยวและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอีกด้วย

         นอกจากนี้ นายทรงธรรม ยังได้พูดถึงปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกาะว่า จากผลสำรวจของเจ้าหน้าที่ว่าปัญหาความแออัดนั้นจะอยู่ในบางช่วงเวลาตั้งแต่ 11.00-14.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้าไปพักผ่อนและรับประทานอาหาร โดยทางอุทยานมีแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆแล้ว กำลังจะดำเนินการในเร็วๆนี้ อย่างเช่นที่หมู่เกาะสิลัน จะต้องมีมาตรการในการกระจายนักท่องเที่ยวจากเกาะ 4 และเกาะ 8 ไปยังเกาะอื่นในหมู่เกาะสิมิลันอย่างเช่นที่เกาะงวงช้างจะให้มีการติดตั้งท่าเรือลอยน้ำ เพื่อไม่ได้ส่งผลกระทบกับปะการัง ร่วมไปถึงการลงทุนสร้างศูนย์ลอยน้ำที่บริเวณหน้าเกาะสิมิลัน
ซึ่งการสร้างศูนย์บริการลอยน้ำที่กำลังจะสร้างขึ้นนั้นอยู่ในระหว่างขบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม โดยจะจัดตั้งในบริเวณเกาะที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนเยอะก่อน เช่น ที่เกาะสิมิลัน เกาะพีพี และอ่าวพังงา ศูนย์บริการลอยน้ำสามารถจุคนได้ 20-30 คน ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในปีนี้ รวมไปถึงมาตรการการกำหนดโควตานักท่องเที่ยวเป็นช่วงเวลาในการขึ้นเกาะบนพื้นที่อุทยานฯด้วย

        นายทรงธรรม กล่าวต่อไปอีกว่า โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวที่มาที่หมู่เกาะสิมิลันนั้นอยู่ที่ 2,000-3,000 คน แต่ในช่วงที่มีนักท่องเที่ยวแออัดนั้นก็จะมากถึง 5,000 คน เท่าที่ประเมินมันก็คงมากไปแต่ถ้าเรากระจายได้ทั่วถึงมันก็ยังสามารถรองรับได้เท่าที่ทรัพยากรยังไม่เสียหาย แต่ถ้าประเมินแล้วทำให้ทรัพยากรเสียหายทางอุทยานฯก็ต้องมีการจำกัดการขึ้นเกาะมากขึ้น เราไม่ต้องการรายได้แต่เราต้องการให้ทรัพยากรยังคงอยู่

        นอกจากนี้ทางกรมอุทยานฯจะนำระบบการขายตั๋วเข้าอุทยานในลักษณะของ E-Ticket ในทุกอุทยานซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณด้วยโดยทางทะเลจะเริ่มที่เกาะสิมิลัน เกาะพีพี อ่าวพังงา ก่อนแน่นอน

        ส่วนด้านมาตรการการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาตินั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมาก โดยได้มอบนโยบายในเรื่องการจัดรถกู้ชีพซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 50-60 คันโดยจะทำให้ครบทุกอุทยานและจัดซื้อเรือกู้ภัยโดยร่วมมือกับทางแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในการช่วยเหลือดูแลนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเข้ามาท่องเที่ยวในเขตอุทยาน สำหรับนักท่องเที่ยวที่บาดเจ็บสาหัสทีสามารถเรียกได้ที่หมายเลข 1669 ได้เลย
ขณะที่การประชุมดังกล่าว ยังมีการร่วมอภิปรายในหัวข้อสถานการท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน ตัวอย่างและทางเลือกในการจัดการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้ โดยมีนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

        ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายดำริ จิตต์ใจฉ่ำ ผู้อำนวยการส่วนจัดการการท่องเที่ยวและนันทนาการ พร้อมทั้งตัวแทนผู้ประกอบกิจการในอุทยานแห่งชาติ ร่วมเสวนา อีกทั้งการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทยานแห่งชาติทางทะเล ภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการ ประกอบกิจการดำน้ำในอุทยานแห่งชาติ มาร่วมกันประชุมระดมความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการสรุปผลการประชุมเพื่อนำผลการศึกษาฯมาวางกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป