เกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง ขอยืดเวลาใช้กม.เดินเรือฯ

           ประธานสภาเกษตรกรภูเก็ต  ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี  ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17 พ.ศ.2560) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ออกไป อีก 1 ปีเพื่อให้เกษตรกรได้มีเวลาปรับตัว และ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ว่าบางคนยังไม่รู้ ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงรายย่อยเลี้ยงปลาในกระชัง 200 กว่าครอบครัว

         เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 6มิถุนายน 2560ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายสมชาย สกุลชิต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต พร้อมตัวแทนสภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต และชาวบ้านผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณริมน้ำในจังหวัดภูเก็ต กว่า 30 คนเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17 พ.ศ.2560) ที่บังคับให้ ผู้ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่า ขยายระยะเวลาจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ออกไป อีก 1 ปี  เพื่อให้เกษตรกร ซึ่งไม่เคยทราบมาก่อนเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ได้มีเวลาปรับตัว และ สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว โดยมี นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  พร้อมด้วย นายสุรัฐ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต นายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ประมงจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้รับหนังสือ

         นายสมชาย สกุลชิต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า  สภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ตเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติพุทธศักราช 2553 เพื่อทำหน้าที่ประสานนโยบายและดำเนินงานระหว่างองค์กรเกษตรกรและหน่วยงานของรัฐได้รับข้อมูลและการร้องเรียนจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฉบับที่ 17 พุทธศักราช 2560 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพประมงที่ต้องอาศัยแหล่งน้ำทำมาหากินและเป็นที่อยู่อาศัยบางส่วนกำลังตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลเป็นอย่างมากจากการ บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยไม่ทราบมาก่อนพึ่งจะมาทราบว่ามีการบังคับใช้กฎหมายแล้ว

         โดยกฎหมายฉบับนี้ มีบทบัญญัติให้ผู้ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งล่วงน้ำแหล่งน้ำ (แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทะเลในน่านน้ำไทย)กับกรมเจ้าท่าให้ไปขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 นี้ หรือได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าแล้วแต่ก่อสร้างสิ่งล่วงน้ำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตต้องมีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ในอัตราที่ค่อนข้างสูงรวมทั้งต้องเสียค่าทำเนียมเป็นรายปีทุกปีต่อไป ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างมาก    สำหรับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและทำประมงชายฝั่งซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยและมีฐานะยากจน

         นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสำรวจข้อมูลมีเกษตรกรในจังหวัดภูเก็ตที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีทั้ง เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย จำนวน 236 ครอบครัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 458 คน พื้นที่กระชังจำนวน 829,932.22 ตารางเมตร และต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีรวมจำนวนทั้งสิ้น 414,966.11บาท โดยหากต้องถูกปรับจะต้องเสียค่าปรับสูงเป็นเงิน 414,966,110 บาท ถึง 829,932,220 บาท

         ดังนั้น สภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ตจึงขอความอนุเคราะห์ให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฉบับที่ 17 พุทธศักราช 2560 ที่บังคับให้ผู้ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าขยายระยะเวลาจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปีเพื่อให้เกษตรกรซึ่งไม่เคยทราบมาก่อนเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ได้มีเวลาปรับตัวและสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก่อนและหากบังคับใช้แล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรจริง  ขอได้โปรดมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสมไม่ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกร  ทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพ และที่อยู่อาศัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและประกอบอาชีพดังกล่าวได้เป็นวิถีชีวิตไปแล้วไม่สามารถที่จะไปประกอบอาชีพอื่นได้

         สำหรับ กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17 พ.ศ.2560) ที่มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ระบุว่า สิ่งปลูกสร้างล่วงลำน้ำ ที่ไม่เคยได้รับอนุญาต หรือ เคยได้รับอนุญาตแต่สิ่งปลูกสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบ ที่ได้รับอนุญาตก่อนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 หากเจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองเพิกเฉยก่อสร้างเพิ่ม แต่ไม่แจ้งให้กรมเจ้าท่า หรือ เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมเจ้าท่า ตามระเบียบกฎหมาย โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่สิ่งปลูกสร้างล่วงลำน้ำนั้นตั้งอยู่ สามารถดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงลำน้ำนั้น โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นของเจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้าง และ มีอำนาจในการห้ามมิให้ใช้อาคาร หรือ สิ่งปลูกสร้างนั้น จนกว่าจะมีการแก้ไข หรือ รื้อถอนเสร็จสิ้นโดยผู้ที่รุกล้ำจะมีโทษทั้งจำและปรับ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ส่วนค่าปรับคิดเป็นตารางเมตรของพื้นที่ที่ล่วงล้ำลำน้ำ ในอัตราตารางเมตรไม่น้อยกว่า 1,000 บาท และ ไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาท

         ด้าน นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าในเรื่องนี้ทางจังหวัดจะรับหนังสือจากตัวแทนสภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต นำเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อส่งมอบให้กับนายกรัฐมนตรี ในการที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรจังหวัดภูเก็ตต่อไป    ทั้งนี้เบื้องต้นขอให้เกษตรกรจังหวัดภูเก็ตที่ประกอบอาชีพและได้รับผลกระทบจาก การบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฉบับที่ 17 พุทธศักราช 2560 ได้ทำการสำรวจจำนวนสมาชิกของผู้ประกอบอาชีพและทรัพย์สินที่จะได้รับผลกระทบเพื่อเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานราชการเป็นข้อมูลที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาและขอให้เกษตรกรได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไปขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุด