“ไทยสื่อสาร-ปฐมวัยPKRU”คุณภาพขึ้นห้าง สกอ.ยกมาตรฐานระดับชาติ

         หนึ่งในความสำเร็จของแวดวงชาวอุดมศึกษา ที่สะท้อนถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนผลิตบัณฑิตคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงาน คือ “การได้รับการขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตอบกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ” Thai Qualications Register หรือ TQR ซึ่งประเมินคุณภาพตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำในการจัดการศึกษา ทั้ง กระบวนการสรรหาผู้เรียน คุณภาพผู้สอน สื่อสนับสนุนการสอน รายละเอียดวิชาเรียนและกิจกรรม จนถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต

         ทั้งนี้ในรอบการประเมินปี 2560 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต คณะกรรมการประเมินผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีมติเห็นชอบประกาศให้หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร และหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย จากรั้วแสดดำเป็นหลักสูตรคุณภาพตามกรอบ TQRสร้างความยินดีให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

         ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต กล่าวถึงความสำเร็จของทั้ง 2 หลักสูตรว่า “มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนแนวนโยบายการประกันคุณภาพการศึกษาด้วยวิธีการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกันระหว่าง สกอ. คณะ และสาขาวิชา เพื่อเข้าใจถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้องในการดำเนินงานด้านวิชาการ แน่นอนว่าการการันตีว่าหลักสูตรได้มาตรฐาน TQR คือความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะคณะกรรมการย่อมคัดสรรหลักสูตรที่มีคุณภาพทั้งระบบการเรียนการสอน ศักยภาพบุคลากร นักศึกษา พร้อมการติดตามประเมินผลอย่างเข้มข้นกล่าวได้ว่าหลักสูตรที่จะผ่านด่านและได้รับฉันทามติจากคณะกรรมการต้องเป็น ‘ของจริง’ เปรียบเป็นสินค้าขึ้นห้างที่มั่นใจว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในตลาดได้อย่างยอดเยี่ยม”

         ผศ.ทวีพร ณ นคร ประธานสาขาวิชาวิชาการศึกษาปฐมวัย แจงถึงรายละเอียดของหลักสูตรว่า “หัวใจในคุณภาพของหลักสูตรคือการใช้โรงเรียนสาธิต ม.ราชภัฏภูเก็ต (ฝ่ายปฐมวัย) เป็น Lab ให้นักศึกษาทุกชั้นปีใช้เป็นฐานการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมการศึกษาผสานความรู้จากหลักวิชาการร่วมกับการมีส่วนร่วมในการสอนและการจัดการด้าน อื่นๆ ในโรงเรียนกับเด็กปฐมวัย (Learning by Doing) โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก และมีบทบาทในการสอนมากกว่าในห้องเรียน เช่น การปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครอง การดูแลนักเรียนในทุกมิติ และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของโรงเรียน ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยหล่อหลอมให้นักศึกษาเข้าใจ คุ้นเคย นำไปสู่ความเชี่ยวชาญในการเป็น ‘ครูปฐมวัยมืออาชีพ’ที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัวและมีความภูมิใจในวิชาชีพนอกจากนี้ยังใช้ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นที่พึ่งทางวิชาการและเป็นโค้ชดูแลการฝึกสอน ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลทุกระยะแม้จบการศึกษาไปแล้วผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลให้บัณฑิตของหลักสูตรสามารถจบออกไปแล้วสามารถปฏิบัติงานในสายงานครูถึงร้อยละ 95 อีกทั้งบางส่วนสอบผ่านเข้ารับราชการครูในคะแนนระดับแนวหน้า”

