เสวนาเรือจับทูน่าฟังผลกระทบ พ.ร.ก.ประมงว่าระเบียบหยุมหยิม

         ประมงภูเก็ตเปิดเวทีประชุม  ฟังปัญหาอุปสรรคจากเรือจับปลาทูน่าที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.การประมงพ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจการจับปลาทูน่า ผู้ประกอบการแนะให้ไทยตกลงกับไต้หวันจับทูน่าร่วมกันในมหาสมุทรอินเดีย พร้อมให้เปลี่ยนสัญชาติเรือ ติดธงไทย เพื่อให้นำปลาทูน่าป้อนโรงงานไทย และว่าระเบียบไทยหยุมหยิม ทำให้ปลาทูน่า ขาดคุณภาพ

         เมื่อเช้าวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.00 น. นายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ประมงจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานประชุมรับฟังปัญหาอุปสรรคข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการเรือจับปลาทูน่าในจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมีนายวัชรินทร์ รัตนชู ผอ.ศรชล เขต 3 (ภูเก็ต) นายไพศาล สุขปุณพันธ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้าน การประมง สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต, นายธีรวัฒน์ จริตงาม ด่านตรวจสัตว์น้ำจังหวัดภูเก็ต, ตัวแทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต, หัวหน้าสำนักงานท่าเทียบเรือประมงจังหวัดภูเก็ต และผู้ประกอบการเรือจับปลาทูน่า เข้าร่วม

         นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตามที่กรมประมงได้ออก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเรือจับปลาทูน่าโดยเฉพาะในมาตรา 92, 95 และ 96 ที่ห้ามมิให้ผู้ใด นำเข้าสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้ใดประสงค์จะส่งออกหรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำต้องแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อเรือประมงได้รับอนุญาตให้เทียบท่าให้ยื่นคำขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำเมื่อได้รับอนุญาตจึงนำสัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงได้

         โดยภายหลังการหารือ ผู้ประกอบการ มีข้อเสนอ และแนวทางการแก้ไขโดยเสนอให้รัฐบาลไทย กับรัฐบาลไต้หวันทำความตกลงร่วมกันเพื่อจับปลาในมหาสมุทรอินเดีย ให้เปลี่ยนสัญชาติเรือต่างชาติเป็นเรือประมงไทยเพื่อให้สามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการจับปลาทูน่าได้ เนื่องจากมีข้อดีคือใกล้สนามบิน มีโรงงงานรองรับที่เพียงพอ ตลอดจนขอให้มีการศึกษากฎระเบียบขององค์กรบริหารจัดการทรัพยากรประมงในมหาสมุทรอินเดีย Indian Ocean Tuna Commission (IOTC)

         อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ อาทิ การนำเรือเข้าเทียบท่าในประเทศไทย ใช้ระยะเวลานานต้องแจ้งล่วงหน้า 72 ชั่วโมงมีการตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยทำให้เสียเวลา และมีผลกระทบต่อคุณภาพปลาทูน่าและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่ผ่านมาตรฐานตามที่กำหนด แต่ขาดวัตถุดิบปลาทูน่าป้อนโรงงาน

         ทั้งนี้จากแนวทางข้อเสนอของผู้ประกอบการ จังหวัดภูเก็ตโดยสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ตจะได้รวบรวม นำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาในอนาคต เพื่อให้การดำเนินธุรกิจจับปลาทูน่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการ และภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ระบบการขนส่ง การจ้างแรงงานในพื้นที่ การผลิตวัตถุดิบต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับโรงงานแปรรูปปลาทูน่า เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติต่อไป