GISTDA จับมือ วช. และ​ จังหวัดภูเก็ต​ จัดเสวนา​ COVID-19​ IMAP​ Platform​ สู่การพัฒนา​ระบบ​การแสดง​ผลทางเลือกเพื่อการตัดสินใจ

GISTDA จับมือ วช. และ​ จังหวัดภูเก็ต​ จัดเสวนา​ COVID-19​ IMAP​ Platform​

สู่การพัฒนา​ระบบ​การแสดง​ผลทางเลือกเพื่อการตัดสินใจ

 

               วันที่ 14 ธันวาคม 2564 (วันนี้)​ ตั้งแต่เวลา 09.30 น.​ ณ ห้องดวงชนก 1 – 2 โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้เกียรติ​เป็น​ประธาน​เปิดงาน​ โครงการ​ระบบบริหาร​สถานการณ์​รองรับ​การแพร่ระบาด​โควิด-19 รอบที่​ 2​ (COVID-19​ IMAP​ Platform) ใน​การเสวนาหัวข้อ “COVID-19 iMAP Platform ทางเลือกเพื่อการตัดสินใจ” รวมถึง​การสาธิตการใช้งาน COVID-19 iMAP Platform พร้อม​ด้วย​ นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, นายณรงค์ อ่อนอินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสำนักงานจังหวัดภูเก็ต, นายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านทุติยภูมิและตติยภูมิโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต, แพทย์หญิงเหมือนแพร บุญล้อม รักษาการในตำแหน่งนายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง​ และ นายมนตรี มานะต่อ​ รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานภูเก็ต)​

              นายปิยพงศ์ ชูวงศ์​ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต​ กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด–19 ในครั้งนี้​ เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่แพร่ระบาดและส่งผลกระทบไปทั่วโลกทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยว เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ปรากฏว่าภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักที่สุด

              การบริหารสถานการณ์ COVID-19 จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งของจังหวัดภูเก็ต ทั้งในเรื่องของการกำหนดมาตรการ การบังคับใช้มาตรการ ตลอดจนการ ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาจากฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงที่มีความแม่นยำ ครบถ้วน และทันสมัย เพราะมาตรการต่างๆของจังหวัดจะส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพ และเศรษฐกิจของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนทันต่อเหตุการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ในนามของจังหวัดภูเก็ต

              นายปิยพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า ต้องขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ที่ให้ทุนสนับสนุนแก่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาระบบ COVID-19 iMAP Platform และ Dashboard เพื่อช่วยให้การเชื่อมโยงและการจัดการข้อมูลต่างๆ ดียิ่งขึ้น และเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็น หนึ่งใน 5 จังหวัดนำร่องของการพัฒนาระบบดังกล่าว เพื่อจัดการกับข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ทั้งทางด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจที่มีซับซ้อน ให้สามารถช่วยตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

              นอกจากนี้​ ภายใต้ความร่วมมือของรัฐบาล ข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงคนไทยทั้งประเทศจะร่วมมือร่วมใจกันฟันฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ในเร็ว นายปิยพงศ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด

             ทางด้าน นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวถึง “กิจกรรมประชาสัมพันธ์ระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด–19” สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด–19 หรือ COVID-19 iMap Platform ที่ GISTDA ได้พัฒนาขึ้น โดยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.

             วัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม​ คือ​ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกท่านได้รับทราบถึงความเป็นมา และผลจากการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาระบบ COVID-19 iMap Platform รวมถึงให้ทุกท่านได้รับทราบความก้าวหน้าของการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลประเภทต่าง ๆ มาวิเคราะห์ร่วมกัน และแสดงผลในรูปแบบแผนที่ระดับอำเภอ ซึ่ง​ GISTDA เริ่มพัฒนาระบบ COVID-19 iMap Platform เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือให้กับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปกจ.) โดยเชื่อมโยงข้อมูล จากหน่วยงานทั้งหมด 9 กระทรวง รวม 17 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงพาณิชย์, กองบัญชาการกองทัพไทยและสภากาชาดไทย เพื่อนำไปใช้ในการติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์ วางแผนสนับสนุนการทำงานประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุข ฟื้นฟูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการสถานการณ์อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม COVID-19 iMap Platform เป็นระบบที่ใช้บริหารสถานการณ์ในระดับประเทศ ที่ยังไม่สามารถนำไปใช้ในระดับจังหวัด ซึ่งมีปัจจัย องค์ประกอบและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ในปีงบประมาณ 2564 GISTDA จึงได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ให้ดำเนินโครงการวิจัยระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาต่อยอด iMap Platform ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการตัดสินใจในการออกมาตรการ และบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่ ให้รองรับการบริหารสถานการณ์ในระดับพื้นที่/จังหวัด ได้อย่างสมดุลทั้งในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

              นางกานดาศรี​ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนในการพัฒนาระบบ COVID-19 iMap Platform เพื่อใช้ในระดับจังหวัดนั้น GISTDA ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขพัฒนาดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของพื้นที่ต่อการติดเชื้อโควิด – 19 ซึ่งมีปัจจัยที่มีผลเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด ได้แก่1. สถานการณ์การติดเชื้อ 2.ศักยภาพ/ความเพียงพอของระบบสาธารณสุข 3.ความหนาแน่นของประชากรและพื้นที่เสี่ยง และ4. การจัดสรรวัคซีน

             นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA ในการพัฒนาฉากทัศน์ เพื่อจำลองสถานการณ์การฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด เพื่อให้จังหวัดภูเก็ตมีดัชนีชี้วัดที่ช่วยประกอบการตัดสินใจ โดยระบบมีความพร้อมที่ จะรองรับข้อมูลจากจังหวัดเพื่อให้การใช้งานระบบได้ผลสูงสุด ซึ่ง​โครงการพัฒนาในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับ​ หน่วยงานระดับจังหวัดทั่วประเทศ ที่จะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีเสถียรภาพในการรองรับการใช้งานระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างต่อเนื่อง สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ​ และ​ GISTDA หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ต