กฟผ. ทุ่มงบสนับสนุน 14 ล้านบาท ให้ ม.อ.ภูเก็ต ทำโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการ

กฟผ. ทุ่มงบสนับสนุน 14 ล้านบาท ให้ ม.อ.ภูเก็ต

ทำโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการ

                กฟผ.สนับสนุนงบ 14 ล้านบาท ให้ ม.อ.ภูเก็ต ทำโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อกาพัฒนาอ่าวพรารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน ด้วยการศึกษาวิจัย ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล พร้อมส่งเสริมอาชีพและสร้างรายกลุ่มประมงพื้นบ้าน

                เมื่อวันที่ 24 พ.ย.63 เวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นประธานในพิธีมอบเงิน จำนวน 14 ล้านบาท พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน ระหว่างคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระพงศ์ เกิดสินา คณบดี และ น.ส.พนา สุภาวกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ นายนรินทร์ มีวงศ์ ประมงจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ กฟผ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวพารา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เข้าร่วม

             โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ม.อ.ภูเก็ต กับ กฟผ.และประมงจังหวัดภูเก็ต ในการเข้าไปศึกษาวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลอ่าวพาราและอ่าวพังงา รวมถึงส่งเสริมสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้แก่ประมงพื้นบ้านใน 8 หมู่บ้าน ทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต ซึ่งประกอบด้วย บ้านแหลมทราย บ้านพารา บ้านอ่าวกุ้ง เกาะนาคา บ้านอ่าวปอ บ้านบางโรง บ้านป่าคลอก และบ้านยามู

              ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างสายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลวัตต์ และขยายสายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 กิโลวัตต์ ซึ่งสายไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าวต้องพาดผ่านป่าชายคลองท่ามะพร้าวและคลองท่าเรือ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบส่งไฟฟ้าและส่งเสริมการขยายตัวธุรกิจท่องเที่ยวในภาคใต้ในระยะยาว หลังจากเกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้เมื่อปี 2556 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างมาก ซึ่งการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าดังกล่าว ทาง กฟผ.ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว

เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบสายส่งดังกล่าว กฟผ.จึงได้กำหนดให้โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในรายงาน IEE โดยทาง กฟผ.ได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 14 ล้านบาท ให้แก่ทางคณะเทคโนโลยีฯ ม.อ.ภูเก็ต เข้าไปศึกษาวิจัยและฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล รวมถึงส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2568

            โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน เป็นการดำเนินการใน 9 กิจกรรม ด้วยกัน คือ 1.โครงการวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้าทะเลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรหญ้าทะเล อ่าวพารา จ.ภูเก็ต 2.โครงการส่งเสริมอาชีพชุมชนประมงชายฝั่งสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การแปรรูปปลาช่อนทะเล ที่บ้านแหลมทราย ในปีแรก เป็นต้น 3.ศึกษาปริมาณและปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดขยะทะเลในชุมชนชายฝั่ง เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล โลมา ที่อาจจะกินขยะเหล่านี้เข้าไปจนทำให้ตายในที่สุด 4.โครงการวิจัยและฟื้นฟูป่าชายเลน โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือดาวเทียมมาสำรวจป่าชายเลน หากพบว่าจุดใดถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพจะเข้าไปดำเนินการในการปลูกทดแทน 5.การบริหารจัดการและฟื้นฟูแนวปะการัง โดยเฉพาะที่บริเวณอ่าวกุ้ง ที่มีแนวปะการังเขากวางที่ยังสมบูรณ์ สีเหลืองอร่าม ที่ขณะนี้ ทางกรม ทช.ได้มีการวางทุ่นไว้แล้ว อาจจะมีวางทุนเพิ่มเติมหรือแนวทางอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อไม่ได้แนวปะการังได้รับความเสียหาย 6.ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์บ้านปลา ซึ่งจะเข้าไปต่อยอดในส่วนของบ้านปลา หรือซั้งกอ ที่ประมงพื้นบ้านได้นำไม้ไผ่ไปวางเพื่อสร้างเป็นบ้าน หรือ สร้างบ้านปลาเพิ่มในจุดที่เหมาะสมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ 7.ธนาคารปู ที่ขณะนี้มีการดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่ และจะดำเนินการต่ออีกหลายๆพื้นที่ เช่น บ้านแหลมทราย บ้านอ่าวกุ้ง เกาะนาคา รวมไปถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟฟ้าที่ใช้ในธนาคารปู เป็นต้น 8.การศึกษาคุณภาพน้ำและแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำวัยอ่อน และ 9.การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ โดยการจัดทำโรงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อน การสับเปลี่ยนเครื่องมือประมง การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ

            อย่างไรก็ตาม ภายหลังสิ้นสุดโครงการภายในระยะเวลา 5 ปี คาดว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงป่าชายเลนจะได้รับการฟื้นฟู สัตว์น้ำในทะเลจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น อาชีพประมงพื้นบ้านจะมีความมั่นคง มีการแปรรูปสัตว์น้ำและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่ทรัพยากรมั่นคง คนมั่งคั่งต่อไป