         ด้าน ผศ.ดร.ประโมทย์ พ่อค้า คณบดีคณะครุศาสตร์ กล่าวเสริมว่า “คณะฯ ขอชื่นชมความสำเร็จของสาขาปฐมวัย ที่นับเป็นสาขาคุณภาพมีการเปิดสอนมาอย่างยาวนาน มีความเข้มแข็งทั้งด้านระบบการสอน ทีมคณาจารย์และแนวคิดในการสร้างครูที่สอดคล้องกับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยใช้นวัตกรรมทางการศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อน ร่วมกับการมอบจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูสอดแทรกในการสอนนักศึกษาเรื่อยมา ส่วนของคณะฯ มีบทบาทเสมือนเป็นฝ่ายเทคนิค ที่สนับสนุนการวางระบบทั้งกระบวนการให้สาขาวิชามีผลสัมฤทธิ์ในทุกด้านและสามารถยืนหยัดทำหน้าที่ผลิตครูให้สอดรับกับนโยบายRe-Profiling ของมหาวิทยาลัย และสนองพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10ที่ทรงตรัสให้ราชภัฏเดินหน้าผลิตและพัฒนาครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอันดามัน”

         ในส่วนของ ดร.วรพงศ์ ไชยฤกษ์ อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร กล่าวว่า “หลักสูตรภาษาไทยฯ ดำเนินงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยครอบคลุมทุกด้านทั้งการสอน บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งวิจัยเผยแพร่ทั้งบนเวทีระดับชาติและนานาชาติ โดยมุ่งเน้นคุณภาพของผู้เรียน และผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ของหลักสูตร ผ่านคู่มือนักศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพราะใช้ติดตาม ควบคุมทั้งวิชาการ กิจกรรม คุณลักษณะ รวมถึงทักษะความเป็นเลิศตามความสนใจของนักศึกษา เช่น งานเขียน การกล่าวสุนทรพจน์ งานสื่อสารมวลชน การผลิตสื่อฯลฯ อีกทั้งส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในทุกขั้นตอน เพื่อสั่งสมประสบการณ์การทำงานที่ได้รับมอบหมายร่วมกับการทำงานเป็นทีมเวิร์คผ่านเทคนิคการสื่อสารซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ใช้หล่อหลอม และสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับนักศึกษาจนเห็นผลที่ประจักษ์จากการได้รับรางวัลบนเวทีประกวดระดับประเทศมากมาย ตลอดจนมีสถิติของบัณฑิตมีงานทำ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานตรงกับสาขาที่เรียน เนื่องจากได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บัณฑิตว่ามีจุดเด่นเรื่องทักษะการทำงานในสำนักงานที่หลากหลาย สื่อสารชัดเจน ประสานงานเก่ง และปรับตัวเข้ากับสถานประกอบการอย่างรวดเร็ว”

       ทางฝั่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายธีรพงษ์ หนูไชยแก้ว แสดงทรรศนะว่า “ผลการประเมินเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ทีมคณาจารย์ ผู้บริหาร รวมถึงนักศึกษา ที่ทำงานหนักเพื่อหวังให้เป็นที่ยอมรับเชื่อถือในคุณภาพ สร้างจุดเด่น จุดขายและส่งเสริมให้สาขาวิชาต่างๆ ยืนหยัดได้ท่ามกลางกระแสของการแข่งขันในวงการศึกษา พร้อมกันนั้นยังยืนหยัดเป็นที่พึ่งให้แก่ท้องถิ่นผ่านการให้บริการวิชาการองค์ความรู้ในศาสตร์และศิลป์ที่คณะฯเชี่ยวชาญสำหรับสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ถือว่าคู่ควรกับการรับรอง TQR เพราะมีระบบการทำงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีในหลากหลายประเด็น หวังว่าในอนาคตสาขาวิชาอื่นๆ จะสามารถดำเนินรอยตามและช่วยยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยได้อีกทาง”

         ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยวัดกันที่ตรงไหน? วัดกันที่คะแนนคุณภาพที่บ่งบอกในหน้ากระดาษใช่หรือไม่? ภายหลังจากการสนทนากับผู้บริหารและตัวแทนของหลักสูตรขึ้นห้างทั้งสอง คงได้คำตอบว่า การเปิดสอนให้ทุกคนมีงานทำ และทำงานสาขานั้นๆ ได้อย่างราบรื่นและเติบโตตามสมรรถนะ เป็นของดีที่พร้อมใช้งานได้ทันที คือคำตอบที่ชัดเจนมากที่สุด ไม่ว่าวิธีการจะยากหรือซับซ้อน องค์กร PKRUพร้อมที่จะเรียนรู้ ฝ่าฟัน และเดินหน้าไปตามเป้าหมายที่วางไว้ให้สำเร็จ