เก่งอย่างเดียวไม่พอ! ‘ฉลาดเกมส์โกง’ สนุกตื่นเต้น จิกกัดการศึกษาไทยได้อย่างเจ็บแสบ

          หลังส่ง “เคาท์ดาวน์” มาสร้างความฮือฮาไปเมื่อ 5 ปี ก่อน บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ก็กลับมาอีกครั้งพร้อมหนังไทยสุดแหวกแนว “ฉลาดเกมส์โกง” ที่เรียกความสนใจได้ดีตั้งแต่แรกที่เห็นตัวอย่าง ด้วยพล็อตเรื่องที่ว่าถึงการโกงข้อสอบของเด็กไทย

          ภารกิจการโกงเริ่มต้น เมื่อ “ลิน” เด็กสาวหัวดี นักเรียนทุนของโรงเรียน อยากช่วย “เกรซ” เพื่อนสนิทที่เก่งกิจกรรมแต่ผลการเรียนไม่ค่อยดี จนเรื่องรู้ถึง “พัฒน์” เด็กบ้านรวยที่คิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างแม้กระทั่งเกรดดีๆ เขาจึงเปลี่ยนการโกงข้อสอบเป็นธุรกิจใหญ่ด้วยการเสนอให้ลิน โกงข้อสอบ STIC ซึ่งเป็นการสอบเพื่อใช้คะแนนยื่นเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ที่นักเรียนทุกประเทศต้องสอบในเวลาเดียวกัน โดยชักชวน “แบงค์” นักเรียนทุนคู่แข่ง ที่เกลียดการโกงเป็นชีวิตจิตใจ แต่มีปัญหาด้านทุนทรัพย์มาร่วมขบวนการเพื่อแลกกับเงินก้อนโต

          ทั้งคู่จึงเดินทางไปสอบยังซิดนีย์ ออสเตรเลีย ที่เวลาเร็วกว่าประเทศไทย 4 ชม. เพื่อส่งคำตอบกลับมา แล้วภารกิจการโกงข้อสอบข้ามประเทศก็เริ่มต้นขึ้นด้วยความระทึก

          แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันผิด แต่ทุกจังหวะการโกงล้วนตื่นเต้นและชวนให้เอาใจช่วยร่วมลุ้นไปกับตัวละคร ด้วยการดำเนินเรื่องที่สนุก กระชับ และบทหนังที่ดีเยี่ยม รวมถึงตื่นตาไปกับความฉลาดและสารพัดวิธีการโกงที่เห็นแล้วต้องพูดว่า “คิดได้ไง” เพราะมันล้ำมาก!

          ขณะที่การแสดงของนักแสดงนำทั้ง 4 คนก็สอบผ่านฉลุย โดยที่ประทับใจคือ ออกแบบ  ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง ผู้รับบทลิน ที่เอาอยู่ทุกตอนที่ปรากฎตัว รวมถึง เอก  ธเนศ วรากุลนุเคราะห์  ที่แสดงความรู้สึกต่างๆ หลังรู้ภารกิจการโกงของลูกสาวในฐานะ “ครู ” และ “พ่อ ” ได้อย่างสะเทือนใจ

          หากเป็นคนหนึ่งที่เรียนโรงเรียนไทย และเข้าสอบในระบบการศึกษาไทย คงจะอินไปกับหนังได้ไม่ยาก เพราะนอกจากจะเล่าเรื่องที่นักเรียนไทยทุกคนต้องเคยเจอ หนังยังจิกกัดระบบการศึกษาไทยได้อย่างเจ็บแสบ ทั้งการยอมจ่ายเงินเรียนพิเศษแพงๆ เพื่อให้ได้คะแนนดี , การเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาที่แพงหูฉี่แม้จะบอกว่าเรียนฟรี , ความล้มเหลวในการปลูกฝังจริยธรรมสร้างคนดีมากกว่าการสร้างคนเก่ง ฯลฯ

          เมื่อสังคมวัดค่าคนด้วยผลคะแนนที่สวยงาม ทุกคนจึงยอมทำทุกวิถีทางเพื่อมีคะแนนดีๆ ไว้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะพยายามทำด้วยตัวเอง หรือลอกคนอื่นก็ตาม และหากเรายอมโกง แอบลอกข้อสอบจนได้คะแนนดี ได้เรียนมหาวิทยาดังๆ แต่ไม่มีความรู้จริงๆ เราภูมิใจกับมันได้จริงหรือ?

          สิ่งที่มากกว่านั้น หนังกำลังพูดถึงการ “โกง ” ในสังคม ที่เกิดขึ้นจากชุดความคิดว่าการโกงไม่ผิด หากได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

          แม้ว่าเราจะเล่นตามกติกา ทำตามศีลธรรมอันควร แต่บางครั้ง “ชีวิต ” ก็เหมือนจะ “โกง ” เราอยู่ดี เมื่อคนเราเกิดมามีต้นทุนชีวิตที่ต่างกัน บางชีวิตแทบไม่มีทางเลือกให้เดิน

          ถึงอย่างนั้น ชีวิตก็มีทางให้เลือกเดินเสมอ อยู่ที่เราจะเลือกไปทางไหน เพราะในชีวิตจริงนอกห้องสอบ มันไม่มีคำตอบถูก-ผิด แต่เมื่อเลือกแล้ว เราต้องยอมรับผลของมันให้ได้ ไม่ว่าจะร้ายหรือดี

         นอกจากนี้ หนังยังชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้การศึกษาจะเป็นหน้าที่ของครูและโรงเรียน แต่การปลูกฝังความเชื่อ ทัศนคติต่างๆ ล้วนเริ่มต้นมาจาก “ครอบครัว ” เป็นสำคัญ

         วันนี้เราได้สอนลูกดีพอหรือยัง เราใส่ใจลูกมากเพียงพอไหม เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกต้องกดดันตัวเองเพื่อเป็นที่หนึ่งหรือไม่ นั่นคือคำถามที่หนังฝากไปถึงทุกคน


อ่านต่อได้ที่ https://www.matichon.co.th/news/550436

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น