เบรคโยธาฯ ผลาญงบ 38 ล้าน ขุด“หาดสุรินทร์”สร้างเขื่อน

         พ่อเมืองภูเก็ต สั่งชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมหาดสุรินทร์ของโยธาฯ 38 ล้านเศษ มุบมิบสร้างไม่แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทราบ เอาแบคโฮลงขุดทรายหาดสุรินทร์ ทำลายชายหาดยับ พร้อมมอบหมายให้ อ.ถลาง และโยธาฯ และผังเมืองจังหวัดลงพื้นที่ชี้แจงความเป็นมาของโครงการ ถูกค้านยับ ว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ สภาพหาดสุรินทร์เป็นหาดชัน หน้ามรสุมคลื่นกัดเซาะทรายออก เมื่อเข้าสู่ภาวะปรกติก็นำทรายกลับคืนเป็นวงจรธรรมชาติทุกปี ที่ผ่านมาถูกนายทุนบุกรุก สร้างเขื่อน ทำร่องน้ำ และกระแสน้ำเปลี่ยน ขณะที่นักวิชาการชื่อดัง รองศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาตร์ ระบุ การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดความเสียหายกับหาดสุรินทร์มากขึ้น วอนกลับมาทบทวนอีกครั้ง

         จากกรณีการนำเสนอภาพรถแบคโฮกำลังขุดทรายบริเวณหน้าชายหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต ผ่านทางโซเซียลต่าง ๆ จนเป็นที่ถกเถียงกันว่า เป็นผลงานของหน่วยงานใดและทำได้อย่างไร เพราะเป็นการทำลายทัศนียภาพบริเวณชายหาดซึ่งสวยงามให้เสียหาย ขณะที่การดำเนินการนั้นไม่ได้มีการปิดกั้นพื้นที่ตามหลักการ และจะส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวที่มานอนอาบแดดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานาถึงความไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้น

         เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอดุลย์ ชูทอง นายอำเภอถลาง  กล่าวว่า หลังจากมีการแพร่ภาพหลุมและกองทรายขนาดใหญ่บนชายหาดสุรินทร์ดังกล่าว ซึ่ง นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทราบเรื่องแล้ว โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณหาดสุรินทร์ ด้วยงบประมาณ 38,750,000 บาท ของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ได้มีการดำเนินการโครงการมาระยะหนึ่งแล้ว มีการรับฟังความคิดเห็นจากท้องถิ่น และมีการเสนอให้ปรับแก้ในรายละเอียดให้เหมาะสม แต่ในการลงมาทำงานในพื้นที่ไม่ได้แจ้งให้ทางหน่วยงานเจ้าของพื้นที่และท้องถิ่นทราบ

         อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางผู้ว่าฯ ได้สั่งการให้ชะลอโครงการฯ ออกไปก่อน พร้อมมอบหมายให้โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต ร่วมกับอำเภอถลาง ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับรายละเอียดและรูปแบบของโครงการฯ รวมทั้งชี้แจงให้กับผู้ที่ยังมีข้อสงสัยหรือเป็นหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือเอ็นจีโอได้ทราบละเอียดที่ชัดเจนของโครงการ รวมทั้งให้ขอคำแนะนำในการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป ซึ่งได้ดำเนินการกันวันที่ 15 พฤศจิกายน2560

         ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 15 พ.ย.60 ที่บริเวณชายหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายทวี หอมหวล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ตพร้อมด้วย นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง ตัวแทนนายอำเภอถลาง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการชี้แจงความเป็นมาและรูปแบบการดำเนินการของโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณหาดสุรินทร์ ด้วยงบประมาณ 38,750,000 บาทของกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้กับทางผู้ประกอบการบริหารหาดดังกล่าว รวมถึงชาวบ้านหาดสุรินทร์ ซึ่งมาร่วมรับฟังจำนวนประมาณ 50 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชิงทะเล และเทศกิจ อบต.เชิงทะเล ดูแลความเรียบร้อย เหตุการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่เนื่องจากยังมีข้อสงสัย และไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนจึงได้ให้ชาวบ้านลงลายมือชื่อ เพื่อจะไปนำเสนอความคิดเห็นกันอีกครั้ง

         นายจำลอง สิทธิโชค หนึ่งในชาวบ้านหาดสุรินทร์  กล่าวถึงโครงการจัดทำเขื่อนกันตลิ่งฯ ว่า ทางโยธาฯ ชี้แจงว่า เป็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะของชายหาด  ซึ่งในส่วนของการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามถือเป็นเรื่องที่ดีและเห็นด้วย แต่ที่ตนและชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย คือ การสร้างเขื่อนซึ่งมีการใช้เสาเข็มจำนวนมากปักลงบนชายหาด โดยให้เห็นผลว่ามีการกัดเซาะของตลิ่ง แต่จากการเก็บข้อมูลของตนมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การกัดเซาะของชายหาดแห่งนี้ เกิดจากการปล่อยให้นายทุนบุกรุกสร้างเขื่อนบนชายหาด ทำให้ในช่วงหน้ามรสุมคลื่นเข้ามากระแทกคลื่น ร่องน้ำและกระแสน้ำเปลี่ยน ผลักให้คลื่นซัดมายังฝั่งที่ไม่มีเขื่อนจึงเกิดการกัดเซาะ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมโยธาฯ ได้มีการนำภาพปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นไปจัดทำโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว สำหรับหาดสุรินทร์ การกัดเซาะหาดเกิดจากการสร้างเขื่อนไม่ใช่เพราะไม่สร้างเขื่อน  ซึ่งการแก้ปัญหาบริเวณชายหาดสุรินทร์แบบยั่งยืน คือ  การใช้ธรรมชาติ  การปลูกพืชชายหาด เช่น เตยทะเล ลำเจียก จิกทะเล หูกวาง เป็นต้น

