3​ แนวทาง​จัดทำแผนการจัดการโควิด-19 โดยทางการแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต พร้อมเปิดสายด่วน 20 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง

3​ แนวทาง​จัดทำแผนการจัดการโควิด-19
โดยทางการแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
พร้อมเปิดสายด่วน 20 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง

                 เมื่อวันที่ 14 ก.ย.64​ เวลา​ 10.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย​ นายแพทย์พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 11, นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต, นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงแผนการจัดการ โควิด-19 ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ต หลังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 200 ราย ต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์

              นายแพทย์พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ภูเก็ต ขณะนี้เป็นการแพร่ระบาดที่รวดเร็วมากจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งลักษณะเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนที่พบการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทำให้ขณะนี้ในเขตสุขภาพที่ 11 มีการติดเชื้อวันละกว่า 1,000 คน แม้ว่าในส่วนของจังหวัดภูเก็ตจะพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85 เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักนั้นมีน้อยมาก รวมถึงอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก เนื่องจากประชาชนในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม และอยู่ระหว่างบูสเตอร์เข็มที่ 3

                 สำหรับแผนการจัดการโควิด-19 ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่อจากนี้ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หรือภายในปลายเดือนกันยายนนี้ โดยได้วางไว้ 3 แนวทาง คือ

                1.จัดตั้งทีมปฏิบัติการโควิดแบบบูรณาการเคลื่อนที่เร็ว หรือทีม CCRT ลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งเกาะภูเก็ต เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่ยังหลงเหลือหรือ๐ตกค้างอยู่ในชุมชน เพื่อทำการตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยเชิงรุกด้วยวิธี ATK หากพบผู้ป่วยจะให้ยาทันทีกรณีอาการไม่รุนแรง แต่หารุนแรงก็จะนำส่งรักษาในโรงพยาบาล โดยขอสนับสนุนทีมงานควบคุมโรคจากเขตสุขภาพ 11​ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และ​ พังงา มาเสริม

                2.จัดตั้ง “คลินิกอุ่นใจ” ขึ้นที่หอประชุมศาลากลางหลังใหม่ ภายใน​ 1-2 วัน เพื่อเป็นคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาโควิดสำหรับผู้ที่มีความกังวลใจ ผู้ที่ต้องการยา และเป็นคลินิกแรกรับผู้ป่วยโควิด เพื่อคลายความกังวลใจของประชาชนชาวภูเก็ต โดยเฉพาะผู้ที่ตรวจ ATK ด้วยตัวเองและพบว่ามีผลเป็นบวก เพื่อมาตรวจซ้ำก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป พร้อมกันนี้ก็จะเปิดสายด่วน จำนวน 20 คู่สาย ได้แก่หมายเลข 076-254188-207 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มเปิดคู่สายตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนนี้เป็นต้นไป

                3. การควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มก้อนใหญ่ๆ ขึ้นมาอีก โดยกรมควบคุมโรคได้ส่งทีมเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว ทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ เช่น โรงงาน ตลาดสด ชุมชนหนาแน่น เป็นต้น ด้วยการทำบับเบิ้ล แอนด์ ซีล ป้องกันการเกิดการแพร่ระบาดซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

                  ขณะที่​ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของภูเก็ตในการควบคุมการแพร่ระบาด และจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมาตรการทางสังคม คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงตามลำดับ รวมปัญหาความกังวลเรื่องเตียง ซึ่งจากการเร่งจัดตั้ง Community Isolation ตามตำบลต่างๆ ทั้ง 3 อำเภอ รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ซึ่งมีจำนวนรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เพื่อนำเตียงในโรงพยาบาลสนามมาพัฒนาเป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง ทำให้ขณะนี้ความกังวลเรื่องเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอหมดไป