โรงแรม-สถานประกอบการ ไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ EIA และ IEE ประจำปี มีโทษปรับสูงถึง 1 ล้าน หลัง 2 มี.ค.นี้ ทสจ.ภูเก็ตแจ้งเตือน 2-3 รอบแล้ว มีมากกว่า 2 พันรายที่เข้าข่าย แต่ส่งแค่หลักร้อยเท่านั้น

โรงแรม-สถานประกอบการ ไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ EIA และ IEE ประจำปี

มีโทษปรับสูงถึง 1 ล้าน หลัง 2 มี.ค.นี้ ทสจ.ภูเก็ตแจ้งเตือน 2-3 รอบแล้ว มีมากกว่า 2 พันรายที่เข้าข่าย แต่ส่งแค่หลักร้อยเท่านั้น

                   นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต (ทสจ.) เปิดเผยว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทย ที่มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดมาตรการในการดูแลสิ่งแวดล้อม ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้เป็นปี 2560 ในการควบคุมดูแลอาคารต่างๆ ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โครงการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่จะต้องจัดทำและส่งรายงานมอนิเตอร์ ประจำปี ปีละ 1-2 ครั้ง ตามที่กำหนดในเงื่อนไขการจัดทำรายงานผลกระทบวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบเบื้องต้น (IEE) มีไม่ต่ำกว่า 2,000 โครงการ

                  ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต ได้แจ้งเตือนให้ทางโครงการต่างๆ ทั้ง 2,000 กว่าโครงการ จัดส่งรายงานมอนิเตอร์ ประจำปี ไปแล้ว 2-3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดได้แจ้งเตือนไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้ง โรงแรม คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ท่าเรือ โครงการบ้านจัดสรรใหญ่ๆ และสถานประกอบการอื่นๆ ที่เข้าค่ายต้องทำรายงาน EIA และ IEE ซึ่งสามารถดูได้ในระบบ EIA Smart Plus ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่ามีโครงการใดได้จัดส่งรายงานดังกล่าวบ้าง

                 สำหรับผู้ที่ไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ ประจำปีนั้น ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535 ปรับปรุงแก้ไขเมื่อปี 2561 มีการกำหนดบทลงโทษตามมาตรา 101/2 คือ มีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยหลังวันที่ 2 มี.ค.2566 ที่จะถึงนี้ ทาง ทสจ.ภูเก็ตจะรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของการต่อใบอนุญาตโรงแรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 19 แห่ง ว่าโรงแรมใด หรือโครงการใดที่ไม่ได้ส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปี หลังจากนั้นทาง ทสจ.จะแจ้งเปรียบเทียบปรับไปยังสถานประกอบการนั้น

                “จากข้อมูลที่ ทสจ.มีอยู่ในขณะนี้ สถานประกอบการที่จัดส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปีมีสัดส่วนที่น้อยมาก แค่หลักร้อยเท่านั้น และที่ ทสจ.ต้องออกมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้เพราะกฎหมายมีบทลงโทษและปรับ และหากทาง ทสจ.ไม่ดำเนินการก็จะถูกดำเนินคดีใน ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ทสจ.ภูเก็ต กล่าวและว่า

                  การดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการ EIA และ IEE นั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ที่จะต้องดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำเสียจะตามมาหากโครงการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ทั้ง โรงแรม คอนโดฯ และอื่นๆ ไม่ได้ดูแลในเรื่องนี้ ปัญหาน้ำเสียจะตามมาอย่างแน่นอน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ภูเก็ตเรามีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาวันละกว่า 4 หมื่นคน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน หากสถานประกอบการไม่ดูแลเรื่องน้ำเสีย เชื่อว่าปัญหานี้จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                       “หลังจากนี้ เราจะดำเนินการอย่างจริงจังกับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะได้มีการแจ้งเตือนมาแล้วหลายครั้ง และวันสุดท้ายของการส่งรายงานมอนิเตอร์วันสุดท้ายในวันที่ 31 ม.ค.2566 นี้ แม้ว่าที่ผ่านมาในภูเก็ตจะยังไม่เคยเปรียบเทียบปรับผู้ที่ไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปีก็ตาม แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯมีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,800 กว่าแห่ง” นายวัฒนพงษ์ กล่าวในที่สุด