เดินหน้าแก้ขยะ-น้ำเสีย ภูเก็ตสวยด้วยมือและใจเรา

          ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องสำหรับ “ภูเก็ตสวยด้วยมือและใจเรา” หรือ “Keep Phket Clean by our Hands and hearts”  ภายใต้การกำกับดูแลของพ่อเมือง “นรภัทร ปลอดทอง” เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทางประชารัฐ มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยใช้หลัก 3Rs ประกอบด้วย Reduce (ลดการใช้) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่)

          สำหรับ ภูเก็ตสวยด้วยมือและใจเรา เริ่มการขับเคลื่อนโครงการและได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 พร้อมกันทั่วทั้งจังหวัด และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มุ่งเน้นสถานที่ที่มีปัญหาหนัก จุดวิกฤต โดยเฉพาะถนนสายหลัก หรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมาร่วมกันดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่ในชุมชน และเป็นหูเป็นตาในการตรวจตราพื้นที่ที่มีปัญหา และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแก้ไข พร้อมทั้งได้มีการตั้งกลุ่มไลน์ “ตาสับปะรดเฝ้าระวังขยะและน้ำเสีย” เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาขยะและน้ำเสียตามจุดต่างๆ

          อย่างไรก็ตามยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะขยะและน้ำเสียเกิดขึ้นตลอดเวลา จากจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น โดยได้กำหนดแผนงานให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการในพื้นที่ความรับผิดชอบของตัวเอง เช่น แขวงทางหลวงและทางหลวงชนบท ทำความสะอาดและตัดแต่งกิ่งไม้ตลอดจนปรับภูมิทัศน์ถนนสายหลักและสายรองในความรับผิดชอบ ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรให้ถูกต้องชัดเจน, ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งสำรวจ ตรวจสอบ และดำเนินการให้ท่อระบายน้ำ ลำราง คูระบายน้ำ สามารถให้น้ำไหลผ่านได้สะดวกและรวดเร็ว เป็นต้น รวมทั้งขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการต่างๆ ดูแลสถานที่ของตัวเองให้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความสวยงาม

          “ขยะ” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากทุกคนที่ร่วมกันทำ ดังนั้นในการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นก็จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา สำคัญคือ เรื่องจิตสำนึกของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ จึงจำเป็นจะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ และให้ติดเป็นนิสัย รวมทั้งจะต้องชี้ให้เห็นผลกระทบจากการที่มีขยะเกิดขึ้นมากมาย

           ภาพหนึ่งที่น่าจะเป็นสื่อของปัญหาที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ในช่วงที่มีฝนตกหนัก และน้ำท่วมขังระบายไม่มัน ซึ่งเมื่อน้ำลดสิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นตามมา คือ ขยะที่มาอุดตันตามท่อระบายน้ำต่างๆ เป็นภาพที่ใกล้ตัวและมีผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนมากสุด และหน่วยงานที่ให้ความรู้ก็ควรปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอที่ทำกันมาในอดีต ซึ่งได้ผลค่อนข้างน้อยมาก และสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล หากต้องการผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงและยั่งยืนก็ควรจะถอดบทเรียนในช่วงก่อนหน้านี้ มาปรับวิธีการให้เกิดการสำนึกรักษ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ไม่เช่นนั้นปัญหาก็ไม่จบ และเตาเผาที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นมาตลอดเวลา