แก้นักท่องเที่ยวล้นเกาะสิมิลัน อาจมีโควต้าขึ้นค่าธรรมเนียม

         กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระดมมันสองจากทุกภาคส่วน “จัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้”เพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวลันเกาะสิมิลัน และอีกหลายๆ ปัญหา ทั้งขยะและสิ่งแวดล้อม ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการติดตั้งท่าเรือลอยน้ำ กระจายนักท่องเที่ยวไปเกาะใกล้เคียง และตั้งศูนย์ลอยน้ำที่หน้าเกาะ และบริเวณที่นักท่องเที่ยวหนาแน่น รอคิวขึ้นเกาะให้เสร็จในปีนี้ หรือสุดท้ายอาจจำกัดโควตานักท่องเที่ยว และขึ้นค่าเหยียบเกาะ เพื่อรักษาทรัพยากรไว้ให้ยั่งยืน

         เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้”โดยมี ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ ภาควิชาอนุรักษ์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายดำริ จิตต์ใจฉ่ำ ผู้อำนวยการส่วนจัดการการท่องเที่ยวและนันทนาการ พร้อมทั้ง นายสุพจน์ เพริดพริ้ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล ตัวแทนผู้ประกอบกิจการในอุทยานแห่งชาติเข้าร่วม เพื่อระดมความเห็นและร่วมอภิปรายถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้ ณ โรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

         นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาจากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเลเพิ่มมากขึ้น ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเลกำลังประสบปัญหาจากความแออัดของนักท่องเที่ยว ปัญหาคราบน้ำมันจากเรือโดยสาร ปัญหาการจัดการขยะ หรือแม้กระทั่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งยากต่อการฟื้นฟูในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการร่วมกันหาแนวทางในการจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้การจัดประชุมเรื่อง “การจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรและผู้ประกอบการให้เข้าใจสถานการณ์การท่องเที่ยวที่แท้จริง และร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้เป็นแนวทางในการจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

         นายทรงธรรม กล่าวว่า การจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องมีการดำเนินการไปควบคู่กับการจัดให้มีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อให้ทันต่อการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขั้นต้นมุ่งเน้นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งบางแห่งมีผลการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว การจัดประชุมดังกล่าว ยังหวังให้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยวและสอดคล้องกับแผนปฏิรูปอุทยานแห่งชาติ 20 ปี ที่เน้นการดูแลรักษาทรัพยากรการท่องเที่ยวและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอีกด้วย

         นายทรงธรรม ยังกล่าวถึง มาตรการในการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกาะสิมิลัน จ.พังงา ว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้น ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจพื้นที่ ทำให้ทราบว่านักท่องเที่ยวล้นบางช่วงเวลาเท่านั้น คือ ในช่วงเวลา 11.00 – 14.00 น.ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อน และรับประทานอาหารเที่ยงบนเกาะ ส่วนช่วงเวลาอื่นๆ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาตามปกติทั่วไปวันละประมาณ 2,000 – 3,000 คน

         โดยกรมอุทยานฯได้วางมาตรการในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไว้แล้ว และกำลังจะดำเนินการในเร็วๆนี้ เริ่มตั้งแต่มาตรการในการกระจายนักท่องเที่ยวจากเกาะ 4 และเกาะ 8 ไปยังเกาะอื่นๆในหมู่เกาะสิมิลัน เช่น เกาะงวงช้าง เป็นต้น โดยการติดตั้งท่าเรือลอยน้ำ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับปะการัง รวมไปถึงการลงทุนสร้างศูนย์ลอยน้ำที่บริเวณหน้าเกาะสิมิลัน

         เพื่อให้นักท่องเที่ยวพักรอบนศูนย์บริการลอยน้ำในช่วงที่นักท่องเที่ยวเต็มเกาะ โดยจะดำเนินการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 มี.ค.นี้ จะดำเนินการในบริเวณเกาะที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น ที่เกาะสิมิลัน เกาะพีพี และอ่าวพังงา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ รวมไปถึงการกำหนดโควตานักท่องเที่ยวเป็นช่วงเวลาในการขึ้นเกาะ

         สุดท้ายหากพิจารณาแล้วเห็นว่า ทรัพยากรทางทะเลได้รับความเสียหายจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป อาจจะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นเกาะ รวมไปถึงการเพิ่มค่าธรรมเนียมในการขึ้นเกาะ เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเลต่อไป

         ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาตินั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมาก โดยได้มอบนโยบายในเรื่องการจัดรถกู้ชีพ จัดซื้อเรือกู้ภัย ร่วมมือกับทางแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในการช่วยเหลือดูแลนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเข้ามาท่องเที่ยวในเขตอุทยาน และหากมีการบาดเจ็บสาหัส สามารถเรียกได้ที่หมายเลข 1669

         นอกจากนี้ทางกรมอุทยานฯจะนำระบบการขายตั๋วเข้าอุทยานในลักษณะของ E-Ticket ในทุกอุทยานแต่ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ จะเริ่มทางทะเลที่เกาะสิมิลัน เกาะพีพี อ่าวพังงา เพื่อแก้ปัญหาความไม่โปร่งใส ในการประชุมดังกล่าว ยังมีการร่วมอภิปรายในหัวข้อสถานการณ์การท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน ตัวอย่างและทางเลือกในการจัดการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้ โดยมี นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

         ด้าน ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายดำริ จิตต์ใจฉ่ำ ผู้อำนวยการส่วนจัดการการท่องเที่ยวและนันทนาการ พร้อมทั้งตัวแทนผู้ประกอบกิจการในอุทยานแห่งชาติ ร่วมเสวนา อีกทั้งการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทยานแห่งชาติทางทะเล ภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการ ประกอบกิจการดำน้ำในอุทยานแห่งชาติ มาร่วมกันประชุมระดมความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการสรุปผลการประชุมเพื่อนำผลการศึกษาฯมาวางกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

         ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ม.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยสรุปใจความได้ว่า ผมเคยบอกเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวล้นทะเลไปหลายครั้งแล้ว และมีข่าวเรื่องแบบนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกาะสิมิลัน ที่จำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งขึ้นเรื่อยๆ

         โดยจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นตลอด จาก 34 ล้าน ในปีที่แล้ว จะเพิ่มมากกว่า 37 ล้านในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีไม่มีหยุด ในปี 2573 เราอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70 ล้าน หรือกว่านั้น ซึ่งนักท่องเที่ยวร้อยละ 75.5 ไปทะเล ยิ่งจำนวนเพิ่ม สัดส่วนยิ่งเพิ่ม ปีนี้อาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปทะเล 28 ล้าน เกาะเรามีอยู่เท่านี้ เมื่อปิดเกาะหนึ่ง ก็ไปโป่งอีกเกาะหนึ่ง วนไปเรื่อยตราบใดที่นักท่องเที่ยวโดยรวมมีแต่เพิ่มกับเพิ่ม

         อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการโพสต์ข้อความดังกล่าว นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าว ว่า เรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อ.คุระบุรี จ.พังงา วันละหลายพันคนนั้นมีมานานแล้ว ซึ่งปัจจุบัน หลังจากที่ตนเข้ามารับตำแหน่งพบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังหมู่เกาะสิมิลันไม่น้อยกว่า 4,000 คน/วัน กระจายไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วทุกเกาะ ซึ่งพบว่า บริเวณบนเกาะนั้นจะมีนักท่องเที่ยวแออัดในช่วง 11.00-14.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลารับประทานอาหารของนักท่องเที่ยว

         โดยปีนี้พบว่า เหล่าผู้ประกอบการนำเที่ยวได้ตกลงเวลาในการนำนักท่องเที่ยวขึ้นมารับประทานอาหารบนเกาะ ซึ่งทำให้ความแออัดลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยจะพบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอดการจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเกิดจากการแก้ไขปัญหาเก่าเกี่ยวกับการบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ จึงทำให้มีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังหมู่เกาะสิมิลัน รวมถึงรายได้สอดคล้องต่อความเป็นจริงของจำนวนนักท่องเที่ยว แต่พบว่า นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังหมู่เกาะสิมิลันมีปริมาณที่มากขึ้นด้วย

         ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง กรมอุทยานฯ จึงยังไม่สามารถบังคับใช้เรื่องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบได้ในขณะนี้ แต่จะเน้นหนักไปในเรื่องการบรรเทาปัญหาที่มีมาอยู่ก่อนเพื่อให้รองรับนักท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างห้องน้ำเพิ่ม การนำห้องน้ำชั่วคราวมารองรับนักท่องเที่ยว การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมถึงการเพิ่มระบบความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ในส่วนการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวล้นหมู่เกาะสิมิลันนั้น จะต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจอื่นต่อไป