         ด้าน นายมาแอน สำราญ นายก อบต.เชิงทะเล กล่าวยอมรับว่า การดำเนินการในครั้งนี้ไม่รอบคอบทั้งในส่วนของผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง เพราะการขุดทรายบนชายหาดในช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากทำให้ทัศนียภาพเกิดความไม่สวยงาม ซึ่งในการเข้ามาชี้แจงกับชาวบ้านนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะยังไม่เห็นรายละเอียดของโครงการฯ และบางคนก็ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน ในขณะที่โครงการนี้ทางเจ้าของโครงการได้ร่วมกับ อบต.จัดรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 7-8 ครั้ง โดยมีทางสมาชิก อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย แต่ ณ ปัจจุบันก็ไม่ปฏิเสธการแสดงความคิดเห็นผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจและเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เบื้องต้นทางโยธาฯ จังหวัด จะให้ทางผู้รับจ้างปรับสภาพพื้นที่ชายหาดให้เหมือนเดิมก่อน และจะมาร่วมกันกำหนดรูปแบบการก่อสร้างอีกครั้ง

         ขณะที่ นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง นักวิชาการอิสระด้านการจัดการทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล กล่าวถึงปัญหาหาดสุรินทร์ กล่าวว่า การจัดทำโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งดังกล่าวได้มีการทำประชาพิจารณ์มาอย่างน้อย 2 ครั้งแต่ทั้งท้องถิ่นและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องต่างไม่เห็นด้วยกับวิธีการสร้างเขื่อนที่มีโครงสร้างแข็งหรือผสมผสานกับโครงการสร้างอ่อน เพราะไม่เกิดความยั่งยืน และจะไปเร่งคลื่นลมดึงทรายออกไปอย่างรวดเร็ว จากสภาพทั่วไปของชายหาดปัจจุบันถือว่ามีสภาพที่ค่อนข้างดี ดูจากพืชพันธ์ไม้ชายหาด เช่น ผักบุ้งทะเล เตยทะเล เป็นต้น ที่มีอยู่ยังสามารถรักษาสภาพชายหาดได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชายหาดสุรินทร์นั้นจะเป็นไปตามวงจรของธรรมชาติ หน้ามรสุมจะดึงทรายออกเมื่อเข้าสู่สภาพปกติก็จะพัดทรายกลับมาเหมือนเดิม

         “หากมีการสร้างเขื่อนสิ่งที่น่าห่วง คือ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นป่าชายหาดหรือระบบนิเวศหาดทรายเสียหาย สังเกตจากสภาพชายหาดที่มีขุดทรายขึ้นมาทำให้เตยทะเลที่มีขนาดใหญ่และต้องใช้เวลาในการเติบโตเสียหายไปหลายต้น เพราะพืชเหล่านี้จะช่วยยึดชายหาดไว้ได้ อีกประการหาดสุรินทร์เป็นหาดชันไม่ใช่หาดราบ ฉะนั้นอย่าคิดว่าการที่สภาพชายหาดเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากการกัดเซาะชายฝั่ง จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างบนหาดทราย” นายวรรณเกียรติกล่าวในที่สุด

         ในส่วน รองศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ องคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาตร์  ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า “ขอพูดเรื่องการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะที่หาดสุรินทร์ จ.ภูเก็ต อีกสักครั้ง โครงการดังกล่าวทำโดยสำนักโยธาฯ จังหวัดภูเก็ต มูลค่าหลายสิบล้าน อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบ กรมทะเลฯ เคยทำจดหมายขอให้ทบทวนไปแล้วถึง 2 ครั้ง (พ.ย.59 และ ม.ค.60) โดยเน้นย้ำ ว่า ตรงนี้มีสันทรายธรรมชาติ ไม่ควรลุกล้ำหรือก่อสร้างใดๆ บนชายหาด และ จะทำอะไรต้องถูกตามหลักวิชาการ

         อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เริ่มมีการปรับพื้นที่เพื่อจะเดินหน้าโครงการนี้ ซึ่งในความคิดของผม ไม่น่าจะเหมาะสมเพราะมีการทักท้วงจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงไปแล้ว อีกทั้งยังมีการคัดค้านจากนักวิชาการและประชาชนที่เกี่ยวข้องบางคน ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิของกก.ทะเลแห่งชาติ ผมใคร่ขอให้กรมทะเลฯ ตรวจสอบโครงการนี้อย่างจริงจัง และหากยังไม่มีการปรับปรุงหรือกระทำใดๆ ตามจดหมายขอให้ทบทวนของกรมทะเลฯ กรมมีอำนาจตามพ.ร.บ.ทช.ที่จะยับยั้งการกระทำที่อาจสร้างความเสียหายให้กับชายหาด

          ท่านอธิบดีเพิ่งใช้อำนาจใน พ.ร.บ.นี้ในการห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ถ้าโครงการที่อาจสร้างความเสียหายรุนแรงและกรมทักท้วงแล้ว ยังทำต่อ ถ้ากรมปล่อยผ่านไป คงไม่ใช่แน่นอน การหยุดแล้วหันมาพูดคุยกันให้ชัดเจนเป็นทางออก และยืนยันว่าผมเห็นด้วยกับกรมทะเล เราไม่ควรจะสร้างโครงสร้างแข็งใดบนชายหาด การก่อสร้างทุกอย่างต้องอยู่หลังสันทรายอันที่ 2 ครับ